posttoday

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดระฆังโฆสิตาราม

01 ธันวาคม 2556

ปูชนียสถานหลายสิ่งหลายอย่างในวัดระฆังโฆสิตารามล้วนมีความอัศจรรย์

โดย...สมาน สุดโต

ปูชนียสถานหลายสิ่งหลายอย่างในวัดระฆังโฆสิตารามล้วนมีความอัศจรรย์ เช่นเป็นวัดที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลนั้นๆ เป็นต้น

แต่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่มีพระนามเดิมว่าศรี ต้องถูกถอดจากตำแหน่ง เพราะถวายวิสัชนาไม่ต้องกับพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าตาก ที่พระองค์มีปุจฉาว่าพระสงฆ์ปุถุชนควรไหว้ฆราวาสที่เป็นอริยบุคคลหรือไม่ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชศรี วิสัชนาว่าไม่ควร เพราะฆราวาสเป็นหีนเพศ (เพศต่ำ) สมเด็จพระเจ้าตากจึงถอดจากตำแหน่ง เมื่อกลายเป็นพระอนุจร จึงกลับไปอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ เห็นว่าอดีตพระสังฆราชศรีมีปฏิปทามั่นคงยอมสละชีพเพื่อรักษาพระธรรมวินัย จึงนิมนต์กลับมาครองวัดระฆังและสถาปนาไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตามเดิม กลายเป็นสมเด็จพระสังฆราช 2 ครั้ง 2 สมัย ในพระราชทินนามสมเด็จพระอริยวงษญาณ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดระฆังโฆสิตาราม

 

พระเถระวัดระฆังที่ดังไม่มีวันดับ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง 2395 จนเข้านิพพานในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2415 นอกจากเป็นพระเถระที่กล้าปฏิบัติท้วงติงเจ้าผู้ปกครองคือรัชกาลที่ 4 โดยจุดไต้ถือเข้าไปในพระบรมมหาราชวังในเวลากลางวัน ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงทราบความหมายและพระราชทานอภัยโทษ

ปัจจุบันมีคนที่อยู่ในวงการเมืองบางคน พอเห็นว่าใครผู้ใดที่รับผิดชอบบ้านเมือง แต่ทำให้บ้านเมืองลำบาก ขัดความต้องการของประชาชน จะจุดเทียนถือไปให้บุคคลนั้นในเวลากลางวัน เพื่อให้สำนึก

ผลงานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ชาวพุทธและนักเลงพระเครื่องวิ่งหาคือพระสมเด็จวัดระฆัง เพราะมีพระพุทธคุณล้นเหลือ จนกระทั่งมีราคาสูงมากๆ ในอดีตบอกว่าสามารถนำมาแลกรถเบนซ์ได้ แต่ปัจจุบันราคาถีบตัวไปเป็นของที่ประเมินราคามิได้ไปแล้ว

วัดระฆังเป็นวัดโบราณที่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยชื่อว่า วัดบางว้าใหญ่ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินที่มีนามเดิมว่า พระยาวชิรปราการ หลังจากยกทัพเรือตีป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่พม่ายึดไว้ได้คืน มีชัยต่อพม่า จึงยกเมืองธนบุรีตั้งเป็นราชธานี ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี อีกพระนามคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ราชธานีตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชวังอยู่ใกล้วัดแจ้งและวัดบางว้าใหญ่ จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดทั้งสองและยกขึ้นเป็นอารามหลวง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดระฆังโฆสิตาราม

 

เมื่อสถาปนากรุงธนบุรี ทรงอาราธนาพระอาจารย์ศรีผู้ทรงคุณวุฒิทางวิปัสสนาธุระที่หนีสงครามพม่าไปอยู่นครศรีธรรมราชกลับมากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระสังฆราชครองวัดบางว้าใหญ่ ครั้นปลายรัชกาลถูกลงพระอาญาถอดสมณศักดิ์ตามที่กล่าวแล้ว

ครั้งสิ้นรัชสมัยเปลี่ยนราชวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนากลับมาครองวัดบางหว้าใหญ่อีกครั้ง สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชดังเดิม

ในรัชกาลที่ 1 วัดบางว้าใหญ่ เป็นวัดที่มีพระตำหนักของสมเด็จเจ้าฟ้าพระยาเทพสุดาวดี (สา) ประดิษฐานอยู่เรียกว่าตำหนักแดง สมเด็จเจ้าฟ้าพระยาเทพสุดาวดีทรงเป็นพระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และทรงเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังหลัง จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดเป็นงานใหญ่ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในระหว่างการบูรณะขุดพบระฆังลูกหนึ่งมีเสียงดังไพเราะกังวาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างระฆังมาถวายชดเชย 5 ลูก

