posttoday

การรู้แจ้งในความโงธัมมะที่ควรศึกษา!! (ตอน ๑๕)

09 ตุลาคม 2556

ทบทวนนะ ขั้นที่หนึ่ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ยาว ลมหายใจออก ยาว เริ่มต้นนี่เข้ายาว ออกยาว เราตั้งกายตรงดำรงสติให้มั่น มีปัญญารู้ในการกระทำ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ทบทวนนะ ขั้นที่หนึ่ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ยาว ลมหายใจออก ยาว เริ่มต้นนี่เข้ายาว ออกยาว เราตั้งกายตรงดำรงสติให้มั่น มีปัญญารู้ในการกระทำ รู้ชอบการกระทำอยู่ ลมหายใจเข้ายาว ออกยาว จิตเรารวมตัว รวมตัว เป็นสมาธิขึ้น ลมก็ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ลมก็จะปรับสภาพ ละเอียด และสั้นลง การกำหนดรู้ รู้หายใจที่เข้าสั้น ออกสั้น ตรงนี้มีความเป็นละเอียดมากกว่าเบื้องต้นที่หายใจเข้ายาวออกยาว ความมีสมาธิก็มากขึ้น

พอเข้าขั้นที่สามนี้ รู้กายทั้งหมด ที่เรียกในภาษาบาลีในอานาปานสติสูตรว่า รู้กายสังขาร ภาษาพูดก็คือ รู้กายลม กายลมก็คือ ลมที่แผ่เข้าไปในรูปนี้ทั้งหมด รู้ทั่วสรรพางค์กาย ด้วยกองลมที่แผ่ลงไปทั้งหมดเมื่อหายใจเข้าและเมื่อหายใจออก โดยแนววิถีลมก็คือ จากปากโพรงจมูกไปที่หทัย และไปสิ้นที่นาภีสะดือ นั่นคือ หายใจเข้า และเมื่อหายใจออก จุดเริ่มต้นก็ที่นาภี ตรงกลางก็มาที่หทัย และจุดสุดท้าย คือ ที่ปากโพรงจมูก นั่นคือหายใจออก

ท่านกล่าวว่า ให้รู้กองลมทั้งหมด คือ ให้กำหนดรู้ลมเข้าออกตามวิถีที่กล่าวมา ๓ ตำแหน่งนั้น เรียกว่า รู้กายสังขาร คือ เมื่อลมเข้าไป มันก็จะปรุงแต่งกาย เราก็รู้สภาพลมที่ไหลเข้าไป ตามแนวยาว เบื้องต้น ต้นลม กลางลม ปลายลม ทั้งเข้า ทั้งออก ก็จะเห็นสภาพแห่งลมที่ปรุงสภาพกาย เรียกว่า กายสังขาร

ตรงนี้สมาธิจะละเอียดมากขึ้น มากขึ้น และที่สุดแล้ว ก็เข้าถึงขั้นที่สี่ พอละเอียดมากขึ้น มากขึ้น จากหนึ่ง จากสอง มาสาม ลมที่ไหลเข้า ไหลออก ก็จะละเอียดเข้าไปอีก ความละเอียดดังกล่าวทำให้จิตนั้นละเอียดยิ่งขึ้น จนที่สุดระงับกายสังขาร ดุจบางครั้งนี่เหมือนเราไม่ได้นั่งหายใจนะ ถ้าละเอียดจริงๆ แต่จริงๆ ลมนั้น ยังไหลเข้าไหลออกอยู่ แต่ท่านกล่าวไว้ว่า ปล่อยให้เป็นไปตามปกติธรรมดา อย่าไปเกร็งตัว อย่าไปบังคับลม ถ้าเกร็งตัว บังคับลม ก็จะให้เกิดการเกร็งกาย พอเกร็งกาย ก็หายใจฮึดฮัด เป็นการปลุกตัวขึ้นมา ทำให้เกิดการเอะอะตึงตังขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีปฏิบัติในอานาปานสติ อานาปานสตินั้นสงบระงับ ละเอียดยิ่งขึ้น จนระงับกายสังขารครบ ๔ ขั้น ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดของอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น เป็น ๔ ขั้นตอนแรก

จริงๆ แล้วแค่เพียงเบื้องต้นตรงนี้ ถ้าเราสามารถทำได้ ก็จะเห็นความแจ้งจริงในธรรมดุจดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้กับอชิตมานพ ซึ่งจะสำเร็จด้วยการต้องประพฤติปฏิบัติเจริญสติอันเป็นเครื่องกลั่นกรองกระแส กันความอยาก ส่วนการดับนั้น ดับด้วยปัญญาที่เกิดจากญาณรู้ อันเกิดขึ้นจากสติที่บริสุทธิ์ รู้แจ้งเห็นจริงในความเกิดความดับ และเมื่อวิญญาณดับ รูปนามดับ เมื่อนามรูปดับ ความสิ้นทุกข์ก็ย่อมเกิดขึ้นตามวิถีแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรม

