posttoday

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

30 มีนาคม 2557

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดย...สมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงได้รับพระสมัญญานามาภิไธยว่าเจ้าสัว เพราะทรงค้าขายเก่ง ในขณะที่พระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำพสกนิกรชาวไทย คือ การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด ที่ทรงสร้างเอกลักษณ์ทางศิลปะเฉพาะยุคสมัยของพระองค์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น ศิลปะไทยผสมจีน ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวัดต่างๆ ที่ทรงสร้างใหม่ หรือบูรณปฏิสังขรณ์ ถึง 38 วัด

วัดที่มีเอกลักษณ์เหล่านั้น ทำให้นักประวัติศาสตร์พอเห็น ก็แยกแยะได้ทันทีว่าสร้างในสมัยของพระองค์ เช่น วัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม และวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี เป็นต้น

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

 

วัดเด่นริมน้ำเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2557 กรมศิลปากร พาทัวร์ทางเรือชมชีวิต วัฒนธรรมชาวมอญ ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี และได้พาชมวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร อันเป็นวัดเด่นด้านศิลปกรรมผสมไทยจีนศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย

วัดนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบุพการี ในพื้นที่ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระอัยกา (ตา) พระอัยกี (ยาย) และพระราชมารดาของพระองค์ หรือเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

 

การสร้างวัดยังไม่ทันแล้วเสร็จสมบูรณ์ พระองค์เสด็จสวรรคตเสียในปี 2394 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชนิยมศิลปะแบบไทยผสมกับจีนในการสร้างวัดต่างๆ วัดเฉลิมพระเกียรติ จึงมีศิลปะไทยผสมจีนด้วย เช่น หลังคาพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากประเทศจีน ประดับตกแต่งสีให้เป็นใบและดอกพุดตาน

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

 

ซึ่งรวมถึงส่วนหลังคา หน้าบัน และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารและการเปรียญที่ขนาบพระอุโบสถทั้งสองด้าน

พระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา ที่หล่อจากทองแดงที่ได้จาก ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นพระประธาน

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

 

การตกแต่งภายในที่เด่นที่สุด คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพจิตรกรรมต่างจากอุโบสถทั่วไปที่มักเป็นภาพจิตรกรรมเทพชุมนุม และภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดนี้ทันสมัย ก้าวล้ำนำยุคเป็นร้อยปี คือ เป็นภาพจิตรกรรมเขียนลายดอกไม้ร่วง แบ่งเป็นแผ่นๆ ร้อยเรียงกัน จนเต็มผนังอุโบสถทุกด้าน ผู้คนในปัจจุบันไปเห็นหากไม่ดูให้ถ่องแท้ จะทึกทักเอาว่าเป็นวอลเปเปอร์ เพราะไม่มีอะไรผิดเพี้ยนจากวอลเปเปอร์สมัยใหม่แม้แต่น้อย

วิหารและการเปรียญ ด้านข้างพระอุโบสถทั้งซ้ายและขวามีอาคารโบราณสวยงามสร้างขนาบอยู่ เมื่อหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ อาคารทางซ้าย คือพระวิหาร ซึ่งมีศิลปะการสร้างแบบไทยผสมจีน ภายในมีพระพุทธรูปศิลาขาวเป็นประธาน โดยประดิษฐานบนบุษบกงามหมดจด

วัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อบุพการี ในร.3

 

อาคารทางขวามือ คือ การเปรียญหลวง มีพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ เป็นพระประธาน ส่วนจิตรกรรมฝาผนังภายในการเปรียญ เขียนสีเป็นลายดอกไม้ร่วงเหมือนกับในพระวิหาร

นอกจากนั้น ศิลปินช่างเขียนได้สอดแทรกภาพปลาต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ที่บานหน้าต่างการเปรียญไว้ด้วย เพื่อบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำของสยามประเทศ สอดคล้องกับเป็นวัดที่ตั้งอยู่ย่านสวนเมืองนนท์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อุดมด้วยทรัพยากรการเกษตร และการประมง

พระเจดีย์ ด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์สีขาวทรงลังกา มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้น วัดจากฐานถึงยอดมีความสูงประมาณ 45 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

กุฏิทรงไทย ในบริเวณใกล้กับพระอุโบสถและวิหาร หรือเขตพุทธาวาส ก็เป็นเขตสังฆาวาส เป็นที่ตั้งกุฏิทรงไทย ใต้ถุนสูง ฝากระดาน ยอดแหลม ที่สร้างหรือบูรณะขึ้นใหม่ โดยปลูกติดต่อกัน ตามแผนผังอย่างมีระเบียบ ต้องยอมรับว่ามีความสวยงาม และบ่งบอกความเป็นไทยไว้อีกแห่งหนึ่ง

ฉากละครจักรๆ วงศ์ๆ

วัดนี้ยังมีสิ่งที่วัดอื่นๆ ไม่มี ได้แก่ ป้อมปราการก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างอยู่รอบเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสวัด จึงเป็นฉากถ่ายทำละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ออกอากาศทางทีวีอยู่เสมอ

เมื่อชื่นชมความงามและอลังการภายในวัดแล้ว สุนิสา จิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้นำในการทัวร์ศิลปวัฒนธรรมเมืองนนทบุรี ย่อประวัติที่น่าสนใจให้ฟัง ที่ลานหน้าวัด ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเกาะเกร็ด เพื่อเยี่ยมชมวัดปรมัยยิกาวาส วัดเกาะพญาเจ่ง และวัดกู้ ซึ่งแต่ละวัดเกี่ยวพันกับพระบรมราชวงศ์ ชีวิตและวัฒนธรรมชาวมอญ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คอยติดตามฉบับต่อไป