posttoday

ธาตุ 6 นัยที่ 2

01 ธันวาคม 2556

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ครั้งก่อนได้นำเรื่องของธาตุ 6 ในคัมภีร์พระวิภังค์ ใน “สุตตันตภาชนีย์”

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ครั้งก่อนได้นำเรื่องของธาตุ 6 ในคัมภีร์พระวิภังค์ ใน “สุตตันตภาชนีย์” ซึ่งแสดงไว้ 3 นัย คือ ธาตุ 6 นัยที่ 1 ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ ธาตุ 6 นัยที่ 2 ได้แก่ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสสธาตุ โทมนัสสธาตุ อุเปกขาธาตุ และ อวิชชาธาตุ ธาตุ 6 นัยที่ 3 ได้แก่ กามธาตุ พยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ เนกขัมมธาตุ อัพยาปาทธาตุ และ อวิหิงสาธาตุ

ครั้งก่อนได้นำเรื่องของนัยที่ 1 มาแสดงไปบางส่วนแล้ว จึงขอนำเอาเรื่องของนัยที่ 2 มากล่าวถึงในวันนี้ คือ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสสธาตุ โทมนัสสธาตุ อุเปกขาธาตุ และ อวิชชาธาตุ

“สุขธาตุ” คือ ความสบายกายความสุขกาย ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุข เกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า สุขธาตุ

“ทุกขธาตุ” คือ ความไม่สบายกาย ความทุกข์กาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกขธาตุ

“โสมนัสสธาตุ” คือ ความสบายใจ ความสุขใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขอันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุขเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โสมนัสสธาตุ

“โทมนัสสธาตุ” คือ ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์เกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์เกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัสสธาตุ

“อุเปกขาธาตุ” คือ ความสบายใจก็ไม่ใช่ ความไม่สบายใจก็ไม่ใช่ ความเสวยอารมณ์ไม่ทุกข์ไม่สุขเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ไม่ทุกข์ไม่สุขเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า อุเปกขาธาตุ

“อวิชชาธาตุ” คือ ความไม่รู้ ความไม่เห็น เป็นต้น ลืม คือ อวิชชา อกุศลมูล คือ โมหะ นี้เรียกว่า อวิชชาธาตุ

อรรถกถาอธิบายไว้โดยสรุปว่า

สุขธาตุ และ ทุกขธาตุ ได้แก่ สุข ทุกข์ ที่อาศัยกายประสาทเกิด ทรงแสดงกระทำให้เป็นของคู่กัน ด้วยอำนาจความเป็นปฏิปักษ์กัน จริงอยู่ สุขเป็นปฏิปักษ์ คือตรงข้ามกับทุกข์ ทุกข์ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อสุข คือตรงข้ามกับสุข ฐานคือที่อันสุขแผ่ไปแล้วมีประมาณเท่าไร ในกายนี้ ทุกข์ก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น ฐานอันทุกข์แผ่ไปแล้วมีประมาณเท่าไร สุขก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น

ส่วน โสมนัสสธาตุ และ โทมนัสสธาตุ จัดเป็นคู่คล้ายกับสุขธาตุและทุกขธาตุ โสมนัสเป็นปฏิปักษ์ต่อโทมนัส โทมนัสก็เป็นปฏิปักษ์ต่อโสมนัส ฐานที่โสมนัสแผ่ไปในสรีระนี้มีประมาณเท่าไร โทมนัสก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น ฐานที่โทมนัสแผ่ไปมีประมาณเท่าไร โสมนัสก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น

ส่วน อุเปกขาธาตุ และ อวิชชาธาตุ 2 บทนี้ พระพุทธองค์ตรัสกระทำให้คู่กันด้วยอำนาจเป็นธรรมคล้ายกัน จริงอยู่ธาตุทั้งสองนี้เป็นธาตุคล้ายกัน เพราะความเป็นธาตุไม่แจ่มแจ้ง

บรรดาธาตุเหล่านั้น กายธาตุที่ประกอบกับสุขและทุกข์นั้น เป็นที่อาศัยให้กายวิญญาณเกิด และโผฏฐัพพธาตุที่เป็นอารมณ์ประกอบกับสุขและทุกข์นั้น ย่อมเป็นอันถือเรียกว่า สุขทุกขธาตุ นั่นเอง

มโนวิญญาณธาตุที่สัมปยุต (ประกอบพร้อมด้วย) โสมนัสและโทมนัสนั้น ย่อมเป็นอันเรียกว่า โสมนัสและโทมนัสธาตุ

ธรรมธาตุ ถือเอาด้วย อวิชชาธาตุ

จิตที่ทำหน้าที่รู้ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ และจิตที่เรียกว่า มโนธาตุ 3 รวมทั้งอารมณ์และที่อาศัยเกิดของจิตที่ทำหน้าที่รู้ทางตาเป็นต้นนั้น ได้แก่ จักขุธาตุ รูปธาตุ เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ เรียกว่า อุเปกขาธาตุ