posttoday

แวดวงสงฆ์

15 ธันวาคม 2556

วันที่ 22 ธ.ค. 2556 เวลา 16.00 น. ณ พระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศ

วันที่ 22 ธ.ค. 2556 เวลา 16.00 น. ณ พระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จะมอบพระบัญชาแต่งตั้ง “พระพรหมสุธี” เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ อุปเสณมหาเถระ ที่มรณภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2556 ตามมติมหาเถรสมาคม (มส.)

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและความสามารถที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่างๆ ระบุตรงกันว่า พระพรหมสุธี ถือเป็นพระผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศและประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมาอย่างยาวนาน เป็นผู้รับสนองธุระและปฏิบัติงานคณะสงฆ์อย่างมิขาดตกบกพร่อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 12 และกรรมการมหาเถรสมาคม

ตามประวัติส่วนตัว มีนามเดิมว่า เสนาะ นามสกุล ฝังมุข เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ. 2500 ณ บ้านเลขที่ 26 หมู่ 4 ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดามารดา ชื่อ นายถนอม และนางกระแส ฝังมุข ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม เรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา บรรพชา ณ พัทธสีมาวัดบ้านสร้าง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระญาณรังษี วัดชุมพลนิกายาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรเสนาะได้คอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ชุบ และศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่ไปด้วย พ.ศ. 2519 สอบได้เปรียญธรรม6 ประโยค

พ.ศ. 2521 อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณรังษี วัดชุมพลนิกายาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมกิตติโสภณ วัดสระเกศ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ปญฺญาวชิโร

พ.ศ. 2527 เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยา เมื่อกลับเมืองไทย ท่านได้รับเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีอบรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเจ้าคณะภาค 12 พ.ศ. 2544 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

วันที่ 5 ธ.ค. 2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ในราชทินนามที่ พระพรหมสุธี เมื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ มส. พ.ศ. 2544 จัดว่าเป็นพระหนุ่มนักปกครองในมหาเถรสมาคมที่อายุน้อยที่สุด

ชาวศรีลังกา 96 คน มาบวชฉลอง

260 ปี สยามวงศ์ (ชุดล่าสุด)

วัดประยุรวงศาวาส มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วัดไทยพระปฐมเจดีย์ศรีลังกา ร่วมจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทชาวพุทธศรีลังกา 96 รูป ในวโรกาสฉลอง260 ปี นิกายสยามวงศ์แห่งศรีลังกา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก วันที่ 1124 ธ.ค. 2556

การประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทจัด ณ พระอุโบสถวัดประยุรวงศาวาส วันที่ 1112 ธ.ค. และเดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ มหาจุฬาอาศรม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วันที่ 1323 ธ.ค. 2556

ในเวลาบ่ายแก่ๆ ณ ลานพระอุโบสถวัดประยุรวงศาวาส เต็มไปด้วยชาวศรีลังกา 96 คน ที่บินตรงจากกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงศรีลังกา เมื่อคืนวันที่ 11 ธ.ค. 2556 มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิขณะดึกมากแล้ว เพื่อจะเข้าบรรพชาอุปสมบทในเวลาประมาณ 17.00 น.เศษ

พระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ (วัลลภ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส บอกว่าผู้ที่มาบวชมีอายุต่างกันตั้งแต่ 3379 ปี แต่ละคนไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องอัฐบริขาร เพราะมีเจ้าภาพครบ เว้นแต่ต้องออกค่าเครื่องบินเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้บวชชั่วคราว จากวันที่ 1124 ธ.ค. ตามโครงการฉลอง 260 ปี สยามวงศ์ ที่พระอุบาลีจากกรุงศรีอยุธยาได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (บางแห่งเขียน พระบรมโกศ) แห่งกรุงศรีอยุธยา นำพระสงฆ์ไทยไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น ที่ไม่มีพระภิกษุหลงเหลืออยู่ นอกจากสามเณรสรณังกร อายุ 50 ปี และคณะเท่านั้น

พระรัสสกาล สีวลีเถโร อายุ 52 ปี ชาวศรีลังกา (Ven.Rassagala Seewali Thero) หัวหน้าพระสงฆ์วัดไทยพระปฐมเจดีย์ศรีลังกา และหัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมพุทธไทยศรีลังกา กรุงโคลัมโบ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการนำกุลบุตรชาวศรีลังกามาบวชที่เมืองไทยในงานฉลอง 260 ปี สยามวงศ์ ตั้งแต่ต้นปี 2556 บอกว่า ได้ประสานงานนำกุลบุตรชาวศรีลังกามาบวชที่เมืองไทย จำนวน 260 รูป โดยแบ่งดำเนินการรวม 5 รุ่น และบวชทั้งธรรมยุตและมหานิกาย คือ วัดเทพศิรินทราวาส กทม. วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม วัดพิชยญาติการาม กทม. และไปปฏิบัติธรรมศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมโมลี จ.นครราชสีมา วัดอินทรวิหารและวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และ 96 คนนี้ เป็นชุดล่าสุดของปีนี้

ประเพณีการบวชระหว่างไทยและศรีลังกาแตกต่างกันในรายละเอียดวิธีการและประเพณีนิยม โดยศรีลังกาจะนิยมบวชพระในระหว่างเดือน เม.ย.มิ.ย.ของแต่ละปี ไม่นิยมบวชพระในเดือนอื่น นอกจากบวชเณร

ผู้ที่บวชเณร นิยมบวชเมื่ออายุ 1213 ปี แล้วร่ำเรียนปริยัติธรรมและภาษาบาลี จนอายุครบ 20 ปีจึงบวชพระ หลังจากบวชพระ 1 หรือ 2 วัน ต้องรับหน้าที่แสดงธรรมกัณฑ์มังคลคาถา หรือกัณฑ์มงคล 1 กัณฑ์ เพื่อโปรดญาติพี่น้อง เพราะถือว่าบวชเณรมาหลายปีต้องรู้ธรรม พร้อมที่จะนำมาเทศน์โปรดญาติพี่น้องได้

เมื่อบวชพระแล้วต้องบวชตลอดชีวิต จึงทำให้ศรีลังกามีพระสงฆ์น้อย ส่วนผู้ที่บวชแล้วสึกจากพระจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสังคม เพราะเขาถือว่าคุณเข้าไปอยู่ในชีวิตอันประเสริฐแล้ว เมื่อสึกออกมาแสดงว่าคุณยอมแพ้ ผู้ที่สึกจึงต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ดังนั้นเมื่อฉลอง 260 ปี ชาวศรีลังกาจึงมาอุปสมบทในเมืองไทย เพราะมีประเพณีบวชชั่วคราว บวชแล้วสึกได้