ครั้นมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดราชคัณฑิยาราม (คัณฑิ แปลว่า ระฆัง) แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงเรียกนามเดิมว่า วัดระฆัง

ในการปฏิสังขรณ์วัดระฆังครั้งใหญ่นี้ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดีทรงรับเป็นธุระในการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงสร้างพระปรางค์สร้างเป็นของหลวงพระราชทานในหมายรับสั่ง ร.1 ว่า ก่อฤกษ์ ณ วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. 2336 พระปรางค์องค์นี้จึงถือว่า เป็นพระปรางค์ต้นแบบยุครัตนโกสินทร์ ที่มีทรวดทรงงดงามมาก ถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์โดดเด่นเป็นสง่า นับเป็นพระปรางค์องค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดระฆังโฆสิตาราม

 

วัดระฆังจึงเป็นวัดที่มีเจ้านายในรัชสมัยต่อๆ มาให้การดูแลปฏิสังขรณ์เป็นวัดโบราณสถานสำคัญวัดหนึ่ง

แม้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมานั่งเจริญภาวนาสมาธิ ณ วัดนี้

รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้รื้อตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับมาไว้ที่วัดระฆัง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

แต่เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดไฟไหม้เสนาสนะสงฆ์ลุกลามไปไหม้ถึงตำหนักทอง จึงโปรดให้มีการซ่อมแซมใหม่

ปัจจุบันเรียกว่าหอพระไตรปิฎก เป็นอาคารทรงไทยยอดแหลม ฝาปะกน ด้านในมีภาพเขียนเล่าเรื่องจักรวาลและอื่นๆ ไว้ บางภาพเลือนจนมองเกือบไม่ออก

ตรงกลางห้องเรือนหลังกลางประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 1 ที่กลางเรือนอีก 2 หลัง ประดิษฐานตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่ที่เขียนลวดลายงามนัด

ความงามของหอไตร หรือตำหนักเก่าแห่งนี้ นับตั้งแต่บานประตูแกะสลักที่หน้าบันไดอันเป็นชานเรือนและที่ประตูและหน้าต่างทุกบาน แม้จะทำใหม่แต่ก็ไม่ต่างจากของเดิมที่นำมาตั้งให้เปรียบเทียบด้านใน

ด้านหน้าตำหนักมีต้นจันทน์ขนาดใหญ่อยู่คู่กัน เป็นต้นจันทน์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2514

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดระฆังโฆสิตาราม

 

ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ ส่วนพระอุโบสถเดิมให้ใช้เป็นวิหาร

พระอุโบสถใหม่ใหญ่มาก หน้าบันมีรูปจำหลักนารายณ์ทรงครุฑที่มีลายงดงาม

บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย

ภายในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ

ในช่วงที่สร้างพระอุโบสถใหม่นี้พระโอรสของกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทรงมีจิตศรัทธาสร้างเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ โดยเสด็จพระราชกุศล ดังนั้นเมื่อสร้างโบสถ์ใหม่จะเห็นเจดีย์สามองค์เป็นเจดีย์ขนาดย่อมเรียงเป็นแถวภายในกำแพงแก้ว พระอุโบสถด้านทิศเหนือเป็นเจดีย์ที่งดงามย่อเหลี่ยมทรงจอมแหที่หาชมได้ยาก มีที่เหมือนกันอีกแห่งที่หน้าพระอุโบสถวัดชนะสงคราม

ติดกับโรงเรียนสตรีวัดระฆังจะเห็นตึกโบราณขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ที่นี่คือศาลาการเปรียญ แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานอะไรเป็นทางการ

ส่วนตำหนักแดงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยเสด็จมาประทับนั่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น อยู่ที่คณะ 2 เพิ่งปรับปรุงใหม่ แต่ก็รักษารูปแบบเดิมไว้

เดินออกจากวัดไปทางวังหลังก็จะพบภัทราวดีเธียเตอร์ ซึ่งขณะนี้ปิดซ่อมบำรุง กำแพงด้านหนึ่งมีภาพเขียนสวยงามจึงถ่ายภาพมาให้ดู

อยากช็อปปิ้งสินค้ามือ 2 เดินต่อไปอีก จะมีสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 โดยมากเป็นรองเท้าและเสื้อผ้าให้เลือก ถูกใจผู้ที่นิยมแบบนี้ก็แล้วกัน คือแบบดี ราคาพอสมควร เปิดขายทุกวัน แต่วันอาทิตย์ปิดเร็ว สักหน่อย

ไปวัดระฆังเข้าวังหลังไม่ผิดหวัง ไหว้พระ ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ชมโบราณสถาน หาอาหารรับประทาน ได้ของถูกใจติดมือมาฝากญาติมิตร เพื่อนสนิทด้วย