posttoday

วิถีจิตวิถีธรรม ในสติปัฏฐาน...ตามแนวอานาปานสติ (ตอน ๑๐)

01 พฤศจิกายน 2556

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

การทำงานทางจิตมันต้องมีการตั้งใจให้มั่นคง ดำรงอยู่อย่างมีสัจจะ เรียกว่ามีสัตยาธิษฐาน โดยมีสัจจะเป็นธงชัย สัจจะคือสิ่งที่ตั้งขึ้นอันเป็นความจริงที่ให้เกิดกุศลธรรม กุศลจิต ความจริงนี้ให้เกิดความเป็นกุศล ความจริงนี้เป็นสัจจะ เราก็ตั้งขึ้น เรียกว่า ตั้งเจตนาเพื่อนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติบูชา

เบื้องต้นของอานาปานสติ เมื่อเราพร้อมทั้งกายทั้งจิตแล้ว เราก็ตรวจดูอีกทีว่า จิตเราพร้อมอยู่ในฐานแห่งกายนี้ และกายเราก็รวมอยู่กับจิตนี้อย่างเป็นหนึ่ง มีความเป็นเอกภาพ ด้วยจะเห็นว่ากายนี้ไม่ซัดส่ายโดยการบีบเค้นใดๆ ให้เกิดความทรมานเจ็บปวด หรือไม่พร้อมที่จะทำความดี มีความรู้ชอบในการกระทำ ขณะกำหนดการนั่ง ก็รู้ว่านั่งอยู่ หรือจิตนี้ ไม่แส่ส่ายไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ จนยากที่จะควบคุม และไม่เข้าไปเกี่ยวเนื่องในอารมณ์ทั้งปวงที่ทำให้เกิดความรัก ความชัง หรือการลังเลสงสัยในการประพฤติปฏิบัตินั้นไม่มี การรวมจิตนิ่งสงบอยู่ ทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ และจิตนั้นมีสติทำให้เกิดความสว่าง มีความเบิกโพลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เป็นความหดหู่หรือเบื่อหน่าย หรือมึนงงหลับใหลอยู่ เราปรับจิตให้มีความตื่นอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับสีหราชที่จะล่าเนื้อ พร้อมตลอดที่จะจับเหยื่อทั้งหลายที่ผ่านด้านหน้า

สติกำกับควบคุมจิตเช่นเดียวกัน ต้องพร้อมเสมอที่จะกำหนดรู้อยู่เฉพาะเบื้องหน้า ไม่ว่าอะไรผ่านเข้ามาต้องพร้อมที่จะจับดูสิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้นแล้ว รู้สิ่งนั้นแล้ว ก็ให้ละวางคลายออกไม่ว่ารักหรือชัง จิตนั้นก็จะไม่ซัดส่ายไปติดในอารมณ์ใดๆ จนเตลิดเปิดเปิง ไร้ความเป็นเอกภาพ ดังนั้นเมื่อสติควบคุมจิตได้ดีแล้ว จิตก็จะรวมนิ่งอยู่ในกาย ให้กายจิตนั้นมีความพร้อมที่จะเจริญภาวนาไปตามลำดับแห่งกรรมฐานที่เราตั้งอธิษฐานขึ้น เพื่อเจริญอานาปานสติกรรมฐานตามลำดับไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)