แต่ในทางปฏิบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สองนั้น ให้กำหนดไปตามที่เป็น คือเป็นโดยธรรมชาติของลมหายใจเข้า หายใจออก ทั้งยาวและสั้น ส่วนในขั้นที่สี่ที่กล่าวว่าระงับกายสังขารนั้น เป็นผลที่ละเอียดที่เกิดจากขั้นที่สาม ความสำคัญจึงอยู่ในขั้นที่สามที่กำหนดรู้กองลมทั้งหมด รู้กายสังขาร ทั้งลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ท่านกล่าวว่า ขั้นที่สามนี้มีความสำคัญ ในขั้นที่สามนั้น ในเบื้องต้นท่านให้วิถีการปฏิบัติว่า อาจจะต้องคอยตามลมเข้า ตามลมออก ตามลมที่เข้าก็คือ ส่งจิตจากนาสิก (จมูก) ไปอุระ หรือหทัย แล้วไปนาภี เรียกว่าตามดูลม ขาออกก็จากนาภี มาอุระ และออกนาสิก ซึ่งการตามดูลมนั้น จิตจะไม่สงบ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้กำหนดไว้จุดหนึ่งเพียงจุดเดียว ตามตำราในปฏิสัมภิทามรรคและวิสุทธิมรรค คือท่านสอนให้เฝ้ากำหนดดูลมที่จุดกระทบลมที่ต้นทางเข้าและที่ปลายทางออก ที่ต้นทางเข้า คือที่ปากโพรงจมูก และที่ปลายทางออก ก็คือที่ปากโพรงจมูก ก็คือเป็นจุดจุดเดียว กำหนดรู้ลมจุดเดียวทั้งเข้าและออก ดังที่วัดเราก็สอนอยู่แล้วในการเจริญสติ

กำหนดจุดนั้น คือ จุดเฝ้าลม ฐานที่ ๑ ที่สอนในฐานจิต ๕ ฐาน ถ้าคนจมูกยาวก็ที่กระพุ้งของจมูก ถ้าคนจมูกสั้น ก็ที่ริมฝีปาก แต่ว่าจะบอกว่า ที่ไหนนั้น ก็สุดแท้แต่บุคคล คือ จะเป็นที่กระพุ้งจมูกก็ได้ ริมฝีปากบนก็ได้ อาตมามักจะเน้นให้ดูจุดสัมผัสลมเป็นที่ริมฝีปากด้านบนเป็นปกติ เพราะเราจมูกสั้น ไม่ยาวเหมือนทางยุโรปหรืออเมริกา ทางโน้นจมูกยาว จุดสัมผัสลมที่ดี ก็คือ ที่กระพุ้งของจมูก

และสังเกตดูว่าเมื่อลมหายใจเข้า ลมกระทบที่ไหนก่อน ถ้าต้องการตรวจสอบว่าจะเอาที่ไหนดี กระทบที่ไหนก็จุดๆ นั้น แต่ที่สอนอยู่ก็ที่ริมฝีปากบน เมื่อลมออก ก็กระทบที่นั่น ลมเข้าก็กระทบที่นั่น จุดที่ลมกระทบเมื่อเข้าและออกนั้น เรียกจุดนั้นว่า นิมิต

นิมิต แปลว่าที่กำหนดจิต เมื่อกำหนดไว้ที่กำหนดไว้ดังนี้ เมื่อหายใจเข้า ลมกระทบที่นิมิต คือที่กำหนดจิตให้รู้ เมื่อลมหายใจออกมากำหนดนิมิตที่กำหนดจิตก็ให้รู้ เมื่อให้จิตกำหนดรู้อยู่ในจุดนี้ รู้อยู่เสมอดังนี้ ก็ได้ชื่อว่าได้รู้กองลมทั้งหมด ท่านกล่าวว่าเปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ การมองกำหนดดูอยู่ที่ไม้ตรงที่ไม้เลื่อยอยู่ ก็จะเห็นไม้ที่ตรงนั้น เห็นเลื่อยที่ตรงนั้นด้วย กำหนดอยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ไม่ต้องดูเลื่อยทั้งหมดที่เสือกไปเสือกมาตามการเลื่อย ให้ดูที่จุดเดียวคือที่ไม้ตรงที่ถูก เลื่อยนั้นเป็นจุดเดียว เหมือนว่าได้เห็นทั้งหมด กำหนดจิตให้อยู่ตรงนั้นจุดเดียว เป็นเช่นนี้ นี่คือ การเจริญสติในเบื้องต้นในฐานแห่งกายานุปัสสนา หรือในหมวดแห่งอานาปานสติทั้ง ๔ ขั้นตอน ซึ่งการเจริญนั้นก็จะต้องใช้หลักธรรม ๕ ข้อ ที่สาธุชนต้องเรียนรู้ คือ

หนึ่ง ต้องมีอาตาปี หรืออาตาปะ ประกอบความเพียร หมายความว่า ตั้งใจไว้ว่าจะทำสมาธิเป็นเวลา เท่าไหร่ เมื่อไร ก็ต้องทำตามที่ตั้งใจไว้ รักษาสัจจะ คือความตั้งใจจริงเอาไว้ และทำให้ได้จริงตามที่กำหนดไว้ ไม่เหลวไหล เบื่อก็ต้องทนให้ครบตามที่ตั้งใจไว้ เรียกว่า มีความเพียร ความเพียรต้องมีสัจจะด้วย

องค์ธรรมที่สองที่ต้องรู้เข้าใจ ก็คือ มีสัมปชานะ ความรู้ตัว เป็นผู้มีความรู้อยู่เสมอ ไม่เผลอตัว เช่น นั่งอยู่ก็ต้องอยู่ก็รู้ว่านั่ง เดิน ยืน นอน ก็ต้องรู้ว่าเดิน ยืน นอน ไม่งั้นถ้าปล่อยอาการรู้ตัวก็จะหลับ หรือดับไปเสีย หรือปล่อยให้ตกใจวูบไป หรือสงบไป หรือหลับไป ถ้าเผลอตัว ขาดสัมปชานะ ไม่ถูกต้อง ต้องมีสัมปชานะ คือ ความรู้อยู่

(อ่านต่อฉบับหน้า)