posttoday

พระสังฆคุณ (2)

23 มีนาคม 2557

บัดนี้ จักได้พรรณนาในบทสังฆคุณต่อไป ดังได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน

บัดนี้ จักได้พรรณนาในบทสังฆคุณต่อไป ดังได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ในบทสังฆคุณนี้ท่านจัดข้อปฏิบัติของบุคคลไว้เป็น 4 พวก พวกหนึ่ง คือ สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี อีกพวกหนึ่ง อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง อีกพวกหนึ่ง ญายปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติเพื่อความออกจากทุกข์ อีกพวกหนึ่ง สามีจิปฏิปันโน

ผู้ปฏิบัติชอบยิ่งในบุคคล 4 จำพวกนี้ นับบุคคลพวกที่ 1 เป็นชั้นต่ำ แต่ที่เป็นชั้นต่ำนั้นก็ถึงอจลศรัทธาเหมือนกัน เพราะท่านขาดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

ผู้ที่ยังติดอยู่ในสักกายทิฏฐินั้นยังมีความเห็น 20 อย่างที่ตัว คือเห็นตัวเป็นขันธ์ 5 เห็นขันธ์ 5 เป็นตัว เห็นตัวมีในขันธ์ 5 เห็นขันธ์ 5 มีในตัว เมื่อเห็นดังนี้จึงเป็นสักกายทิฏฐิ

ส่วนท่านที่ขาดจากสักกายทิฏฐินั้น เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ไม่ใช่ขันธ์ 5 ขันธ์ 6 อะไร เป็นของมีอยู่แล้ว ที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ขันธ์ 5 เป็นสภาพธรรมอันหนึ่งๆ เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เป็นของตั้งอยู่มีอยู่แล้ว ที่เรียกว่าขันธ์ 5 นั้น เรียกตามสมมติบัญญัติต่างหาก

เมื่อเห็นเช่นนี้ ขันธ์ 5 จึงไม่มีในตน ตนจึงไม่มีในขันธ์ 5 จึงหมดความสงสัยในสักกายสมุทัย สักกายนิโรธ สักกายมรรค

สักกายสมุทัยนั้น คือ เห็นขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ เมื่อเห็นว่าตนเป็นขันธ์ 5 จึงแก้ให้ออกจากทุกข์จึงเป็นสักกายสมุทัย เมื่อเห็นแจ้งในความดับทุกข์ จึงเห็นตัวไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในตัว ส่วน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่คงใช้อยู่เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เป็นบัญญัติ เห็นดังนี้จึงเป็นสักกายนิโรธ สักกายมรรคนั้นก็รวมอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา แก่หนักเข้า สัมมาทิฏฐิจึงเป็นผู้เห็นๆ ในสักกายทุกข์ สักกายสมุทัย สักกายนิโรธ สักกายมรรค เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วจึงหมดความเห็นสักกายในเบญจขันธ์ เห็นไม่ใช่ตัวตนแน่ หมดวิจิกิจฉาในเบญจขันธ์และในพระรัตนตรัย ด้วยเห็นคุณพระรัตนตรัยชัดเจนในตน หมดสีลัพพตปรามาส ด้วยเห็นชัดว่าตนบริสุทธิ์ด้วยไตรสิกขา ไม่บริสุทธิ์ด้วยสีลวัตต์อย่างอื่น

ปรามาสนั้น แปลว่า ลูบคลำ ได้แก่ สงสัยศีลและวัตต์นั้นเอง ผู้เห็นดังนี้โลภะ โทสะ โมหะ เบาบาง ทุจริตอันจะนำไปสู่ทุคติไม่มี จึงได้ชื่อว่าสุปฏิปันโนบุคคล ไม่ต้องเลือกว่าบุคคลชนิดไร จะเป็นภิกษุก็ตาม สามเณรก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม

เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ ก็ชื่อว่าสุปฏิปันโนบุคคลทั้งสิ้น

ในจำพวกที่ 2 คือ อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง คือ ตรงกาย ตรงวาจา ตรงน้ำใจ ใจคิดอย่างไร วาจาก็กล่าวอย่างนั้น วาจากล่าวอย่างไร กายก็ทำอย่างนั้น ปฏิบัติละเอียดขึ้นไปอีก คือ ปราบกาม ราคะ พยาบาท ส่วนจะนำทุคติให้หมดไป เพราะเห็นโทษของกามแล้ว แต่ยังไม่ขาดทีเดียว เพราะยังมีการทำมาหาเลี้ยงชีพบ้าง เมื่อถึงวันอุโบสถก็มาสมาทานอุโบสถ แต่วันธรรมดาก็รักษาความสุจริตอยู่เสมอ มีเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ไม่มีอาการทุจริต

เมื่อใจคิดอย่างไร วาจาก็กล่าวอย่างนั้น กายก็ทำอย่างนั้น จึงว่าผู้ปฏิบัติตรง ส่วนผู้ปฏิบัติคดปฏิบัติงอนั้น คือใจคิดอย่างหนึ่ง วาจากล่าวอย่างหนึ่ง กายทำอย่างหนึ่ง ดังนี้ชื่อว่าวังกปฏิบัติ ไม่นับว่าเป็นอุชุปฏิปันโนได้

