posttoday

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสร็จทอดผ้าพระกฐิน

17 พฤศจิกายน 2556

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพร้อมด้วยท่านผู้หญิง ม.จ.พันธุ์สวลี กิติยากร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพร้อมด้วยท่านผู้หญิง ม.จ.พันธุ์สวลี กิติยากร บำเพ็ญพระกุศลทอดผ้าพระกฐินพระราชทานวัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา วันที่ 16-17 พ.ย. 2556 พร้อมกับทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนวันอาทิตย์และกุฏิสงฆ์ ในโอกาสเดียวกันทางคณะกรรมการได้จัดฉลอง 30 ปี แห่งการตั้งวัดด้วย

เสด็จครั้งที่ 3

การเสด็จของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ นับเป็นการเสด็จครั้งที่ 3 หลังจากเสด็จยกช่อฟ้าอุโบสถวัดนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2539 พร้อมกับทรงประกอบพิธีทอดผ้าพระกฐินพระราชทานในคราวเดียวกัน ก่อนหน้านั้นวันที่ 22 พ.ค. 2537 เคยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาที่วัดนี้ครั้งหนึ่ง

นอกเหนือจากนี้ทางวัดยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถด้วยพระองค์เอง ในคราวเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่สหรัฐอเมริกา และเสด็จพระราชดำเนินเยือนซานฟรานซิสโก เพื่อรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสตรีดีเด่นแห่งปี เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2536

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสร็จทอดผ้าพระกฐิน

 

ในบริเวณวัดจึงมีต้นมณฑาที่ออกดอกสะพรั่ง เป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูก และต้นไม้อื่นๆ ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ท่านผู้หญิง ม.จ.พันธุ์สวลี กิติยากร และพระราชวงศ์ ทรงปลูก พร้อมทั้งผู้มีเกียรติชาวไทยหลายท่าน เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิง ปลูกไว้ด้วย

รับพระเถระหลายรูป

วัดแห่งนี้ยังมีเรื่องประหลาดใจให้เห็น นั่นคือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม ที่ไม่ยอมออกนอกประเทศไทย แต่เจาะจงมาที่วัดแห่งนี้ และปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกด้วย ในเรื่องนี้เจ้าคุณพระวิเทศธรรมกวี ซึ่งเคารพนับถือในสมเด็จวัดชนะยิ่งนัก บอกว่า เจ้าประคุณสมเด็จรับนิมนต์มาเป็นประธานสงฆ์ในงานวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ วันที่ 25 พ.ค. 2536 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางศิลาฤกษ์

ต้นไม้ที่ปลูกโดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปปัจจุบันก็มีเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะได้รับนิมนต์มาเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2540

พญาครุฑินทรีย์

วัดพุทธานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่เมืองฟรีมอนต์ ซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถึงวันนี้มีอายุครบ 30 ปี เป็นสถานที่แสดงความเป็นไทย เช่น พระอุโบสถจตุรมุข 2 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปิดทองอร่ามตา หน้าบันด้านหน้าอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ สก ประดับไว้ ทิศเหนือเป็นรูปสลักพญาครุฑินทรีย์ (ตามแนวคิดพระวิเทศธรรมกวี ให้สร้างครุฑสัญลักษณ์ไทยผสมกับนกอินทรีสัญลักษณ์อเมริกา จึงมีแห่งเดียวในโลก) และทิศใต้เป็นปราสาททอง โดยมีพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว เฝ้าทั้งสองด้านพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถได้ประดิษฐานพระพุทธรูปแบบสุโขทัยงามสง่ามีนามว่า พระพุทธวโรสุโขทัย ไตรโลกนาถประสาธน์พร พุทธานุสรณ์สถิต หน้าตักกว้าง 39 นิ้ว ที่ผ่านการเททองตามพิธีโบราณ อธิษฐานจิตโดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ และพระเกจิอาจารย์ชั้นนำของไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสร็จทอดผ้าพระกฐิน

 

กว่าจะมีวันนี้

แต่กว่าจะถึงปีที่ 30 พ.ศ. 2556 สมเกียรติ พงษ์กันทา กรรมการทรัสตีวัดพุทธานุสรณ์ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ จ.ชัยนาท เล่าถึงการตั้งวัดว่า เริ่มมาจากชุมชนไทยในซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการย้ายวัดที่อยู่ในเบิร์กเลย์ไปสร้างในพื้นที่ใหม่ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะเพราะคับแคบขยับขยายไม่ได้ ไม่เหมาะกับสภาพสังคมไทยที่มีการขยายตัว แต่เสียงส่วนใหญ่สู้อำนาจของผู้บริหารสูงสุดคือเจ้าอาวาสและเหรัญญิกไม่ได้ จึงได้แยกตัวมาประชุมหารือกัน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2526 แล้วลงมติตั้งองค์กรชื่อ พุทธานุสรณ์สมาคม ขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัดพุทธานุสรณ์ในปัจจุบัน

