posttoday

เจ้าคุณอนิลมาน

29 กันยายน 2556

เมื่อเอ่ยถึง พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย ในแวดวงสงฆ์ไทยย่อมรู้จักดี

เมื่อเอ่ยถึง พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย ในแวดวงสงฆ์ไทยย่อมรู้จักดี

และต่อไปคนไทยจะรู้จักมากขึ้น เมื่อท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็นกรณีพิเศษ

พูดอย่างชาวบ้าน ท่านอนิลมานได้เป็นเจ้าคุณ ในราชทินนาม “พระศากยวิสุทธิวงศ์” (วงศ์ศากยะที่บริสุทธิ์)

กรณีพิเศษในครั้งนี้ คือ เพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี ในวันที่ 3 ต.ค. 2556

โดยมีอีกรูปที่ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเหมือนกันในคราวเดียวกัน และจะเข้ารับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ ตั้งพระราชาคณะชั้นสามัญ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ คือ พระครูอนุกูลกาญจนกิจ (บุญเพิ่ม อานนฺโท) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี ในราชทินนาม “พระสุวัฒนมงคล”

ปกติการพระราชทานสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ในประเทศไทยจะมีขึ้นเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.ของทุกปี การพระราชทานสมณศักดิ์ในครั้งนี้จึงเป็นกรณีพิเศษและเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระอนิลมานเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้

หากระบุตามตำแหน่งของท่านในปัจจุบัน พระอนิลมาน เป็น ผู้ช่วยเลขานุการในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ มีหน้าที่สนองงานสมเด็จพระสังฆราช นั่นคือหน้าที่หลัก

ทว่า เมื่อพูดถึงชีวิตของพระอนิลมานแล้ว ต้องบอกว่าท่านมีความผูกพันกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ อย่างมาก ถึงขนาดออกปากว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นเหมือนบิดาของท่าน

นั่นไม่ใช่การอ้างสุ่มสี่สุ่มห้าของท่านอนิลมาน แต่การที่ท่านมีวันนี้ได้ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงชุบเลี้ยงและให้ความเมตตามาตลอด

ท่านอนิลมาน เป็นชาวเนปาล เกิดในตระกูลศากยะ ตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า โดยท่านบอกเคยทำการสืบวงศาคณาญาติ หลักฐานพอทราบได้ว่าน่าจะเป็นสายของพระอานนท์ที่ย้ายไปอยู่ที่กาฐมาณฑุสมัยพุทธกาลและที่เนปาลเองก็ยังมีกระจายอยู่ และนามสกุลนี้ต้องเป็นศากยะเปลี่ยนไม่ได้

เกิดวันที่ 18 มิ.ย. 2503 เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้อง 6 คน ชาย 5 หญิง 1 บิดาชื่อ “อาสา” มารดาชื่อ “ปุรณะ” พ่อเป็นช่างทอง แม่เป็นแม่บ้าน ต่อมาบ้านเปิดร้านขายของชำ ปัจจุบันพ่อเสียชีวิตแล้วจึงเลิกกิจการไป

พ่อของท่านตั้งใจจะถวายลูกสักหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมายมั่นตั้งใจที่ลูกชายคนโต พี่ชายของท่าน แต่พี่ชายสอบได้ทุนเรียนที่ 1 ของประเทศ ไปเรียนที่อินเดีย การจึงกลายเป็นท่าน

ในปี 2517 ท่านอนิลมานได้บวชเป็นสามเณร ใช้ชื่อว่า “สามเณรสุคันธะ” ที่เป็นชื่อนี้เป็นไปตามประเพณีในเนปาล ที่ไม่ให้ใช้ชื่อเดิม

บวชอยู่ที่เนปาล 9 เดือน พอวันที่ 14 เม.ย. 2518 ก็ย้ายจากเนปาลมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นสามเณรถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสังฆราช (สมณศักดิ์ขณะนั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวร) ตั้งแต่ที่มาอยู่ และได้รับการประทานอุปสมบทจากสมเด็จพระสังฆราชในปี 2523 และได้รับฉายาว่า “ธมฺมสากิโย” (ผู้กล้าในธรรม)

การที่ท่านมาอยู่วัดบวรฯ ได้ เกิดจากการที่สมเด็จพระสังฆราชเมื่อครั้งเป็นพระสาสนโสภณได้เดินทางไปดูงานที่เนปาลครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในตอนนั้นสมเด็จฯ ถามทางเนปาลว่าจะให้ช่วยอะไรบ้าง ประมุขสงฆ์เนปาลได้เรียนได้บอกไปว่าขอสองอย่าง คือ ให้ทางไทยส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่ที่เนปาล สอง ให้พระเณรเนปาลมาเรียนที่ไทย

ข้อแรกสมเด็จฯ รับจะนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม ส่วนข้อ 2 สมเด็จฯ บอกว่าท่านรับได้เลย ขอให้ติดต่อและส่งมาเลย จากนั้นในปี 2514 ได้ส่งมา 2 รูป ต่อมาปี 2518 ก็ส่งมาอีก 3 เป็นสามเณรทั้งหมด และท่านอนิลมานเป็นหนึ่งในนั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 38 ปี ที่ท่านอนิลมานได้ถวายการปรนนิบัติและสนองงานสมเด็จพระสังฆราชด้วยความทุ่มเท และท่านก็ได้รับพระเมตตาคุณจากสมเด็จพระสังฆราชตลอดเวลา 38 ปี

บอกตามตรงจากวันนั้นถึงวันนี้ พระ ดร.อนิลมาน ไม่ได้ทำสมเด็จพระสังฆราชต้องผิดหวังพระทัย และกล้าพูดได้เต็มปากตรงนี้ว่า ท่านเป็นพระที่มีศักยภาพ มีความรู้ มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในคณะสงฆ์ไทยและในสายตาชาวโลก

แม้ท่านจะเป็นพระเนปาล แต่ท่านก็คือหน้าตาของประเทศไทย คณะสงฆ์ไทย ของพระพุทธศาสนา และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยเฉพาะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

ขอมุทิตาสักการะ “พระศากยวิสุทธิวงศ์” เจ้าคุณอนิลมาน ด้วยจิตคาวระ