posttoday

รำลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์เสาหลักคณะสงฆ์ไทย

02 มีนาคม 2557

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

โดย...สมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 9 มี.ค. 2557 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

พระธรรมทูต 2,000 รูป

ในวาระการพระราชทานเพลิงศพพระมหาเถระที่เป็นเสาหลักของคณะสงฆ์ไทย เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น คณะพระธรรมทูตที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เดินทางมาประชุมสัมมนาเชิงวิชาการเชิดชูเกียรติเจ้าประคุณสมเด็จผู้เสียสละเพื่อสังคมพุทธและสังคมโลก ในวันที่ 78910 มี.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และวัดสระเกศ พร้อมทั้งเดินทางร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้าย

คณะพระธรรมทูตไทยระดับผู้นำและเจ้าอาวาสประมาณ 200 รูป จากสหรัฐอเมริกา นำโดย พระราชพุทธิวิเทศ (ประชัน) ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา วัดพุทธาวาส ฮิวส์ตัน พร้อมด้วยรองประธาน คือ พระราชธรรมวิเทศ (อมรวุฒิ) วัดไทยแอลเอ พระสิริธรรมวิเทศ (สุรเชษฐ์) วัดพุทธรังษี ไมอามี พระวิเทศธรรมกวี (ประเสริฐ) วัดพุทธานุสรณ์ ซานฟรานซิสโก

จากยุโรปนำโดย พระเทพพุทธิมงคล (สวัสดิ์) วัดพุทธาราม เมืองวาลแวกซ์ เนเธอร์แลนด์

จากอินเดีย เนปาล นำโดย พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์) วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย

รำลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์เสาหลักคณะสงฆ์ไทย

 

นอกจากนั้น เป็นพระผู้นำที่เป็นชาวต่างชาติทุกนิกาย ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ทั่วโลก รวมทั้งผู้ติดตามอีก 2,000 รูป/คน ตอบรับเข้าร่วมสัมมนาและถวายความอาลัย โดยบริษัท การบินไทยเอื้อเฟื้อลดค่าโดยสารให้จำนวนหนึ่ง

โปรแกรมสัมมนา

วันศุกร์ที่ 7 มี.ค. 2557 (ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4) ลงทะเบียน และเข้าที่พัก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา

วันเสาร์ที่ 8 มี.ค. 2557 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ) เวลา 09.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ประธานในพิธีเดินทางถึงหอประชุม มวก 48 พรรษา โดย พระพรหมสุธี ประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการจัดงาน พระพรหมสิทธิ เจ้าคณะภาค 10 ที่ปรึกษาอธิการบดี รองประธาน คณะกรรมการจัดงาน

ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รองประธาน คณะกรรมการจัดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้บริหาร มจร พระธรรมทูต และแขกผู้มีเกียรติ ถวายการต้อนรับและเข้าสู่ห้องประชุม

เมื่อรับฟังรายงานจากคณะทำงานแล้ว สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุมและประทานโอวาท

จากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ โดย พระพรหมสุธี พระพรหมสิทธิ คุณนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์

เมื่อถึงเวลา เวลา 10.30 น. ปาฐกถาบูชาคุณ วิเทสานุสสรณียกถา สมเด็จพระพุฒาจารย์ เรื่อง “สมเด็จพระพุฒาจารย์กับงานพระพุทธศาสนาโลก”โดย พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม

ฉันเพลแล้วถึงเวลาบ่ายผู้แทนสงฆ์จากต่างประเทศจะกล่าวสุนทรพจน์พิเศษ เวลา 14.00 น. เสวนางานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

รำลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์เสาหลักคณะสงฆ์ไทย

 

เวลา 15.15 น. พระวิเทศธรรมรังษี (หลวงตาชี) ประธานที่ปรึกษา สมช. สหรัฐอเมริกา ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศสิงคโปร์

ประธานสหภาพพระสงฆ์ไทยในทวีปยุโรป

หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดียเนปาล

ประธานสหภาพสงฆ์ไทยในสหราชอาณาจักร จะแสดงนานาทัศนะประสบการณ์

ในวันเดียวกันนี้เดินทางกลับวัดสระเกศเพื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติการ และร่วมงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นวันสุดท้าย

เวลา 22.00 น. คณะสงฆ์จากต่างประเทศ ประกอบพิธีสวดมนต์ตามธรรมเนียมของแต่ละประเทศและนิกาย

วันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. 2557 (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4) เวลา 13.00 น. ร่วมขบวนพิธีอัญเชิญโกศบรรจุศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ไปยังวัดเทพศิรินทราวาส (จัดขบวนแห่สำหรับพระสงฆ์จากต่างประเทศตามลำดับประเทศและทวีป) และเวลา 17.00 น. ร่วมพระราชพิธีออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ

วันจันทร์ที่ 10 มี.ค. 2557 (ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4) เวลา 09.00 น. กล่าวสรุปและปิดการสัมมนา ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ

ทั้งนี้ โดยมี พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร เลขานุการคณะกรรมการ โทร. 081-866-9452 โทรสาร 02-623-5368 Email : [email protected] พระครูปลัดสุวัฒนสิทธิคุณ (กวีศิลป์) ผจล.วัดสระเกศ เป็นผู้ประสานงาน

ประวัติย่อ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2556 นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2471 ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

บรรพชา ณ วัดภูเขาทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ 7 วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตาจึงมิได้ลาสิกขา โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่านพระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จากนั้นหลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในการปกครองของพระครูปลัดเทียบ (พระธรรมเจดีย์)

พ.ศ. 2493 อุปสมบทที่วัดสระเกศ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

พระเจ้า 5 พระองค์

ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์เอก 5 องค์ของ น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง ป.ธ.9 ที่ได้รับสมัญญาจากอาจารย์แย้มว่า “พระเจ้าห้าพระองค์” ที่เรียกด้วยความคุ้นเคยตามชื่อเดิมว่า “เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง”

ทั้ง 5 รูปเจริญเติบโตในสมณศักดิ์สูง ได้แก่

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (พลอย ญาณสํวโร) วัดเทพธิดาราม และพระวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร) วัดมหาธาตุ ราชบุรี

ปัจจุบันที่ยังเป็นผู้นำคณะสงฆ์และชาวพุทธ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ นอกจากนั้นนิพพานไปสิ้นแล้ว

แก้วิกฤต มจร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นอกจากมีบทบาทในต่างประเทศแล้ว บทบาทในประเทศที่ยังอยู่ในความทรงจำของหลายท่าน คือ การประคับประคอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ให้ล่มเมื่อเกิดวิกฤตในปี พ.ศ. 2502

การกู้วิกฤตมหาจุฬาฯ นั้น อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ เขียนไว้ในหนังสือมหาจุฬาฯ ในอดีตว่า ตัวอาจารย์เมื่อเป็นพระมหาจำนงค์ (ต่อมาเป็นพระกวีวรญาณ) ตำแหน่งสั่งการเลขาธิการ กับ พระเมธีสุทธิพงศ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) หรือต่อมา คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้รักษาการอธิการบดี (ทั้งสองเป็นเพื่อนและอยู่วัดสระเกศด้วยกัน) ได้ช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาจนรอดพ้นมาได้

ตามบันทึกนั้น อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารและความไม่พอใจของพระนิสิต จนกระทั่งมหาวิทยาลัยใช้มาตรการพักการเรียนและลบชื่อ เหตุรุนแรงเกิดในปี พ.ศ. 2502 เป็นปีที่อาจารย์จำนงค์ได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และเป็นช่วงที่พระพิมลธรรม (อาจ) สภานายก กำลังถูกเพ่งเล็งจากคณะปฏิวัติ ต่อมาถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์

พระเมธีสุทธิพงศ์ (สมเด็จเกี่ยว) เป็นเพื่อนที่ช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหา อดหลับอดนอนในการทำงานแม้จะถูกกดดันต่างๆ แม้เมื่อพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) (ทำการแทนสภานายก) สั่งปิด มจร วันที่ 2 ก.ค. 2502 ขณะที่พระกวีวรญาณและพระเมธีสุทธิพงศ์กำลังให้นิสิตรายงานตัว แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่วันก็เป็นพระเมธีสุทธิพงศ์แก้ปัญหาให้ มจร เปิดเรียนต่อไปได้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เขียนเรื่อง มหาจุฬาฯ งามสง่า สดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม หนา 270 หน้า เป็นนิพนธ์ล่าสุด เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จเกี่ยว) ในการแก้วิกฤต มจร ไว้โดยละเอียด พร้อมทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้น

สรุปว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระเถระผู้กล้าหาญ ในท่ามกลางพายุร้ายที่โหมกระหน่ำ มจร ที่ผู้อื่นหันหลังให้ แต่ท่านหันหน้าสู้ มจร จึงมีวันนี้

เย็นหิมะในรอยธรรม

คณะสงฆ์วัดสระเกศ รวบรวมงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์เพื่อพิมพ์เผยแพร่ ในงานออกเมรุ 5 เล่ม หนังสือเย็นหิมะในรอยธรรม เป็นเล่มหนึ่งที่เคยได้รับความนิยมสูงจะถูกพิมพ์ซ้ำในครั้งนี้ด้วย

หนังสือนี้นอกจากเป็นโอวาท การเล่าประวัติต่างๆ และประสบการณ์ในต่างประเทศแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จยังเตือนสติชาวพุทธไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท เนื่องจากภัยที่มีต่อพระพุทธศาสนา กำลังคืบคลานใกล้ตัวมาก

ทั้งมวลนี้ เป็นการถวายความอาลัยและบูชาคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จเกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระมหาเถระที่เป็นเสาหลักคณะสงฆ์ไทย