posttoday

ว.วชิรเมธี สติมาประชาธิปไตย

04 มกราคม 2557

คมคนสัปดาห์นี้และยังอยู่ในสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2557 ด้วย จึงถือเป็นโชคดีของแฟนๆ @weekly

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ สถาบันวิมุตตยาลัย

คมคนสัปดาห์นี้และยังอยู่ในสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2557 ด้วย จึงถือเป็นโชคดีของแฟนๆ @weekly อย่างยิ่งที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย พระนักคิด นักเขียน นักบรรยาย นักเผยแผ่ชื่อดังของประเทศไทย ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในสังคมไทยและในต่างประเทศ ได้เมตตาให้ความรู้ที่แฝงด้วยแนวคิดและสาระดีๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในแง่มุมทางศาสนา

ยิ่งในยามที่ประเทศไทยของเรากำลังเกิดวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้ และเรื่องประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่มีการโต้ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายและหลากหลายในเวลานี้ เช่น บ้างก็ว่าการชุมนุมด้วยการบุกยึดสถานที่ราชการนั้น กลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้ใช้ความรุนแรงและปราศจากอาวุธถือเป็นวิธีอารยะขัดขืน แต่อีกฝ่ายอาจจะบอกว่าผิดเพราะไม่ได้ปราศจากอาวุธจริงๆ ฯลฯ

จากการสนทนากับท่านในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านได้สะท้อนให้เห็น คือท่านได้พูดถึงประชาธิปไตยที่ดีนั้น ต้องใช้ “หนึ่งเสียง” อย่างมีสติ หรือที่ท่านเรียกว่า สติมาประชาธิปไตย

ปุจฉา : คำกล่าวที่ว่า การแสดงออกแบบอารยะขัดขืนปราศจากอาวุธในทรรศนะของพระพุทธศาสนานั้นมีไหมและเป็นแบบไหน

วิสัชนา : อารยะขัดขืน ตามความหมายทางโลกนั้น หมายถึง การดื้อแพ่งต่อกฎหมายหรือต่ออำนาจรัฐที่ตราขึ้นมาหรือใช้โดยขาดความชอบธรรมแต่ก็พร้อมที่จะยอมรับผลอันเกิดจากการละเมิดกฎหมายนั้นอย่างสงบหรือโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ประชาชนบางคนในสหรัฐอเมริกาไม่ยอมเสียภาษีให้รัฐที่นำเงินภาษีของตนไปใช้เพื่อก่อสงครามทำลายเพื่อนมนุษย์ทั้งในและต่างประเทศ

หรือการที่ “มหาตมะ คานธี” นำประชาชนผิวสีในแอฟริกาใต้ต่อต้านกฎหมายที่ตราขึ้นโดยละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้น และเมื่อถูกเจ้าหน้ารัฐทำร้ายก็ไม่ตอบโต้แต่ยอมรับการการลงทัณฑ์จากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสงบ

เป้าหมายของอารยะขัดขืน ก็เพื่อตอบโต้หรือเพื่อ “ปลุกมโนธรรม” ของฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐให้เกิดการ “ตื่นรู้” หรือ “ทบทวน” การใช้อำนาจหรือการใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม หรือเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม

หรือในบางกรณีอาจมีเป้าหมายเพื่อถอดรื้อโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคมให้พังครืนลงมา เหมือนอย่างที่ มาติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ นำชาวอเมริกันผิวสีหยุดงานทั้งประเทศ เพื่อเรียกร้อง “สิทธิพลเมือง” ที่เท่าเทียมกันกับคนผิวขาว จนในที่สุดรัฐบาลขณะนั้นต้องยอมตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกัน อเมริกัน ให้เท่าเทียมกันกับพลเมืองผิวขาว และนำมาสู่ความเสมอภาคกันของประชาชนในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจนกระทั่งทุกวันนี้