ในจำพวกที่ 3 นั้น คือ ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เป็นผู้เห็นโทษของกาม ราคะ พยาบาท ละได้ขาด และหน่ายจากการครองเหย้าเรือน แม้แต่การทำมาหาเลี้ยงชีพก็ไม่ทำ ออกประพฤติพรตพรหมจรรย์ฝ่ายเดียวไม่เห็นแก่ชีวิต ไม่ต้องกลัวอดกลัวตายเลย รักธรรมยิ่งกว่าชีวิตนี้ ผู้ที่รักธรรมยิ่งกว่าชีวิตนี้ ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้นั้น แม้จะไปในที่ใดก็มีผู้เมตตากรุณาเสมอ

สมกับคำว่า ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้รักษาธรรมฉะนั้น

ในจำพวกที่ 4 คือ สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เป็นผู้ขาดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สรรพอาสวะกิเลสทั้งหลายไม่มีในขันธสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน เมื่อปฏิบัติถึงชั้นนี้จึงเสร็จโสฬสกิจ ไม่มีกิจที่จะต้องทำเพื่อหาผลเช่นนั้นต่อไปอีก จึงได้นามว่าอรหันต์ เพราะความปฏิบัติลึกซึ้งเช่นนี้จึงยากที่จะมีผู้ทำได้ แต่ก็ไม่เป็นการเหลือวิสัย

แต่นักปราชญ์สมัยทุกวันนี้ที่เข้าใจว่าตัวเป็นอรหันต์ก็มีโดยมาก คือเรียนเอาแต่ความรู้ขึ้นพูดๆ กันแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร สำคัญว่าความรู้ของตัวถึงพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ อยู่บ้านครองเหย้าเรือนไป มีลูกมีเมียไป อยากทำอะไรก็ทำไป แล้วก็เข้าใจว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้วเช่นนี้จะใช้ได้อย่างไร ถึงในครั้งพุทธกาลพวกอรหันต์เหล่านี้ก็มีมากเหมือนกัน เช่น พวกอกิริยทิฏฐิ พวกนี้ถือความไม่ทำอะไร เป็นความบริสุทธิ์ จะทำอะไรก็เป็นกิเลสไปหมด จะสวดมนต์ภาวนาก็ไม่ได้ เป็นกิเลส จะรักษาศีล จะฟังเทศน์ก็ไม่ได้ เป็นกิเลสทั้งสิ้น ต้องอยู่เฉยๆ แล้วก็เข้าใจว่าตนเป็นพระอรหันต์ ดังนี้พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่ง เรียกว่า นัตถิกทิฏฐิ ไม่ทำบุญให้ทานอะไรหมด ถือว่าไม่มีเหตุ ไม่มีผลทั้งนั้น บุญบาปไม่มี ตัวของตัวก็ไม่ทำ ยังซ้ำเห็นผู้อื่นเขาทำก็ว่าเขาด้วยว่าเป็นคนโง่ ผู้ที่บวชเล่าเรียนศึกษานั้นเป็นคนเกียจคร้าน ไม่รู้จักทำมาหากินอะไร แล้วยังจะไปทำบุญให้ทานกับคนเหล่านี้ จะมีประโยชน์อะไร ส่วนตนของตนก็เป็นอรหันต์แล้ว ดังนี้พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่ง ชื่อว่า อุจเฉททิฏฐิ จำพวกนี้เห็นว่า ตายแล้วก็สูญ ไม่ต้องเกิดอีก จะทำบาปทำกรรมอะไรก็ได้ ตายแล้วก็ไม่มีอะไร ตนของตนก็เป็นอรหันต์แล้วพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ชื่อว่า สัสสตทิฏฐิ ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เคยเป็นคน ตายแล้วก็กลับเกิดเป็นคนอีก ที่เคยเป็นสัตว์ ตายแล้วก็เกิดเป็นสัตว์อีก จะต้องไปทำบุญให้ทานรักษาศีลธุระอะไร ส่วนตนก็เป็นอรหันต์แล้ว นี้จำพวก 1 เจ้าทิฏฐิ 4 จำพวกนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อยังมีความเห็นอยู่เช่นนี้เป็นอันไม่ได้การทีเดียว ชื่อว่า เกิดมาเสียชาติ เป็นมนุษย์น่าเสียดายนัก

พวกเราซึ่งเป็นศาสนิกพุทธบริษัทได้ฟังธรรมปริยายดังได้พรรณนามาฉะนี้แล้ว จงทำความเห็นของตนให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ คือ เชื่อกรรมดีกรรมชั่ว ผลดีผลชั่ว มีจริง ทุกข์มีจริง ทางดับทุกข์มีจริง ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง พึงเร่งตนให้ขวนขวายคุณความดีให้หนักขึ้น ให้ได้รับคุณแห่งพระสงฆ์ทั้ง 4 จำพวกแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ให้พระคุณเหล่านั้นมีในตนจึงจะสมควรแก่ตน ซึ่งนับว่าเป็นพุทธบริษัทศาสนทายาท

จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดังแสดงมานี้แล