posttoday

สมเด็จฯ ป๋า จากสองพี่น้อง สุพรรณบุรี สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17

15 กันยายน 2556

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่บรรพชิตและคฤหัสถ์เรียกด้วยความเคารพว่าสมเด็จป๋า ชาวสุพรรณบุรี นอกจากทรงเป็นพระประมุขสงฆ์แล้ว ยังทรงเป็นนักประพันธ์ นักเขียน มีผลงานเป็นที่ยอมรับ สิ้นพระชนม์แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์ที่วัดสุวรรณภูมิ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชที่ อ.สองพี่น้อง ให้ประชาชนทั่วไปได้รำลึกถึงเสมอ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสถึงสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ เมื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วัดเทพศิริน ทราวาส ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมวรนายก (สมบูรณ์) อดีตอธิการบดี มจร วันที่ 30 พ.ค. 2530 ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงปรีชาญาณ เฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ สิ้นพระชนม์ มีผู้สนับสนุนให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านซึ่งมีสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต ปฏิเสธ บอกว่ายังไม่เหมาะสม ผู้เหมาะสมคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม (จากหนังสือฟื้นอดีต พิมพ์ในงานทำบุญอายุ 7 รอบ ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ วันที่ 2 พ.ย. 2556)

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม สิ้นพระชนม์ ก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2515 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จฯ ป๋า จากสองพี่น้อง สุพรรณบุรี สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17

 

เป็นที่น่าเสียดายที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในระยะเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือน 17 วันก็สิ้นพระชนม์ ดังที่หนังสือสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) เสด็จเข้ารับการักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2516 ด้วยพระอาการเวียนพระเศียร ความทรงจำเสื่อม พระวรกายทางซีกขวาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ คณะแพทย์ลงความเห็นว่า พระอาการทั่วไปทั้งหมดเนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงประชวรเป็นเนื้องอก (มะเร็ง) ในปอดข้างซ้าย ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนเต็มความสามารถ เช่น การผ่าตัด เป็นต้น แต่พระอาการมีแต่ทรุดลงจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ วันที่ 7 ธ.ค. 2516

สิริพระชันษาได้ 77 ปี 8 เดือน 8 วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 17 วัน

ตามประวัตินั้นพระองค์ประสูติวันที่ 30 มี.ค. 2439 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี นามสกุล สุขเจริญ เป็นศิษย์วัดสองพี่น้อง เป็นญาติใกล้ชิดกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เคยมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ ขณะที่มีอายุ 15 ปี รุ่งขึ้น ปี พ.ศ. 2455 อายุ 16 ปี ย้ายไปอยู่กับหลวงอาคือหลวงพ่อสด (พระมงคลเทพมุนี) ซึ่งตอนนั้นอยู่วัดพระเชตุพนฯ ไปบรรพชาที่วัดสองพี่น้อง แต่อยู่ได้ระยะหนึ่งก็ลาสิกขามาช่วยโยมแม่ทำนา เพราะโยมพ่อป่วย อายุ 18 ปี จึงบรรพชาใหม่กลับมาอยู่วัดพระเชตุพนฯ จนกระทั่ง พ.ศ. 2460 อายุ 21 ปี กลับไปอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง โดยหลวงพ่อเหนี่ยง หรือพระครูวินยานุโยค เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้องเกจิดังเป็นอุปัชฌาย์

เมื่ออยู่วัดพระเชตุพนฯ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง สอบไล่ได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่างๆ มาเป็นลำดับจนถึง พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และศึกษาภาษาอังกฤษกับภาษาจีน เท่าที่มีโอกาสจะอำนวยให้

ตำแหน่งหน้าที่ในการคณะสงฆ์

เมื่ออุปสมบทรับภาระหน้าที่ทางการพระศาสนาทั้งภายในพระอารามไปจนถึงหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่เป็นพระเปรียญ พ.ศ. 2491 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ส่วนสมณศักดิ์นั้นได้รับพระราชทานแต่งตั้งและเลื่อน ตั้งแต่ชั้นสามัญเรื่อยมาโดยลำดับ จนถึงชั้นพระสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระวันรัต เมื่อ พ.ศ. 2504

ตำแหน่งทางปกครอง เป็นสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ พ.ศ. 2499 อีกทั้งเคยรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ระยะหนึ่ง (ประมาณ 5 ปี) หลังจากหลวงพ่อสด (พระมงคลเทพมุนี) มรณภาพ

เมื่อ พ.ศ. 2499 ได้เดินทางไปกับสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต (ปลด) เพื่อร่วมฉลองพุทธชยันตี ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา จากนั้นเดินทางเยือนประเทศอินเดีย แวะเยี่ยมพระนักศึกษาไทยที่สถาบันนาลันทา พบว่าพระไทยมีความเป็นอยู่ลำบาก จึงเขียนหนังสือเรื่อง พุทธชยันตี ว่าด้วยการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จำหน่ายหาทุนถวายพระนักศึกษาที่อินเดีย

ระหว่าง พ.ศ. 25092515 เป็นประธานสงฆ์ในการผูกพัทธสีมา วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศเนปาล อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธนาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และในโอกาสเดียวกันได้เสด็จเยือนสำนักวาติกัน ณ กรุงโรม เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างศาสนา

ด้านมูลนิธิ

ทรงริเริ่มก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิที่ดำเนินงานด้านธรรมะวิชาการ การศึกษา และสาธารณูปการเป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสะสมทุนบูรณะวัดพระเชตุพนฯ จนดูงดงามเสมอมา มูลนิธิสมเด็จพระพุทธโคดมวัดไผ่โรงวัว สุพรรณบุรี มูลนิธิห้องสมุดสันติวัน และตั้งสภาพระธรรมกถึก เพื่อฝึกฝนพระนักเทศน์ เป็นต้น

งานพระนิพนธ์

ตามที่ทราบกันทั่วไป สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นนักประพันธ์ นักเขียน และได้นิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้กว่า 20 เรื่อง โดยใช้นามปากกาว่า “ป.ปุณฺณสิริ” “สันติวัน “ศรีวัน”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) ทรงเจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม เป็นครุฐานียอภิปูชนียบุคคล เป็นที่เคารพบูชาสักการะอย่างยิ่งแห่งปวงบรรพชิตและคฤหัสถ์ ได้รับยกย่องพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ และได้รับถวายพระนามเป็นพิเศษว่า “สมเด็จฯ ป๋า” แม้จะสิ้นพระชนม์ คนก็รำลึกถึงดังภาษิตที่ว่า ตัวตายแต่ชื่อยัง