posttoday

หอพระไตรปิฎกนานาชาติ...คลังปัญญาแห่งพระพุทธศาสนา

08 ธันวาคม 2556

ก้าวแรกที่ย่างเท้าเข้าไปภายในอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...อัญจิรา อัศวนนท์


ก้าวแรกที่ย่างเท้าเข้าไปภายในอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งที่หลายคนสัมผัสได้ คือ ความสงบ งดงาม และเก่าแก่ของสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ แต่อาจมีน้อยคนนักที่จะทราบว่าอาคารแห่งนี้ทรงคุณค่ามากกว่าความงามที่เห็น

มุมหนึ่งบนชั้นสองของอาคาร เป็นที่ตั้งของคลังรวบรวมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบันทึกไว้ในหลากหลายอักษร (Character/Alphabet) ของหลายชนชาติทั่วโลก สถานที่ที่กล่าวถึงนี้ คือ “หอพระไตรปิฎกนานาชาติ”

รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง (อาจารย์แม่ชีวิมุตติยา) ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งหอพระไตรปิฎกฯ นี้ว่า ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีจุดกำเนิดจากกองทุนสนทนาธรรมนำสุข ซึ่งมีท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค อดีตผู้แทนนิสิตหญิงคณะอักษรศาสตร์ และอักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกองทุนฯ ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ ได้สั่งสมคัมภีร์พระไตรปิฎกนานาชาติไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม พ.ต.สุรธัช บุนนาค บุตรชาย จึงได้มอบคัมภีร์พระไตรปิฎกเหล่านั้น เพื่อเป็นธรรมบรรณาการแก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดตั้งเป็นหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เพื่อสืบทอดกุศลเจตนาของท่านผู้หญิง ในการสร้างศรัทธาและปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

หอพระไตรปิฎกนานาชาติ...คลังปัญญาแห่งพระพุทธศาสนา

 

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้น้อมรับมาเป็นสมบัติของสถาบัน และตั้งขึ้นในอาคารเก่าแก่ ซึ่งเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย ด้วยความคิดว่าพระไตรปิฎกที่มาประดิษฐาน ไม่ใช่แค่เป็นคลังหนังสือ หรือห้องสมุดใหม่เท่านั้น แต่เน้นที่หลักการของการศึกษา ในการสร้างคนที่พร้อมไปด้วยความรู้และปัญญาในการเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว การศึกษาพระไตรปิฎกจะทำให้คนรู้จักการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันและมีคุณธรรม เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และต่อโลกได้”

ปัจจุบันหอพระไตรปิฎกนานาชาติ ถือเป็นสถานที่ประดิษฐานคลังพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก ได้รวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชาติต่างๆ พร้อมพระคัมภีร์บริวารครบชุด เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 เล่ม มีทั้งพระไตรปิฎกภาษาบาลี และภาคแปลภาษานานาชาติ พระคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก่าแก่ และพระคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานฉบับหายาก จนมาถึงพระไตรปิฎกในยุคปัจจุบัน

รศ.ดร.สุภาพรรณ กล่าวว่า การดำเนินงานของหอพระไตรปิฎกฯ เน้นที่การวางรากฐาน 2 ด้านหลัก ด้านหนึ่งคือการจัดเก็บและรวบรวมพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของพุทธศาสนาเถรวาทที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ เอาไว้

“ถ้าถามว่ามีคลังไว้ทำไม คำตอบก็คือมีเอาไว้เรียนรู้ ไม่ใช่มีคลังเอาไว้เก็บ ฉะนั้นวิธีการจัดพระคัมภีร์ฯ ในหอพระไตรปิฎกฯ เราจะไม่ได้จัดแบบโบราณ ที่มีตู้ทึบและไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร แต่ที่นี่จะจัดเก็บในตู้กระจกให้มองเห็นได้ เวลานำชม ผู้เข้าชมก็จะเห็นเลย พระคัมภีร์พระไตรปิฎกแต่ละชุดมีประวัติที่บอกเล่าได้ ตรงนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ หรือตามรอยพระไตรปิฎกในช่วง 2,600 ปี นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ผู้เข้าชมจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการของพระไตรปิฎก พร้อมๆ กับความเป็นไปในพระพุทธศาสนา นี้คืองานหลักด้านหนึ่งของหอพระไตรปิฎกฯ”

หอพระไตรปิฎกนานาชาติ...คลังปัญญาแห่งพระพุทธศาสนา

 

รากฐานอีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก โดยจัดทำเป็นหนังสือชุด ชุดแรกชื่อว่า “นโม ไตรสรณคมน์” ถือเป็นหัวใจสำคัญของพระไตรปิฎกบทแรกในทุกคัมภีร์ของพระไตรปิฎกที่มีมาครั้งพุทธกาล และมีความสำคัญยิ่งในฐานะหลักสูตร หรือเป็นคู่มือเบื้องต้นของการศึกษาพระพุทธศาสนา และคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นประตูที่พาสู่ทุกขั้นตอนของการพัฒนาชีวิตจวบจนถึงพระนิพพาน

รศ.ดร.สุภาพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในหนังสือนโม ไตรสรณคมน์นี้ มีบทคัมภีร์ฉบับต่างๆ ที่ได้จากการแปลและการศึกษามาใส่ไว้ในเล่ม อาทิ ฉบับฉัฏสังคีติ ภาษาบาลี อักษรพม่า พิมพ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นผลของการสังคายนานานาชาติครั้งแรกและครั้งเดียวในโลก โดยพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจากทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ไทย พม่า ลังกา เป็นต้น

หนังสืออีกชุด คือ “รัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก” ซึ่งอธิบายถึงภาพรวมของพระไตรปิฎกแต่ละคัมภีร์ และการนำหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติ เป็นการแสดงเนื้อหาและวิธีการในการนำเสนอพระไตรปิฎกที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ หลังจากจัดพิมพ์หนังสือชุดเหล่านี้ออกไป ก็พบว่าเริ่มมีหนังสือในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาดีๆ ออกมาเพิ่มขึ้นในแวดวงพุทธศาสนา

“ปัญหาของชาวพุทธในสังคมไทย คือ เราไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร คำถามที่มีมาเสมอ คือ พระไตรปิฎกคืออะไร สอนอะไร เราไปวัด ไปตักบาตรทำบุญ โดยไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธองค์เลย เคยถามหลายคนว่าในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เคยอ่านพระไตรปิฎกไหม ก็ไม่มีใครได้อ่าน ฉะนั้นงานด้านหนึ่งของหอพระไตรปิฎกฯ ก็คือสร้างองค์ความรู้ในส่วนนี้”

นอกเหนือจากการจัดพิมพ์หนังสือชุด เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก หอพระไตรปิฎกนานาชาติยังได้เปิดหลักสูตรวิชา “พระไตรปิฎกกับวิถีชีวิต” สำหรับสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เนื้อหาหลักสูตรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีคิดในพระพุทธศาสนา และนำไปปรับใช้กับชีวิตตนเอง ตลอดจนสังคมที่อาศัยอยู่ ทั้งระดับชุมชน ประเทศ และโลก

“เราจะสอนแบบประยุกต์ โดยดูจากคนเรียนเป็นพื้นฐาน สิ่งหนึ่งที่พบคือเด็กฟังไม่เป็น คิดไม่เป็น เขียนไม่เป็น ไม่ใช่เพราะเขามีปัญหาทางภาษา หรือไม่รู้หลักไวยากรณ์ แต่เขาไม่มีระบบวิธีคิด ถ้าคนในชาติคิดไม่เป็น ตัดสินใจไม่เป็นว่าอะไรถูกหรือผิด ก็จะกลายเป็นคนมักง่าย ฉะนั้นหัวข้อหนึ่งที่สอน คือ พระพุทธเจ้าสอนวิธีคิดยังไง อาศัยหลักทางพุทธศาสนาเข้าไปเชื่อมโยงกับชีวิตเขา ให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องควรตัดสินใจด้วยอะไร มีพื้นฐานหลักคิดอย่างไร เวลาสอนเราไม่ใช่แค่เอาหลักธรรมมาบอก แต่ดูจากวิถีชีวิตของเขา เขาขาดอะไร มีจุดแข็งตรงไหน เติมสิ่งที่เขายังขาดและดึงจุดแข็งออกมา เริ่มจากตัวเขา แล้วค่อยๆ เขยิบจากตัวเขาออกไปมองจุฬาฯ มองสังคม และมองไปถึงระดับโลก”

ในฐานะที่เป็นคลังรวบรวมพระไตรปิฎกนานาชาติ รศ.ดร.สุภาพรรณ กล่าวว่า มีผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมหอพระไตรปิฎกฯ นี้เป็นประจำ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นรายบุคคลที่เข้ามาขอความรู้ แลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือต้องการศึกษาเรื่องพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง นับได้ว่าหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เป็นแหล่งความรู้และฐานความคิดในทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