วัดแห่งแรกเป็นบ้านเช่าที่ Sunnyvale โดยพระมหาประเสริฐ กวิสฺสโร (พระวิเทศธรรมกวี) เป็นประธานสงฆ์ ต่อมาจึงย้ายมาตั้งในปัจจุบัน ฉัตรชัย ชมพูพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวไว้ในหนังสือที่ระลึก 30 ปี ว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งด้านกำลังทรัพย์และแรงงาน แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ของท่านเจ้าอาวาสและคณะกรรมการ รวมทั้งความช่วยเหลือจากสมาชิกของวัดที่จะสร้างวัดให้เป็นสถานที่ถาวรและการมีส่วนร่วมของคนไทย โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน วัดจึงได้รับการพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นทุกวันนี้

เจ้าอาวาสและพระธรรมทูตทำงานหนัก

ฉัตรชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร ได้กล่าวชื่นชมเจ้าอาวาสว่าทำงานหนัก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีเมตตาต้อนรับทุกคนที่มาวัด บ่อยครั้งท่านให้เวลากับผู้มาเยี่ยมวัดจนเกือบไม่มีเวลาฉันเพล

เรื่องนี้ผู้เขียนยืนยันว่าไม่ผิดจากความจริงแม้แต่น้อย เพราะเจ้าคุณประเสริฐตั้งแต่เป็นพระมหาเปรียญเรียนหนังสือที่อินเดีย หรืออยู่ที่วัดในเมืองไทยเป็นพระทำงาน เดินไปหางาน โดยไม่เลือกงาน แม้กระทั่งล้างห้องน้ำท่านก็ทำโดยไม่รังเกียจ เมื่อผู้เขียนไปเยี่ยมที่วัด พ.ศ. 2552 และ 2556 เห็นท่านรับแขก เมตตาญาติโยมในพระอุโบสถจนไม่มีเวลาฉันเพล พอปลีกเวลาได้ จึงรีบฉันเพลแล้วมาต้อนรับญาติโยมต่อในช่วงบ่ายจนถึงค่ำ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลเสมาธรรมจักรในฐานะผู้ทำความดีในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2536

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสร็จทอดผ้าพระกฐิน

 

ท่านเรียนจบเปรียญธรรม 7 ประโยค ได้ปริญญาโทจาก Magadh University อินเดีย ปัจจุบันเป็นพระเถระที่ทำหน้าที่บริหารสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งรองประธานรูปที่ 3

ได้บริหารวัดพุทธานุสรณ์เพื่อพระสงฆ์และชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา พระธรรมทูตที่วัดแห่งนี้มีจำนวน 67 รูป จึงไม่เคยมีเวลาว่าง ทำงานหนักมาก ตั้งแต่เช้ามืดเวลา 05.00 น. จนถึงเวลาจำวัด ประมาณ 34 ทุ่ม เมื่อเทียบกับพระสงฆ์ในเมืองไทยแล้ว การอยู่สหรัฐอเมริกาลำบาก งานหนักกว่ากันเยอะเลย

พระแต่ละรูปตื่นจำวัด เวลา 05.00 น. สวดมนต์ทำวัตรเช้า ปฏิบัติสมาธิ แผ่เมตตา จบภารกิจในพระอุโบสถ พระแต่ละรูปจึงแยกย้ายทำงานโดยไม่ต้องสั่ง บางรูปกวาดลานวัด เก็บใบไม้ที่หล่นตามโคนต้น รดน้ำสนามหญ้า ถูพื้นระเบียงพระอุโบสถโดยรอบ ยกเว้นภายในพระอุโบสถเพราะได้ปูพรมไว้แล้วเท่านั้น

บริเวณวัดจึงสะอาดทุกวันจากฝีมือพระคุณเจ้าและญาติโยม รวมทั้งครูอาสาที่พักอาศัยในวัด

เมื่อถึงเวลา 08.00 น.เศษ พระภิกษุทั้งหมดก็พร้อมกันที่โต๊ะอาหารเพื่อฉันเช้าที่ญาติโยมตระเตรียมไว้ ก่อนฉันอาหารทั้งเช้าและเพล พระคุณเจ้าจะกล่าวคำบูชาข้าวพระ พิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ (ปฏิสังขาโย) ฉันข้าวเสร็จอนุโมทนา ญาติโยมที่นำอาหารมาถวายกรวดน้ำ เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมชาวพุทธไว้ทุกรูปแบบ