ส่วนในพุทธศาสนา เล่ากันว่า ในสมัยพุทธกาลเคยมีลูกมหาเศรษฐีคนหนึ่งอยากบวช แล้วพ่อแม่ไม่ยอมตามใจ ท่านจึงใช้วิธี “อดอาหาร” (เหมือนที่คานธีนำมาใช้) เป็นการประท้วง พ่อแม่เห็นว่า ขืนไม่ยอมตามความต้องการ สงสัยลูกจะอดข้าวจนตาย ในที่สุดก็จึงอนุญาตให้ลูกได้บวช ต่อมาท่านได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งมีชื่อว่า “พระรัฐบาล” อารยะขัดขืนอย่างนี้เป็นการประท้วงอย่างสันติเพื่อเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก ไม่น่าจะเป็นอารยะขัดขืนอย่างเดียวกันกับที่ใช้ในทางการเมือง แต่เล่าไว้ในที่นี้พอให้เห็น “ร่องรอย” ว่าเรื่องแบบนี้ก็เคยมีมาแล้วเหมือนกัน

ปุจฉา : จากปัญหาการเมืองในเวลานี้ในสังคมประชาธิปไตยย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นภาวะปกติ แต่ถ้ากลุ่มพลังในสังคมบริหารจัดการความเห็นขัดแย้งเหล่านั้นไม่ถูกต้องสังคมย่อมไม่สงบสุข ในทางพุทธศาสนาจะมีแนวทางในการบริหารจัดการความขัดแย้งอย่างไรบ้าง

วิสัชนา : การจัดการความขัดแย้งมีหลายรูปแบบ แต่มีอยู่รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การตัดสินใจด้วยการใช้ “เสียงข้างมาก” (เยภุยยสิกา) หรือการฟัง “ประชามติ” ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ใช้เสียงข้างมากในการโหวตเพื่อรับหรือปฏิเสธกฎหมายหรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ ในสภา

นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การกลับไปหา “กฎหมายแม่บท” ซึ่งใช้เป็นหลักในการปกครองสำหรับคนทุกกลุ่มเหมือนกับที่พระองค์เคยตรัสว่า เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติไว้จะทำหน้าที่เป็น “ศาสดา” ของชาวพุทธต่อไป ภายใต้หลักการนี้ จึงไม่มีใครที่เป็นทายาทเพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ แต่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันภายใต้ “พระธรรม” ที่ถือว่าเป็น “ธรรมนูญ” การปกครองสูงสุดที่ทุกคนต้องเคารพอย่างเสมอหน้ากัน ปฏิบัติตามอย่างเสมอหน้ากัน โดยนัยดังกล่าวมานี้ ใครทำผิด ก็ว่าไปตามผิด ใครทำถูก ก็ว่าไปตามถูก พิจารณากันไปตามเนื้อผ้าอย่างตรงไปตรงมาไม่มีคำว่า “สองมาตรฐาน” หรือไม่มีการเห็นแก่หน้า (มุโขโลกนะ) แต่อย่างใดทั้งสิ้น

หลักการนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ที่ถือว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษเหนือกฎหมาย

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การแก้ความขัดแย้งโดยใช้คนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับฟัง เช่น ครั้งหนึ่งมีชนชั้นนำของสองนครเกิดความขัดแย้งกันเพราะต่างก็ต้องการแย่งน้ำไปทำเกษตรกรรมในรัฐของตนให้ได้มากที่สุด แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงยกกองทัพมาเผชิญหน้ากัน พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุนี้ จึงทรงทำหน้าที่คนกลาง ด้วยการเสด็จไปเตือนสติหรือไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายได้คิดว่า “ระหว่างชีวิตคนกับน้ำ ชีวิตคนย่อมมีค่ามากกว่า การฆ่าคนเพื่อแย่งน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง” เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ฟังเหตุผลและเกิดมีสติสำนึกได้ว่า ตนกำลังจะทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงยอมยุติสงคราม ความขัดแย้งก็เป็นอันยุติ

