posttoday

100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

29 กันยายน 2556

วันที่ 3 ต.ค. ของปีนี้ (2556) ถือเป็นวาระมหามงคลของพุทธศาสนจักรไทย ด้วยเป็นวันครบรอบ 100 ปีของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒฺโณ)

โดย...วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เครือข่ายพุทธิกา www.budnet.org

วันที่ 3 ต.ค. ของปีนี้ (2556) ถือเป็นวาระมหามงคลของพุทธศาสนจักรไทย ด้วยเป็นวันครบรอบ 100 ปีของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒฺโณ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ซึ่งตามพระบรมราชโองการสถาปนาว่าเป็น “ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล”

นับแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศาสนจักรไทยมีสมเด็จพระสังฆราช 19 องค์ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งได้รับพระราชทานสถาปนาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 ขณะเจริญพระชันษา 76 ปี

ถึงบัดนี้พระองค์เจริญพระชันษาครบ 100 ปี จึงนับได้ว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด และเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย

ในวาระอันเป็นมงคลยิ่งนี้ นอกเหนือจากการร่วมใจกันถวายพระพรแล้ว คงเป็นเรื่องดียิ่งหากบรรดาศาสนิกชนจะได้รับรู้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างทางธรรม ด้วยสิ่งที่ยิ่งกว่าการเจริญพระชนม์ยืนยาวถึงรอบศตวรรษ ก็คือพระจริยาวัตรอันเพียบพร้อมงดงาม พระอัจฉริยภาพ และพระกรณียกิจอีกอเนกอนันต์ที่ทรงปฏิบัติมาตลอดพระชนม์ชีพ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงถือกำเนิดที่บ้านปากแพรก ใกล้จุดบรรจบแม่น้ำแควน้อยแควใหญ่ เมืองกาญจนบุรี รับการศึกษาชั้นที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน บรรพชาที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ความเจริญในทางธรรมของสามเณรใหม่เริ่มฉายแววตั้งแต่พรรษาแรก ด้วยการจำกัณฑ์อริยทรัพย์ ๗ ประการได้ทั้งกัณฑ์ และคัดลอกทุกคำไว้ในสมุดส่วนตัว ด้วยลายมือตัวบรรจง ซึ่งยังคงได้รับการเก็บรักษามาจนทุกวันนี้

หลวงพ่อดี ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ท่วงทีความใฝ่ในธรรมก็เอ่ยปากชวนให้เรียนบาลี โดยส่งไปเรียนต่อที่วัดเสนหา เมืองนครปฐม แล้วไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ กระทั่งได้รับพระราชทานนามฉายา จากสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ว่า “สุวฑฺฒโน”

หลังอุปสมบทในปี 2476 พระมหาเจริญ สุวฒฺโน ใช้เวลา 8 ปี ก็จบเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งฝึกเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศสด้วยตนเอง กระทั่งสามารถเปิดห้องเรียนธรรมะที่เรียกว่า ธรรมะคลาส (Dhamma Class) สอนธรรมเป็นภาษาอังกฤษให้แก่ชาวต่างชาติ

ในด้านการปฏิบัติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเจริญ ก็ทรงฝึกปฏิบัติตนแบบพระกรรมฐานในเมือง โดยทรงสำรวมเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอยู่เป็นนิจ ทรงสวดมนต์ทำวัตรไม่เว้น แม้จะมีพระกรณียกิจมากมายเพียงใด ตอนค่ำก็ยังทรงต้องนั่งกรรมฐาน หากยังไม่ได้นั่งกรรมฐาน จะรับสั่งว่า “ยังทำไม่ครบ”

และเมื่อมีโอกาสก็จะเสด็จไปประทับตามสำนักวัดป่า เพื่อกราบพระเถราจารย์ผู้ทรงภูมิธรรม และร่วมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานกับสหธรรมิกของพระองค์อยู่เป็นนิจ

เมื่อทราบว่ามีพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมอยู่ที่ใดจะทรงหาโอกาสเสด็จไปสนทนาธรรมด้วย แม้เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว วัตรปฏิบัตินี้ก็ยังดำเนินอยู่ดังเดิม

ช่วงหลังออกพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเสด็จวัดป่าเป็นประจำทุกปี จนเป็นที่เล่าต่อกันมาว่าพระอริยะบางรูปได้บอกกับคนกรุงเทพฯ ที่ดั้นด้นไปกราบนมัสการท่านว่าไม่จำเป็นต้องลำบากมาไกลถึงนี่ก็ได้

