posttoday

คุณธรรม...บาปธรรมย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ในทุกสมัย(ตอน ๑)

09 มกราคม 2557

ปุจฉา : มีปัญหามากมายเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะจากการเมืองที่ยังเหวี่ยงตนเองไปตามกระแสความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : มีปัญหามากมายเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะจากการเมืองที่ยังเหวี่ยงตนเองไปตามกระแสความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่... ในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยจะจบลงอย่างไร และชาวไทยควรทำความเข้าใจอย่างไรในภาวะสองมาตรฐานที่ต่างอยู่ตรงข้ามกันเช่นนี้...

ผู้บูชาธรรม.

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา... แม้ว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่กาลเวลาที่ต้องปฏิรูปการปกครอง เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เบื้องหน้า ภายใต้แรงผลักดันของอำนาจ กฎเกณฑ์กรรม ที่สร้างความสัมพันธ์อันชอบธรรมให้กับทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้ อันยากที่ใครๆ จะลุกขึ้นมาต้านทานหรือควบคุมให้เป็นไปตามอำนาจแห่งตนได้...แต่บนบรรทัดฐานแห่งสัจธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ให้ค่ากำหนดแน่นอนตายตัว อันเป็นไปตามหลักธรรมที่ว่า... จะต้องเป็นไปเช่นนี้เสมอ อันเป็นไปตามเหตุปัจจัย... ดังนั้นเหตุปัจจัยจึงเป็นลักษณะธรรมที่สามารถกำหนดได้โดยการกระทำ เช่น การดับทุกข์ให้สิ้น โดยการปฏิบัติที่สามารถสร้างเหตุปัจจัยอันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้ โดยยึดหลักความจริงว่า... สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ทั้งหลาย มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ต้องมีความเสื่อมไป ...ความดับไป เป็นธรรมดา... เกิดขึ้นได้ก็ดับได้... ซึ่งนิยามดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา อันสัตว์โลกไม่ควรไปยึดมั่น ...ถือมั่น จนเสียดุลยภาพแห่งจิต ให้โง่งมลุ่มหลงมึนเมาอยู่ในสายธารแห่งมายาของโลก จนยากที่จะหาความสงบสุขให้กับชีวิต ด้วยการทะยานอยากไปตามกระแส...

พระพุทธศาสนาของเราอุบัติเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายของโลก... ความสับสนในความรู้ ...ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของหมู่ชน จนมีทิฏฐิเกิดขึ้นในโลกมากถึง ๖๒ ทิฏฐิ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ปรากฏอยู่ในพรหมชาลสูตร จึงไม่แปลกที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนผ่านสังคมของมนุษยชาติไปตามกาลสมัยบนทฤษฎีนิยม ที่มหาชนในยุคนั้นๆ ยึดถือ ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนทฤษฎีใดๆ ก็ยังไม่สามารถพ้นจากปัญหาความวุ่นวายไปได้ มิหนำซ้ำยังเพิ่มพูนความทุกข์ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อหมู่ชนต่างมีทัศนคติ ความเห็น การปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ด้วยอำนาจความยึดมั่นถือมั่นที่แก่กล้าจนยากจะควบคุม...

พระพุทธศาสนาอุบัติเกิดขึ้นในท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดที่ตกผลึกเป็นทิฏฐิ ให้มากไปด้วยทฤษฎีนิยม โดยทรงประกาศทฤษฎีทางสายกลาง อันมีข้อปฏิบัติเป็นไปตามองค์ธรรมแปดประการ บนเส้นทางปฏิบัติที่เรียกว่า อริยมรรค... ที่ให้คืนกลับสู่ความเป็นอิสรภาพโดยธรรม... มีสันติธรรมอย่างแท้จริง ด้วยการอบรมสั่งสอนให้ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย มุ่งมั่นประพฤติตนโดยธรรม.. ประพฤติธรรมโดยตนเอง ให้มีตนเป็นที่พึ่ง ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ที่กล่าวว่า ให้พึ่งตน พึ่งธรรม... โดยมีหลักธรรมที่ทรงสอนให้ศึกษาปฏิบัติตามวิธีการเจริญสติปัฏฐานสี่ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า วิปัสสนากรรมฐาน...นั่นเอง ทั้งนี้ โดยให้ยึดหลักธรรมดาอันเป็นไปตามสภาพความมีอยู่จริงในธรรมชาติ ที่ว่าบุญกุศลย่อมนำไปสู่ความสงบสุข มีความเจริญรุ่งเรืองถึงประโยชน์โดยธรรม หากปฏิบัติตามกุศลธรรม หรือหลักธรรมที่เป็นกุศลในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา...

...ดังที่ทรงแสดงให้เห็นจริงว่า บุญย่อมเจริญขึ้น เพราะยึดปฏิบัติอยู่กับธรรมที่เป็นกุศล โดยตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า...

...สมัยหนึ่ง ในอดีตกาลที่พระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ ทรงตั้งมั่นอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มี จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ต่อมาทรงสละราชสมบัติ มอบแก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และพระองค์ทรงเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต

สามวันต่อมา จักรแก้วคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิได้อันตรธานไป พระราชาองค์ใหญ่ก็ทรงเสียพระทัยว่าจักรแก้วหายไป จึงได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระราชฤาษี ทรงเล่าความถวาย พระราชฤาษีคือพระราชบิดาได้ตรัสปลอบว่า จักรแก้ว เป็นของให้กันไม่ได้ แต่หากรู้จักประพฤติธรรม ให้ความเคารพธรรม และปฏิบัติธรรมต่อมนุษย์และสัตว์ตามฐานะและสมควรแก่บุคคลนั้นๆ... ซึ่งเป็นการบำเพ็ญจักรวรรดิวัตร (จักกวัตติวัตร) โดยพึงรู้จักการเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้สงบ ถามถึงกุศล...อกุศล...ทำอย่างใดให้เป็นประโยชน์ ทำอย่างใดเป็นโทษ เมื่อสมบูรณ์พร้อมโดยวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิตามที่กล่าวมาโดยสรุปก็จักย่อมปรากฏจักรแก้ว อันเป็นทิพยจักร อันควรแก่พระราชาผู้รักษาอุโบสถในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ

เมื่อพระราชาองค์ใหม่มีศรัทธาปสาทะในคำสั่งสอนของพระราชฤาษี จึงได้แสดงวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิอีกครั้งว่า

จงอาศัยธรรม สักการะเคารพนับถือธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรม แก่มนุษย์และสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำกรรมอันเป็นอธรรม เป็นไปได้ในแว่นแคว้น

ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้

เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมาประมาท

ตั้งอยู่ในขันติ คือ ความอดกลั้น โสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยม และ ละสิ่งเป็นอกุศล บำเพ็ญสิ่งที่เป็นกุศล ละสิ่งที่เป็นโทษ ประกอบสิ่งที่ไม่เป็นโทษ ละสิ่งที่ไม่ควรเคารพ ประกอบสิ่งที่ควรเคารพ ดังนี้เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งมั่นคงดำรงอยู่ในธรรมตามที่กล่าวมา ก็จักทรงสั่งสอนบรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ผู้ปกครองที่ถืออำนาจรัฐตามมอบหมายทั้งหลาย ให้ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักธรรม๑๐ ประการ ดังนี้...

(อ่านต่อฉบับหน้า)