ในสังคมไทยของเรานั้น จะใช้หลักการใด ก็ลองพิจารณาดูตามความเหมาะสม

ปุจฉา : หลักการประชาธิปไตยกับโลกาธิปไตยในพระพุทธศาสนาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร สติมาประชาธิปไตยที่ท่านอาจารย์เคยพูดนั้นมีความพิเศษและเหมาะสมกับสังคมไทยอย่างไร

วิสัชนา : คำว่า “โลกาธิปไตย” หมายถึง “ถือเอาชาวโลกเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทำดีเพราะชาวโลกเห็นว่าดี หลีกหนีความชั่วเพราะเกรงชาวโลกจะตำหนิอย่างนี้เป็นต้น เพื่อความเข้าใจหลักโลกาธิปไตย ก็จะต้องเข้าใจว่า ยังมีอธิปไตยอีกสองอย่างกล่าวคือ อัตตาธิปไตยและธรรมาธิปไตย ถ้ามาครบชุดจะเป็น

1.อัตตาธิปไตย ตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยยึดตนเป็นเกณฑ์

2.โลกาธิปไตย ตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยยึดคนอื่น/ชาวโลกเป็นเกณฑ์

3.ธัมมาธิปไตย ตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยยึดธรรมะ/ความจริง/ความถูกต้อง/ประโยชน์ที่แท้ของเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์

หลักอธิปไตยทั้งสามนี้ พึงทราบว่า “ไม่ใช่หลักการปกครองทางการเมือง” แต่เป็น “แนวทางการตัดสินใจ” เพื่อทำหรือไม่ทำอย่างใอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยมากท่านใช้ในความหมายทางธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้น เป็นอันสรุปได้อย่างหนึ่งว่า หลักโลกาธิปไตย ไม่ตรงกันกับหลักประชาธิปไตยอย่างที่ใช้กันในทุกวันนี้เสียทีเดียว โดยนัยนี้จึงไม่ควรจะนำมาปนกัน

ส่วน “สติมาประชาธิปไตย” ที่อาตมาเคยเขียนถึงนั้น หมายถึง “ระบอบประชาธิปไตยที่มีสติ” ซึ่งวากรากฐานอยู่บนหลักการที่ว่า “ประชาชนทุกคนต่างก็มีหนึ่งเสียงเท่ากันและใช้เสียงนั้นโหวตเพื่อจุดหมายทางการเมืองอย่างมีสติ” (Mindful Democrecy) ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกันของระบบ “พวกมากลากไป” นั่นเอง

ปุจฉา : ขณะนี้มีกลุ่มประชาชนจากหลายภาคส่วนเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก็ว่ากันไป สำหรับอาจารย์แล้วมองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยต้องปฏิรูปเป็นอันดับแรก

วิสัชนา : สิ่งที่ควรปฏิรูปอย่างเร่งด่วนตอนนี้ก็คือ (1) ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของคนไทย (3) กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเมืองการปกครอง ต้องร่วมกันแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ได้มาตรฐานสากล มิเช่นนั้นแล้ว จะกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งทางการเมืองมิจบสิ้น (3) กระบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่น หากแก้เรื่องนี้ไม่ได้ เมืองไทยจะล้าหลังจนกู่ไม่กลับ

ปุจฉา : เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองไม่ว่าครั้งไหนๆ จะมีประชาชนที่เกิดความเครียดเพราะการเมืองเป็นเหตุ จะมีวิธีรับมือหรือหาทางออกจากความเครียดอย่างไร

วิสัชนา : อยากให้ถอนตัวออกมาแล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ไม่อยากให้หมกมุ่นเกินไปเพราะจะทำให้เครียด ถอนตัวไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้างก็ได้ คำว่าถอนตัวไม่ได้หมายความว่า ให้ละสายตาหรือไม่สนใจ แต่หมายความว่าอย่ากับมัน 24 ชั่วโมง ถ้าเราอยู่กับมัน 24 ชั่วโมง เราก็จะเครียด เพราะมันอยู่ใจกลางพายุทอร์นาโด

