posttoday

จิตรกรรมพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ

26 มกราคม 2557

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 สำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 สำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่องช่างศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชัน ณ หอประติมากรรมต้นแบบ ประกอบด้วยศิลปกรรมหลากหลายสาขา

โพสต์ทูเดย์นำเรื่องเครื่องคชาภรณ์ มาเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้จึงขอนำเรื่อง จิตรกรรมแบบประเพณีไทย ตามแนวพระราชดำริ ณ พุทธรัตนสถาน ภายในพระบรมมหาราชวังมาเสนอ

ความเป็นแห่งภาพจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ให้ข้อมูลว่า

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภช วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พุทธศักราช 2535 ได้ทอดพระเนตรลายดอกพุ่มข้าวบิณฑ์บนจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านในพระอุโบสถ ทรงทราบว่ากรมศิลปากรสามารถอนุรักษ์ภาพฝาผนัง โดยการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรดำเนินการลอกจิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานที่เขียนเมื่อพุทธศักราช 2505 ออก เพื่ออนุรักษ์ไว้และติดตั้งในที่เหมาะสมและให้เขียนใหม่โดยให้มีลักษณะศิลปกรรมสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมตอนบน เช่น น้ำ ให้เป็นระลอกแบบช่างโบราณเขียน เรือก็ให้มีธงทิวปัก หรือเขียนพระราชประวัติให้มีลักษณะเหมือนจริง แต่ให้เป็นสองมิติตามลักษณะภาพไทย

จิตรกรรมพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้เขียนภาพเฉพาะที่ผนังช่วงล่างระหว่างช่องหน้าต่างจำนวน 8 ช่อง เพื่อให้ภาพสอดคล้องกับภาพที่ฝาผนังตอนบนเนื่องจากภาพที่ฝาผนังตอนบนที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพียงพระองค์เดียว ทำให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ของพระพุทธรัตนสถานในแต่ละรัชกาลขาดการบันทึกไม่ต่อเนื่องกัน จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้กรมศิลปากรธำรงรักษาแบบอย่างการเขียนของช่างโบราณ ทั้งในลักษณะของศิลปกรรมและการใช้สีให้คำนึงถึงเนื้อหาสาระของประวัติศาสตร์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยให้เน้นเหตุการณ์สำคัญแต่ละรัชกาลที่ต้องการเขียนขึ้นใหม่ เช่น การฉลองพระนคร 150 ปี ในรัชกาลที่ 7 และการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นต้น

จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 8 ช่อง จึงเป็นเรื่องราวตั้งแต่เริ่มก่อสร้างพระพุทธรัตนสถาน ได้แก่ พระราชพิธีพระราชประเพณี วิถีชีวิตชีวิตในวัง ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารที่เฝ้าสนองงานและชื่นชมพระบารมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 ในปัจจุบัน มีรูปแบบลักษณะที่ประสานกลมกลืนกันเป็นเอกภาพทั้งในด้านองค์ประกอบการใช้สี การจัดสัดส่วนของขนาด และสัดส่วนของภาพคน อาคารสถาปัตยกรรม บุษบก เรือพระราชพิธี บ้านเรือน ต้นไม้ และส่วนประกอบอื่นๆ ของภาพ ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นใหม่นี้ดูกลมกลืนเข้ากันกับภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนเป็นอย่างดี เพราะเป็นภาพเขียนที่มีการจัดภาพแบบมุมมองจากที่สูงลักษณะภาพวิวแบบตานก และการใช้สีที่สอดประสานเหมือนเป็นภาพเดียว โดยเฉพาะการใช้เทคนิคและกรรมวิธีเขียนภาพด้วยสีฝุ่นเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีพระราชกระแสรับสั่งให้ช่างระมัดระวังในรายละเอียดอื่นๆ อีก

ช่องที่ 1 เมื่อพุทธศักราช 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาก่อพระฤกษ์สร้างพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน

ช่องที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2404 การก่อสร้างพระพุทธรัตนสถานแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธียกช่อฟ้าพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีนี้ด้วย

ช่องที่ 3 ภาพตอนล่าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมาแปลงพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ

ช่องที่ 4 ภาพตอนบน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ เชิญชวนชาวไทยให้มีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์สร้างเรือรบ “พระร่วง” ขึ้นไว้ประจำการเมื่อพุทธศักราช 2460 ถัดลงมาเป็นภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับสัมพันธมิตร และประกอบพระราชพิธีเพื่อขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหาร

ช่องที่ 5 ภาพตอนบน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นการสมโภชพระนคร 150 ปี เมื่อวันที่ 6 เม.ย. พุทธศักราช 2475

ช่องที่ 6 ภาพตอนบน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จนิวัตพระนครเมื่อพุทธศักราช 2488

ช่องที่ 7 ภาพตอนบน เป็นขบวนเรือเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค นำผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พุทธศักราช 2539 มีเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นเรือพระราชพิธีประจำรัชกาล ภาพถัดลงมาเป็นพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกที่สำคัญ คือ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ช้างเผือกคู่พระบารมี เมื่อพุทธศักราช 2502

ช่องที่ 8 ภาพตอนบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่องทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเยี่ยมราษฎรในชนบทเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้รู้จักการใช้น้ำและดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภาพต่อมา เป็นการเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พุทธศักราช 2539

เป็นที่สอดรับกันอย่างอัศจรรย์ เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำภาพจิตรกรรมแห่งพุทธรัตนสถานมาพิมพ์เป็นปฏิทิน ประจำปี พ.ศ. 2557 แจกจ่ายแก่ผู้อุปการคุณ พร้อมกับให้ข้อมูลความเป็นมาแห่งพุทธรัตนสถาน ว่าพระพุทธรัตนสถานเป็นพุทธสถานส่วนพระองค์แห่งพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ ณ เขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวัง จึงเป็นสิ่งยากยิ่งนักที่บุคคลภายนอกจะมีโอกาสได้ชื่นชมงานจิตรกรรมฝาผนังอันมีคุณค่านี้

นอกจากได้รับพระบรมราชานุญาตให้จำลองเป็นภาพถ่ายแล้วนำออกเผยแพร่ให้ปรากฏ ดังเช่นปฏิทินพุทธศักราช 2557 รัตนะแห่งจิตรกรรม : จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 นี้ ประกอบด้วยภาพเขียนระหว่างช่องพระบัญชร ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ด้านละ 4 ช่อง รวม 8 ช่อง บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลที่ทรงเกี่ยวข้องกับพระพุทธรัตนสถาน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 คือ หลักฐานแห่งพระเกียรติคุณอันไพบูลย์ภิญโญยิ่งแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงธำรงปกปักรักษาเอกลักษณ์ของศิลปกรรมประจำชาติ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนคู่ชาติไทย เป ็นพระมหากรุณาล้นพ้นสุดจะพรรณนา