posttoday

อกุศลวิตกและกุศลธรรม (ตอนที่ 2)

02 มีนาคม 2557

ต่อจากอาทิตย์ก่อน ว่าด้วยเรื่องอกุศลวิตกที่เกิดในใจของ “พระเมฆิยะ”

ต่อจากอาทิตย์ก่อน ว่าด้วยเรื่องอกุศลวิตกที่เกิดในใจของ “พระเมฆิยะ” พระเถระในสมัยพุทธกาล ผู้เคยเป็นอุปัฏฐานรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงมีพระอานนท์เป็นอุปัฏฐากประจำ วันนี้จะเป็นเรื่องของกุศลธรรม 9 ประการ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ธรรม 5 ประการ และธรรม 4 ประการ ก็จะขอนำมากล่าวต่อๆ ไป

เมื่อพระเมฆิยะได้กลับมากราบทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องที่ตนถูกอกุศลวิตกทั้ง 3 ประการกลุ้มรุม เมื่อเข้าไปยังป่ามะม่วงใกล้แม่น้ำกิมิกาฬา พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนเมฆิยะ ธรรม 5 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ (ใจหลุดพ้นจากกิเลส) ที่ยังไม่แก่กล้า”

ธรรม 5 ประการนั้น คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

1.เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี

2.เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

3.เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถา (ถ้อยคำ) เครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิตเพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา (กล่าวถ้อยคำที่ไม่ปกปิด) สันตุฏฐิกถา (กล่าวถ้อยคำที่สันโดษ) ปวิเวกกถา (กล่าวถ้อยคำที่สงัด) อสังสัคคกถา (กล่าวถ้อยคำที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่พาดพิง) วิริยารัมภกถา (กล่าวถ้อยคำที่ปรารภความเพียร) ศีลกถา (กล่าวถ้อยคำเรื่องศีล) สมาธิกถา (กล่าวถ้อยคำเรื่องสมาธิ) ปัญญากถา (กล่าวถ้อยคำเรื่องปัญญา) วิมุตติญาณทัสสนกถา (กล่าวถ้อยคำเรื่องปัญญาเห็นการหลุดพ้น)

4.เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม

5.เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ธรรม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ด้วยว่า “ดูก่อนเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล ...จักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส ...วิมุตติญาณทัสสนกถา ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร ... ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีปัญญา ... ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ”

อรรถกถาอธิบายไว้ว่า ที่ว่า “เจโตวิมุตติ” คือ ใจหลุดพ้นจากกิเลสนั้นมีได้หลายอย่าง คือ พ้นจากกิเลสชั่วขณะ (ตทังควิมุตติ) พ้นด้วยการข่มไว้ (วิกขัมภนวิมุตติ) และพ้นด้วยการตัดคือละได้โดยเด็ดขาด (สมุจเฉทวิมุตติ) และพ้นด้วยความสงบระงับยิ่ง (ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ)

การที่เจโตวิมุตติยังไม่แก่กล้า ก็หมายถึง ยังเจริญวิปัสสนายังไม่ได้ มรรคจิตเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผล ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจึงควรอบรมธรรม 15 ประการ เพื่อให้ทำอินทรีย์ 5 (คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และ ปัญญินทรีย์) ให้หมดจด

- วิธีการทำให้สัทธินทรีย์หมดจด คือ เว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลคนผู้มีศรัทธา พิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

- วิธีการทำให้วิริยินทรีย์หมดจด คือ เว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลคนผู้ริเริ่มความเพียร พิจารณาสัมมัปปธาน

- วิธีการทำให้สตินทรีย์หมดจด คือ เว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลคนผู้มีสติตั้งมั่น พิจารณาสติปัฏฐาน

- วิธีการทำให้สมาธินทรีย์หมดจด คือ เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลคนผู้มีจิตเป็นสมาธิ พิจารณาฌานและวิโมกข์ (หลุดพ้น)

- วิธีการทำให้ปัญญินทรีย์หมดจด คือ เว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลคนผู้มีปัญญา พิจารณาญาณจริยาลึกซึ้ง

การเว้นบุคคล 5 จำพวก เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ บุคคล 5 จำพวก พิจารณาพระสูตร 5 สูตร ดังนี้ เป็นธรรม 15 ประการ ธรรม 15 ประการ ยังมีอีกนัยหนึ่ง เป็นเครื่องบ่มวิมุตติเช่นกัน คือ

- อินทรีย์ 5 (คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์)

- สัญญาอันเป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ 5 (อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา)

- ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความสำรวมในศีล ความเป็นผู้ขัดเกลาอย่างยิ่ง ความปรารภความเพียร และปัญญาอันเป็นไปในส่วนแห่งการตรัสรู้

ความมีต่ออาทิตย์หน้า เกี่ยวกับ กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นธรรม 5 ประการข้อแรกที่มีความสำคัญยิ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“อานนท์ ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม มีสหายดีงาม นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น”