posttoday

บทธรรมพิเศษน้อมอุทิศถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชฯ(ธรรมบรรยาย ณ นครมุมไบ๒๓ ต.ค. ๒๕๕๖) (ตอน ๗)

27 พฤศจิกายน 2556

การรู้แจ้งการมีปัญญารู้แจ้งอันหมดจดที่เกิดขึ้น คือ การเห็นสภาพของนามรูปหรือโลกนี้ จึงเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

การรู้แจ้งการมีปัญญารู้แจ้งอันหมดจดที่เกิดขึ้น คือ การเห็นสภาพของนามรูปหรือโลกนี้ จึงเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นวิธีการปฏิบัติที่เราเรียกว่า การเจริญวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณจึงเป็นกระบวนการศึกษาปฏิบัติที่ถูกสั่งสอนขึ้นในพระพุทธศาสนา ที่บุคคลใดๆ ก็แล้วแต่ ที่ต้องการถึงความรู้แจ้งในโลกนี้... ต้องการรู้แจ้งในอริยสัจ... ก็ต้องใช้หลักคำสั่งสอนในกระบวนการนี้มาพัฒนาจิต เพื่อการรู้แจ้งโลกหรือชีวิตนี้ด้วยหลักวิปัสสนาญาณ จนจิตรวมลงสู่ธาตุพุทธะ ที่สามารถดับความทุกข์ได้สิ้นไป (พระนิพพาน)

ฉะนั้นกระบวนการวิปัสสนาญาณตามที่กล่าวมาโดยสรุป แท้จริงก็คือหลักปฏิบัติทางสายกลาง ที่ปฏิบัติไปบนเส้นทางอริยมรรคอันมีองค์ธรรม ๘ ประการนั่นเอง แสดงว่า อริยมรรคอันมีองค์ธรรม ๘ ประการนี้เอง คือ กระบวนการวิปัสสนาญาณเพื่อการพัฒนาจิตจนเกิดญาณทัศนวิสุทธิ เห็นแจ้งในนามรูปหรือชีวิตหรือโลกนี้อย่างสิ้นเชิง เป็นการเห็นแจ้งตามหลักอริยสัจ ซึ่งการเห็นแจ้งนี้สามารถดับทุกข์ได้จริงในผู้ปฏิบัติที่เห็นแจ้งจริงตามกระบวนการวิปัสสนาญาณนั้น...

พระพุทธศาสนาจึงเน้นการศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิชชาหรือความรู้ การเข้าถึงพระพุทธศาสนาจึงต้องเข้าถึงด้วยการศึกษาและปฏิบัติ ส่วนการเรียกร้องวิงวอน ติดสินบนด้วยวัตถุล้ำค่ามากมาย หรือแม้แต่การท่องบ่นสวดมนต์ได้มากมาย แต่หากขาดการศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในบทสวดนั้นๆ ก็ย่อมที่ยากจะเข้าถึงพระพุทธศาสนา แสดงว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้เข้าถึงด้วยการท่องบ่นจดจำเพียงอย่างเดียว พระพุทธศาสนาไม่ได้เข้าถึงโดยการแค่เรียกร้องวิงวอนหรือประกาศตนด้วยคำพูด แต่พระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นเข้าถึงด้วยการประพฤติปฏิบัติตรงตามหลักของอริยมรรคองค์ธรรม ๘ ประการ ที่ย่อเหลือไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา

แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่วิชาการหรือวิทยานิพนธ์แบบโลกๆ ไม่ใช่วิชาศิลปะแบบโลกียวิสัยที่ใครๆ จะมาศึกษามาหยิบมาอ่านมาเรียน... หากขาดการศึกษาปฏิบัติที่ถูกธรรมวิธี ด้วย... พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพลังจิต ต้องเรียนรู้เรื่องของจิต เพื่อพัฒนาจิตไปสู่ปริสุทธิจิต สู่ฐานอริยมโน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้จิตนั้นมีศรัทธา... อันเป็นความเชื่อในการกระทำอย่างมีความรู้ความเข้าใจในความจริงแท้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งในรูปกรรมนิยาม...ธรรมนิยาม

ความศรัทธา จึงต้องเกิดขึ้นอย่างมีความรู้ความเข้าใจจนเกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าขององค์แห่งความศรัทธานั้น ได้แก่ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ การรู้คุณและเข้าถึงค่าของพุทธะ...ธัมมะ...สังฆะ จึงนำมาสู่ความศรัทธาที่เป็นพลังที่จะนำไปสู่การศึกษาปฏิบัติให้ได้ผล ถ้าขาดความศรัทธาเราจะไม่สามารถนำสู่การศึกษาปฏิบัติได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)