posttoday

วิถีจิตวิถีธรรมในสติปัฏฐาน...ตามแนวอานาปานสติ(ตอน ๑๗)

13 พฤศจิกายน 2556

ยิ่งรู้เท่าไหร่... รู้เท่าไหร่ มีปัญญาเท่าไหร่ จิตมีความตั้งมั่นเท่านั้น...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ยิ่งรู้เท่าไหร่... รู้เท่าไหร่ มีปัญญาเท่าไหร่ จิตมีความตั้งมั่นเท่านั้น...

ตรงนี้ สมถะและวิปัสสนา มันอบรมไปพร้อมๆ กัน

... จนเราสามารถปรับจิตของเราให้ตั้งมั่นอย่างมีความรู้ อยู่ในความตั้งมั่นนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง

...จนสามารถที่จะเปลื้องอารมณ์หรือเปลื้องรูปทั้งหลายออกจากการยึดถือแห่งจิต ให้จิตนั้นไม่ไปยึดติดอยู่ในอารมณ์นั้น

...จนจิตนั้นเกิดเอกภาวะขึ้น อันเป็นอำนาจแห่งพุทธะในเอกภาวะนั้น เป็นตัวรู้ที่เกิดขึ้นในอำนาจจิตนั้น สามารถเห็นแจ้งจริงในสภาพธรรมที่ก่อเกิดขึ้นที่จิตมีความเกี่ยวเนื่อง คือ ธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้นแต่จิต เพราะจิตนั้นประกอบด้วยสภาพธรรมที่เกิดจากความปรุงแต่ง มันก็ก่อเกิดสภาพธรรมขึ้น

บัดนี้ จิตมันมีตัวรู้เกิดขึ้น มันก็เห็นสภาพธรรมที่ก่อเกิดขึ้น เห็นแจ้งจริงว่า... ธรรมทั้งหลายนั้น เป็นอนิจจสัญญา เป็นทุกขสัญญา หรือเป็นอนัตตสัญญา จะเห็นแจ้งจริงในลักษณะธรรมอันใดอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติว่าเป็นตัวจริงๆ เป็นตัวจริงแท้ในธรรมชาติว่ามันต้องเป็นเช่นนี้ มันก็ต้องเห็นตรงนั้น

การเห็นสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นความประณีตขั้นละเอียดสูงสุด จนจิตนั้นมีอำนาจการหยั่งรู้ลงไปเห็นแจ้งในสภาวธรรมนั้นๆ และมีความหมดจดในการรู้นั้น หมดจด ละเอียด ประณีต จนเกิดอำนาจอันหนึ่งเกิดขึ้น เป็นผลจากการรู้แจ้งจริง สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่า นิพพิทา

นิพพิทาเกิดขึ้นให้มีความเบื่อหน่ายปรากฏเป็นลักษณะธรรมในจิต จนเกิดความรู้สึกดังกล่าว เหมือนคนที่มันเดินทางไกลมายาวนาน และแบกถัง แบกไปมันก็หนัก หนักก็แบก รู้ว่าทุกข์ก็ต้องแบก ที่แบกคิดว่ามีประโยชน์ วันหนึ่งพอรู้ว่าไม่มีประโยชน์ขึ้นมา มันก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาเพราะรู้ เกิดความปลงใจเห็นแจ้งจริงก็ให้เบื่อหน่ายในสิ่งที่ถือมายาวนาน นึกว่ามีประโยชน์ เป็นการเบื่อหน่ายที่พร้อมจะวางหรือให้จางคลายออก เป็นการวางและจางคลายออกจากการยึดถือจากความยินดี จนเกิดการดับสนิทในความยินดีนั้น เพราะรู้ว่าไม่มีคุณ มีแต่โทษไม่ได้เป็นประโยชน์ใดๆ เลย มันรู้แจ้งจริงในสภาพธรรมที่เห็นนั้นจึงวางทิ้งอย่างสิ้นเชิง เป็นการสลัดการเกาะเกี่ยวยึดถือกับสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นเขา เรียกว่า สังขาร สังขารที่เกิดขึ้นนั้น เรียกว่า อัตตาตัวตน อัตตาตัวตนดังกล่าว คือ รูปนามขันธ์ สิ่งที่เป็นตัวทุกข์ ก็คือ อุปาทาน ยึดถือในรูปนามขันธ์ ๕ หรืออัตตาตัวตน หรือสังขารนี่แหละเป็นตัวทุกข์

มันวางการยึดถือ ที่ยึดถือสภาวะรูปนาม หรือสังขาร หรืออัตตานี้ อย่างสิ้นเชิง...

เป็นการสลัดออกมาจากความไม่รู้ที่เข้าไปยึดถือ เพราะเห็นแจ้งจริงจึงรู้ จึงวางทิ้ง...

(อ่านต่อฉบับหน้า)