ฉะนั้น ให้ถอนตัวออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ แล้วติดตามด้วยความระมัดระวังไม่เผลอไปเป็นหุ้นส่วนของความรุนแรงเสียเอง เป็นผู้สังเกตการณ์อย่างมีสติ และไม่หมกมุ่นมากเกินไป ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้ารอบคอบและรอบด้าน ถ้ารู้สึกว่าตึงๆ ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ถอนตัวออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแล้วค่อยกลับมาติดตามเหตุการณ์ใหม่ก็ได้

ที่สำคัญอย่าลืมว่า ชีวิตยังคงมีมิติอื่นๆ ด้วย ก็คือ สนใจการเมือง ก็อย่าลืมสนใจครอบครัว สนใจพบปะเพื่อนฝูง หรือสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองในด้านอื่นๆ บ้างก็ได้ ถ้าเราหมกมุ่นเรื่องเดียวมันก็เป็นการระดมศักยภาพพุ่งไปด้านเดียวทำให้เกิดความตึงเครียดแก่จิตใจได้เหมือนกัน กล่าวอย่างสั้นที่สุด คือ สนใจการเมืองบ้างก็ได้ แต่อย่าหมกมุ่นจนสุดโต่ง เว้นพื้นที่ว่างให้หัวใจตัวเองได้สัมผัสมิติด้านอื่นๆ ของชีวิต ด้วย

ปุจฉา:มองว่าสังคมไทยทุกวันนี้ขาดอะไร

วิสัชนา:อาตมาคิดว่า ขาดจิตสำนึก สิ่งที่จะต้องเพิ่มคือจิตสำนึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราถือคติว่าสิ่งไหนๆ ไม่ยิ่งใหญ่เท่าส่วนรวม และทุกคนมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลายไปได้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเราเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วประโยชน์ของชาติมาทีหลัง ในที่สุดเขาจะติดอยู่ในวังวนของวิกฤต

ทุกๆ วิกฤตมีทางออกถ้าเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นตัวตั้ง ถึงทางออกมี แต่ก็จะไม่มีคนใช้ ฉะนั้นที่บอกว่าทางออกไม่มีนั้นไม่ใช่ ทางออกมี แต่เราจะยอมใช้กันหรือเปล่าเท่านั้นเอง อาตมาอยากให้คำสอนง่ายๆ ไว้จำกันว่า จงลดตัวเองลงให้ต่ำแล้วร่วมกันทำประเทศไทยให้สูง อันนี้สำคัญ คืออย่าให้ความสำคัญกับตัวเอง แต่ให้ความสำคัญแก่ประเทศไทยให้มากๆ ทำอย่างนี้ได้ อนาคตก็จะมีหวังว่าประเทศไทยยังก้าวต่อไปได้

แต่ถ้าเราทำอะไรก็ตาม ถามว่าฉันจะได้อะไร โดยที่ไม่ถามว่าในขณะที่ฉันได้แล้วประเทศต้องเสียอะไร ถ้าคิดอย่างนี้รับรองประเทศไปไม่รอด มีแต่การเผชิญหน้าเท่านั้นเองที่รอเราอยู่ แต่ถ้าเรายอมถอยกันไม่ต้องเต็มฝีก้าวหรอก ทุกฝ่ายถอนคนละครึ่งก้าว ประเทศไทยมีความหวังแน่นอน

ปุจฉา:พุทธศักราชใหม่ 2557 แล้ว กราบนิมนต์พระอาจารย์ให้พรปีใหม่แก่คนไทยเพื่อประโยชน์แก่การนำไปปฏิบัติให้เป็นมงคลแก่ชีวิต

วิสัชนา:พรปีใหม่แด่คนไทยทุกคน ก็คือ 1.ไม่โลภมาก 2.ไม่อยากใหญ่ 3.ไม่ริษยา 4.อัตตาบางเบา ใครประพฤติปฏิบัติได้จริง สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นมาในชีวิตตลอดปีและตลอดไป