posttoday

บุคคล ควรคบ ไม่ควรคบ

29 กันยายน 2556

จากพระไตรปิฎกคัมภีร์ บุคคลบัญญัติ กล่าวถึงบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบไว้ สรุปโดยย่อได้ ดังนี้

จากพระไตรปิฎกคัมภีร์ บุคคลบัญญัติ กล่าวถึงบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบไว้ สรุปโดยย่อได้ ดังนี้

1.บุคคล ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้

2.บุคคล ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้

3.บุคคล ที่ควรสักการะ เคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้

บุคคล ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสื่อมจากศีล จากสมาธิ จากปัญญา

บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ควรเว้นจากความเอ็นดู เว้นจากความอนุเคราะห์*

บุคคล ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสมอกันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้

ข้อนี้เพราะว่า

ศีลกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้น จักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย (คือจะไม่เดือดร้อน)

สมาธิกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลายผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยสมาธิ จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้น จักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย (คือจักไม่เดือดร้อน)

ปัญญากถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลายผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยปัญญา จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้น จักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย (คือจักไม่เดือดร้อน)

เพราะฉะนั้นบุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้

บุคคล ที่ควรสักการะ เคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรสักการะ เคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้

ข้อนี้เพราะเหตุว่า เมื่อเราได้คบหา เข้าใกล้ เคารพ สักการะแล้ว

เราจักได้บำเพ็ญศีลขันธ์ (กองแห่งศีล) ที่ยังไม่บริบูรณ์ หรือจักได้ถือเอาตามซึ่งศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ

เราจักได้บำเพ็ญสมาธิขันธ์ (กองแห่งสมาธิ) ที่ยังไม่ บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักได้ถือเอาตามซึ่งสมาธิขันธ์ที่ บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ

เราจักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ (กองแห่งปัญญา) ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ

เพราะฉะนั้นบุคคลเช่นนี้ ควรสักการะ ควรเคารพ คบหา และเข้าใกล้

ในอรรถกถาท่านอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นว่า ข้อที่ 1 คือ

บุคคล ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ นั้นใช้การเปรียบเทียบด้วยคุณธรรม อันได้แก่ บุคคลใดรักษาศีล 5 เขาเป็นผู้อันบุคคลผู้รักษาศีล 10 ไม่พึงเสพ ส่วนบุคคลใดรักษาศีล 10 เขาผู้นั้นอันบุคคลผู้รักษาจตุปาริสุทธิศีล ไม่พึงเสพ การเสพมีความหมาย เช่น การเข้าไปหา ไปติดต่อ เข้าไปนั่งใกล้บ่อยๆ ด้วย

การเข้าไปนั่งในสำนักของเขา ส่วนการ* เว้นจากความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ นั้นอธิบายว่า บุคคลผู้มีคุณธรรม น้อยกว่า ผู้นั้นไม่ควรเข้าไปเสพ เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่ว่าการเข้าไปหาเขาด้วยสามารถแห่งความเอ็นดูและความอนุเคราะห์ ก็สมควร

ต่อมาเป็นส่วนของข้อที่ 2 คือ

บุคคล ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ ท่านอธิบายว่าคือเป็นผู้มีคุณธรรมเสมอกัน สัตบุรุษคือคนดีทั้งหลายนั้นถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล (สมาธิและปัญญา) คำว่า กถา นั้นหมายถึง ถ้อยคำ ที่กล่าวปรารภศีลนั้น (เช่น ศีลกถา คือ การพูดถึงศีล) ก็จักมีแก่พวกเราผู้มีศีลเสมอกัน เป็นต้น ก็การพูดถึงศีลนั้น จักเป็นการอยู่ผาสุก เป็นการอยู่สบายของพวกเรา หมายความว่า ถ้อยคำของพวกเราผู้กล่าวอยู่จักเป็นไปแม้ตลอดวันตลอดคืนก็จะไม่ทำให้สะเทือนใจ เมื่อบุคคลมีศีลเสมอกัน เมื่อคนหนึ่งกล่าวพรรณนาถึงศีล อีกคนย่อมยินดี เพราะเหตุนั้น ถ้อยคำของเขาเหล่านั้นย่อมจะมีความผาสุกและเป็นไปตลอด ไม่ขัดกัน ตรงกันข้ามกับเมื่อมีผู้ทุศีลอยู่ ถ้อยคำเหล่านี้ก็จะไม่เป็นที่สบายใจ เป็นถ้อยคำที่กล่าวได้ยากไป เพราะฉะนั้นศีลกถาก็ย่อมมีไม่ได้ แม้ถ้อยคำที่กล่าวถึงสมาธิและปัญญาก็เช่นกัน ผู้ได้สมาธิย่อมกล่าวพรรณนาคุณแห่งสมาธิ ผู้มีปัญญาย่อมพรรณนาคุณแห่งปัญญา เขาทั้งสองย่อมไม่รู้สึกลำบากใจ จะรู้สึกผาสุกสบายตลอด เป็นต้น

ต่อมาเป็นส่วนของข้อที่ 3 คือ

บุคคล ที่ควรสักการะ เคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ ข้อนี้ การคบ การเคารพ สักการะ ผู้ที่ “ยิ่ง” คือ ยิ่งกว่าเราด้วยศีล สมาธิ ปัญญา (ที่เรียกว่า “ศีลขันธ์” คือ “กองแห่งศีล” เป็นต้นนั้น เพราะศีลมีหลายประเภท) เราอาศัยผู้มีศีลอันยิ่งแล้วจักกระทำศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ คือ ด้วยการเว้นธรรมที่ไม่มีอุปการะแห่งศีล อันไม่สัปปายะแก่ศีลแล้ว จึงเสพธรรมอันมีอุปการะมีสัปปายะแก่ศีล ชื่อว่า ย่อมถือเอาศีลขันธ์ในที่นี้ด้วยปัญญา สมาธิขันธ์และปัญญาขันธ์ ก็นัยนี้เหมือนกัน n

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นอิงหลักธรรมะ

ท่านสามารถส่งคำถาม หรือข้อติชมทาง email

ได้ที่ [email protected]