“หากอยากกราบพระดี ให้ไปกราบสมเด็จฯ วัดบวรฯ”

ในปี 2499 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช พระโศภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และท่านก็ทำหน้าที่พระพี่เลี้ยงได้อย่างเรียบร้อยสมบูรณ์

ต่อมาในปี 2504 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารรูปที่ 6 และในปี 2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้ ซึ่งเป็นราชทินนามพิเศษที่พระราชทานแด่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น และนับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชทานสถาปนา พระญาณสังวร (สุก) เมื่อปี พ.ศ. 2359 ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระเถระรูปใดได้รับพระราชทานสถาปนาตำแหน่ง สมเด็จพระญาณสังวร ในช่วง 150 กว่าปีที่ผ่านมา

และในปี 2532 สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ก็ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ในวันที่ 21 เม.ย. และยังทรงใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวรเช่นเดิม ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ได้รับพระราชทานราชทินนามพิเศษเฉพาะพระองค์ มิได้ใช้พระนามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณดังที่เคยปฏิบัติสืบกันมา

ความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สมถะ เป็นคุณธรรมที่ทรงถือปฏิบัติมาตลอด แม้เมื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทรงใช้จีวรส่วนพระองค์อย่างคุ้มค่า เมื่อจีวรที่ใช้อยู่เป็นประจำเก่าขาด ลูกศิษย์นำผืนใหม่มาให้ทรงเปลี่ยน ยังทรงเรียกหาผืนเดิม แล้วทรงปะชุนจนนำมาใช้งานได้อีก

เวลาทรงเขียนหนังสือ ดินสอแต่ละแท่งของพระองค์ ทรงใช้จนสั้นจับไม่ได้ ต้องใช้ด้ามสวมต่อ เรื่องฉัน แต่เดิมพระองค์ฉัน ๒ มื้อเหมือนพระทั่วไป จนเมื่อได้ไปปฏิบัติกรรมฐานกับพระป่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเปลี่ยนมาฉันมื้อเดียวเช่นเดียวกับพระป่า

เตียงที่พระองค์ทรงใช้บรรทมเป็นเตียงโซฟา ฟูกที่นอนเป็นฟางธรรมดา ซึ่งพระองค์จะบรรทมคืนละประมาณ 34 ชั่วโมง ในท่าตะแคง และบรรทมแบบมีสติ

กุฏิไม่ประดับประดาอะไรให้สวยงาม เน้นความเรียบง่ายที่สุด เคยมีคนพยายามหาข้าวของ เฟอร์นิเจอร์สวยๆ หรูๆ มาถวาย แต่พระองค์ไม่ทรงนิยมสะสมวัตถุ จะใช้แบบธรรมดาๆ และทรงใช้เท่าที่จำเป็น ดังที่ศิษย์ฆราวาสท่านหนึ่งเล่าว่า “ท่านบอกว่า เป็นพระไม่ควรใช้ของหรูหราฟุ่มเฟือย”

ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาทั้งในทางปฏิบัติและปริยัติ ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึงและลึกซึ้ง กับการทรงงานอย่างไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเปล่า ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นพระเปรียญ ทำให้มีงานพระนิพนธ์ในพระองค์นับร้อยๆ ปก ที่ตีพิมพ์เผยแพร่นับแสนฉบับขึ้นไป ได้แก่ ชีวิตนี้น้อยนัก วิธีสร้างบุญบารมี

และเล่มสำคัญๆ อาทิ โสฬสปัญญา ทศบารมี ทศพิธราชธรรม 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเลิศล้ำ ธรรมประดับใจ หลักพุทธศาสนา สัมมาทิฏฐิ

พระลูกศิษย์ก้นกุฏิเล่าถึงพระองค์ว่า ยังไม่เคยเห็นสมเด็จพระสังฆราชทรงหยุดทรงงานแม้แต่วันเดียว เมื่อมีผู้ทูลทักท้วงด้วยความห่วงใยที่ทรงรับนิมนต์โดยไม่ทรงคำนึงถึงพระวรกายของพระองค์เอง พระองค์จะตรัสกับผู้ทักท้วงว่าจะไปลำเอียงไม่รับงานนั้นงานนี้ไม่ได้ เพราะพระองค์เป็น “พระของประชาชน”

ทั้งหลายนี้เป็นคุณธรรมที่พุทธบริษัทควรได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ เป็นธงชัยให้ดำเนินรอยตาม ในการก้าวไปสู่ความเป็นพุทธบริษัทที่ดีงาม อันมีนิพพานเป็นปลายทาง