posttoday

หลักของสติ

01 ธันวาคม 2556

หลักของสติก็คือปัจจุบัน ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่กับการกระทำ

หลักของสติก็คือปัจจุบัน ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่กับการกระทำของร่างกายก็จะมีสติถ้าปล่อยให้ร่างกายอยู่ไปตามลำพัง ส่วนจิตไปคิดเรื่องอื่นก็จะไม่มีสติ

ถ้าไม่มีสติ ก็จะไม่สามารถทำใจให้สงบได้ เพราะใจไม่อยู่กับที่ ไปที่โน่นมาที่นี่ คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้

พวกเรามีสติกันน้อยมาก มีพอกับการดำรงชีพ มีสติอยู่กับการกระทำเพียงแวบเดียว แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็กลับมาที่การกระทำ ไม่ได้อยู่กับการกระทำอย่างต่อเนื่อง ใจจึงไม่นิ่ง มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ตามความคิดปรุงแต่งต่างๆ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา

อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ เกิดความดีใจเสียใจไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นไปตามความอยากก็ดีใจ ถ้าไม่เป็นไปตามความอยากก็เสียใจ ชีวิตของพวกเราจึงวนไปเวียนมากับความดีใจเสียใจ ถ้าสามารถควบคุมใจให้นิ่ง ไม่ให้อยาก ใจก็จะไม่เสียใจหรือดีใจ จะรู้สึกเฉยๆ กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เฉยๆ สบายๆ ดีกว่าเสียใจหรือดีใจ เพราะเวลาดีใจก็อยากจะให้ดีใจไปเรื่อยๆ พอไม่ดีใจก็จะเสียใจ

ปัญหาของพวกเราคือ ไม่มีสติที่จะคอยควบคุมใจให้อยู่เฉยๆ ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นทำอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน กำลังรับประทานอาหาร ก็รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร ไม่คิดเรื่องราวต่างๆ

การเจริญสติจึงเป็นงานที่สำคัญมาก เป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาธรรมะต่างๆ คือ สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ การหลุดพ้นจะเกิดขึ้นจากการเจริญสติเป็นจุดเริ่มต้น เหมือนกับการเรียนหนังสือ ต้องเริ่มต้นที่การเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ จนจำได้ทุกตัวอักษร จากนั้นก็หัดสะกด สระอะ สระอา แล้วก็ผสมตัวอักษร ศึกษาคำนิยามของแต่ละคำ ก็จะอ่านออกเขียนได้

การบรรลุมรรคผลนิพพาน มีปัญญา มีสมาธิ ต้องมีสติก่อน

พวกเราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดหรืออยู่ที่ทำงาน

พอตื่นขึ้นมาก็ควรตั้งสติเลย ผูกจิตให้อยู่กับร่างกาย ไม่ให้จิตไปที่อื่น ให้ดูว่าร่างกายกำลังทำอะไร กำลังนอน กำลังลุกขึ้น กำลังยืน กำลังเดิน กำลังทำกิจต่างๆ กำลังล้างหน้าล้างตาอาบน้ำแปรงฟัน กำลังแต่งตัว ต้องอยู่กับการกระทำ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีความจำเป็นต้องคิด ก็ให้หยุดการกระทำของร่างกายไว้ก่อน แล้วเอาสติมาจดจ่ออยู่กับความคิด ให้คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดไปตามความจำเป็น พอคิดเสร็จแล้ว ก็หยุดคิด

อย่าคิดเพ้อเจ้อเพ้อฝัน อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ควรคิด ควรหันกลับมาเฝ้าดูการกระทำของร่างกาย จะสามารถควบคุมความคิดได้

เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ ก็จะอยู่กับการบริกรรมพุทโธ จะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่นานจิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วจะเห็นคุณค่าของความสงบ ว่าเป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลาย ต่อให้เอาเงินร้อยล้านมาแลกกับความสุขนี้ก็แลกไม่ได้ เพราะเงินร้อยล้านซื้อความสุขแบบนี้ไม่ได้ เป็นความสุขที่ต้องปฏิบัติเอง ปฏิบัติแทนกันไม่ได้ ความสุขแบบนี้ที่ทำให้พระพุทธเจ้าสามารถสละราชสมบัติออกไปอยู่ในป่าในเขาได้ เพราะในสมัยที่ทรงพระเยาว์ ทรงเคยประสบกับความสงบของจิตนี้มาแล้ว ขณะที่ทรงประทับอยู่ตามลำพัง พวกข้าราชบริพารไปทำภารกิจอื่น พอไม่มีอะไรมารบกวน จิตก็สงบตัวลง ตามที่เคยฝึกมาในอดีต ก็เกิดความสุขที่ประทับใจกว่าความสุขอื่น เช่นความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้วจะติดใจ จะว่าโลภก็ว่าได้ แต่ความจริงเป็นฉันทะความพอใจที่จะทำให้ความสุขแบบนี้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาตามมา

ฉันทะ คือ ความยินดีที่จะเจริญสติตลอดเวลา ยินดีที่จะสละความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สละลาภ ยศ สรรเสริญ เพื่อทุ่มเทเวลากับการสร้างความสุขทางจิตใจ ทำจิตใจให้สงบด้วยการปลีกวิเวก หาสถานที่สงบสงัดอยู่ตามลำพัง เพื่อเจริญสติและสมาธิ เพื่อความสงบของจิต ถ้าได้สัมผัสเพียงครั้งเดียวจะติดอกติดใจ เหมือนกับได้ชมภาพยนตร์ตัวอย่างที่ต้องชมให้ได้ พอหนังจริงเข้าโรง ก็จะไปดูทันที

การนั่งสมาธินี้ก็เหมือนกัน เวลานั่งแล้วจิตสงบได้ครั้งแรก จะติดอกติดใจ ถึงแม้จะได้สัมผัสเพียงชั่วขณะเดียว แต่เป็นความสุขที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ พลิกจิตที่วุ่นวายว้าวุ่น ให้เป็นจิตที่นิ่งสงบ ความวุ่นวายที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมจะหายไปหมดเลย

เวลาจิตสงบตัวลงไปจะเบาอกเบาใจ สุขใจ มหัศจรรย์ใจ จะรู้ว่าของดีจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง ไม่ต้องไปเสียเวลาหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ภายนอก ต่อให้ไปท่องเที่ยวรอบโลกก็จะไม่ได้พบกับความสุขแบบนี้ ทำอะไรมากน้อยเพียงไร ก็จะไม่ได้ความสุขแบบนี้ ถ้าได้รับความสุขแบบนี้แล้ว จะขวนขวายใฝ่ฝันแต่ความสุขแบบนี้ ถ้ายังมีภารกิจการงาน ก็จะตัดให้น้อยลงไป ให้หมดไปตามลำดับ

นี่คือความประเสริฐของการเจริญสติ ที่พวกเราต้องทำในชีวิตประจำวัน อย่าไปรอเจริญสติเวลาที่ไปอยู่วัด เพราะจะไม่ทันการณ์

ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป ควบคุมจิตให้อยู่กับร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน ตั้งสติอยู่ที่ร่างกาย ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่นการกระทำต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะทำอะไร รับประทานอาหาร ทำกับข้าว เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ต้องมีสติอยู่กับการกระทำอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะดึงจิตไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา ถ้าไม่มีสติจะทำหลายอย่างควบคู่กันไป เช่น กำลังรับประทานอาหาร ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงอนาคต คิดถึงอดีต ไม่อยู่ในปัจจุบัน จิตก็จะไม่นิ่ง จะแกว่งไปแกว่งมา

ถ้าควบคุมจิตให้อยู่กับการกระทำของร่างกายได้ ก็จะมีสติควบคุมใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้นิ่ง ให้สงบได้

เวลาว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งหลับตาบริกรรมพุทโธถ้าชอบการบริกรรม ถ้าไม่ชอบ จะดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ จะใช้มรณานุสติหรืออสุภกรรมฐาน เป็นเครื่องผูกใจก็ได้

ให้ใจอยู่กับเรื่องเดียว ถ้าไม่ไปคิดเรื่องอื่นก็จะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ

พอสงบแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าบริกรรมพุทโธก็จะหยุดไปโดยปริยาย ถ้าดูลมหายใจเข้าออก ลมก็จะหายไป จะอยู่กับความว่าง ความสงบ ความพอ ไม่อยากได้อะไร เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ก็ปล่อยให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

อย่าไปดึงให้ออกมาคิดทางปัญญา เพราะยังไม่ใช่เวลา

เวลาสงบเป็นเวลาเติมพลังเติมอาหาร ยิ่งสงบได้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอิ่มเอิบใจ จะทำให้กิเลสตัณหาความอยากอ่อนกำลังลงไป พอออกมาจากสมาธิ มารับรู้ร่างกาย รูป เสียง กลิ่น รส เริ่มคิดปรุงแต่ง ก็อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้คิดทางปัญญา ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเองหลังจากที่ได้สมาธิแล้ว มักจะเข้าใจผิดคิดว่าพอมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดขึ้นมาเอง ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงจะเกิดปัญญา เช่น พิจารณาสิ่งที่ใจมีความผูกพันอยู่ ถ้ามีความผูกพันกับการงาน ก็พิจารณาว่าการงานไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา สักวันหนึ่งก็ต้องดับไป ต้องออกจากงาน ไม่อยู่กับงานไปตลอด ต้องไม่ยึดติด ต้องปล่อยวาง จะได้ไม่วิตกกังวล จะมีงานทำหรือไม่ เตรียมตัวเตรียมใจรับกับการเปลี่ยนแปลง

เวลาเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมาจะได้ไม่ทุกข์ใจ

ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก อยู่ในพระอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกี่ยวกับอนิจจัง ความไม่เที่ยง เพราะอยากให้สิ่งที่ไม่เที่ยง เที่ยง ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าพิจารณาว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ก็จะไม่อยาก ยอมรับความไม่เที่ยง มีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ก็จะไม่ทุกข์ใจ

อย่างนี้เรียกว่าปัญญา คือการพิจารณาไตรลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจมีความสัมพันธ์ด้วย เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ 4 ดินน้ำลมไฟ บังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษา ไม่คอยสอนใจ ก็จะยึดติดกับร่างกาย อยากจะให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เวลาแก่ เจ็บ ตาย ก็จะกลัวมาก จนไม่สามารถทำอะไรได้ หมดกำลังใจ พอหมอบอกว่าจะต้องตายภายใน 3 เดือน ไม่รู้จะทำใจอย่างไร เพราะไม่ศึกษาความจริงของร่างกายไว้ก่อน จึงคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่ได้สอนใจให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ถ้าได้เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ ก็จะรับกับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ จะรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน

ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มีสมาธิ เวลาพิจารณาความแก่ เจ็บ ตาย จะพิจารณาไม่ได้ เพราะกิเลสคอยขัดขวาง ไม่ให้พิจารณา จึงต้องทำสมาธิ ทำจิตให้สงบก่อน พอจิตสงบแล้ว กิเลสตัณหาจะอ่อนกำลังลง เวลาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย กิเลสตัณหาก็จะไม่มีกำลังมาขัดขวาง จะทำให้จิตเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงได้ ก็จะไม่วุ่นวายเดือดร้อน เพราะมีความสุขอยู่กับความสงบของสมาธิ จะไม่รู้สึกเสียดาย ไม่มีร่างกายก็ไม่เป็นปัญหา

ตราบใดจิตมีความสุขอยู่กับความสงบ ถ้าจิตไม่มีความสุขความสงบ ก็จะยึดติดกับความสุขทางร่างกาย ความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส การทำกิจกรรมต่างๆ พอไม่ได้ทำก็จะไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ใจ

ถ้าได้ความสงบแล้ว จะไม่พึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ถ้าชอบออกสังคม ชอบหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส ก็จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จะชอบไปอยู่วัด ชอบอยู่ตามลำพัง อยู่ที่สงบ แล้วก็เจริญสตินั่งสมาธิ ออกจากสมาธิก็เจริญปัญญา พิจารณาความจริงของสิ่งต่างๆ ที่จิตสัมผัสรับรู้ ว่าจะต้องจากกันไปในที่สุด