ศูนย์รวมชาวไทย

ฉันเช้าเสร็จแล้วก็ไปทำงานที่ค้างไว้ หรือดูแลการศึกษาของเด็กและต้อนรับญาติโยมที่มาวัด โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคฤดูร้อนเป็นช่วงที่วัดคึกคัก เด็กๆ พร้อมผู้ปกครองเต็มวัด เพราะผู้ปกครองจะนำบุตรหลานของตนมาเรียนภาษาไทย วัฒนธรรมไทย และประเพณีไทย โดยมีครูอาสาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยสอน จนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนวัฒนธรรมไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง สามารถกล่าวได้ว่า ใครคิดถึงเมืองไทย ถ้ามาวัดนี้หายคิดถึงก็แล้วกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เวลาเพลของทุกวันเหมือนเป็นเวลานัดหมายของชุมชนชาวไทย ที่จะมาพร้อมกันด้วยการนำอาหารคาวหวานเพื่อถวายพระ และรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นการพบปะสังสรรค์กันแบบญาติมิตร โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง

เมื่อครั้งที่วัดยังเปิดบริการตลาดนัดและศูนย์อาหารในวันอาทิตย์ บริเวณวัดเกือบไม่มีที่ว่าง เต็มไปด้วยผู้คนทุกชาติทุกภาษามาหาอาหารไทยรับประทานในราคาที่ไม่แพง บางคนก็มาทำบุญถวายสังฆทาน สวดมนต์ฟังเทศน์ฟังธรรมในพระอุโบสถ อย่างพร้อมเพรียงทั้งคนหนุ่มสาว

เมื่อถึงเวลาค่ำ พระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์เย็นโดยมีญาติโยมร่วมด้วย เสร็จแล้วปฏิบัติสมาธิเจริญเมตตา จากนั้นแยกย้ายกันกลับที่พักด้วยความสุขใจ

พระสงฆ์ประจำวัดพุทธานุสรณ์ ตั้งแต่ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2527 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2556 สลับสับเปลี่ยนมาประจำ 13 ปี รวมกันแล้ว 51 รูป ใน พ.ศ. 2556 ประกอบด้วย พระวิเทศธรรมกวี พระมหาอนันต์ สิริคุตฺโต พระมหาสงกรานต์ คณิสฺสโร พระมหาโกศล วชิรปญฺโญ พระมหานิกร ธมฺมสาโร และพระมหานิวัตร ปฏิภาณิสฺสโร (ลาสิกขาเดือน ก.ค. 2556)

ภาพอย่างนี้มีให้เห็นน้อยมากในเมืองไทยในปัจจุบัน

บางครอบครัวมาวัดจนติด จนกระทั่งบอกว่าวัดคือบ้านหลังที่ 2 ในหนังสือ 30 ปี วัดพุทธานุสรณ์ คุณสุชาดา (หยก) จิวะจินดา บอกว่าครอบครัวมาวัดพุทธานุสรณ์ ตั้งแต่วัดยังอยู่ที่ Sunnyvale, CA เมื่อ 29 ปีที่แล้ว โดยบอกว่าวัดคือบ้านหลังที่ 2 ของพวกเขา การมาวัดและได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนไทยในต่างแดนทำให้มีเพื่อนที่เสมือนพี่น้อง จึงไม่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ได้รับความช่วยเหลือและอบอุ่นไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ตั้งแต่งานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ และพิธีการต่างๆ

หนังสือ 30 ปี

หนังสือ 30 ปี วัดพุทธานุสรณ์ ที่แจกแก่ผู้ร่วมงานทอดกฐินพระราชทาน และฉลองวัดในวันที่ 1617 พ.ย. ท่านผู้หญิง ม.จ.พันธุ์สวลี กิติยากร ทรงประพันธ์บทความรำลึกถึงความหลังที่มีต่อวัดพุทธานุสรณ์ และบอกเล่าประวัติศาสตร์บางอย่างไว้ด้วย ขณะที่ผู้ก่อตั้งวัดหลายท่านเขียนถึงอดีตในหลายเรื่องหลายประเด็น อ่านแล้วได้คำตอบว่า ทำไมวัดนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมชาวไทยในซานฟรานซิสโก

บางท่านเขียนถึงความรักและความประทับใจที่มีต่อวัดที่ยากจะลืมเลือน โดยบอกว่าวัดแห่งนี้ได้ปลูกฝังความเป็นไทยให้แก่ลูกหลานชาวไทยที่ไม่มีโอกาสมาศึกษาความเป็นไทยในแผ่นดินเกิดของพ่อแม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความเด่นชัดเช่นนี้พิสูจน์ได้ในวันสำคัญวันหนึ่งของผู้ปกครองและนักเรียนที่เป็นลูกหลานชาวไทย คือวัน Classical Night