posttoday

อะไรคือ ปาราชิกสังฆาทิเสสของภิกษุในพุทธศาสนา!!! (ตอน ๑๐)

12 กันยายน 2556

ในปาราชิกข้อ ๒ คือ การลักทรัพย์สิ่งของที่เขามีเจ้าของหรือไม่ได้อนุญาต โดยภิกษุนั้นมีจิตเจตนาคิดลักขโมย

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ในปาราชิกข้อ ๒ คือ การลักทรัพย์สิ่งของที่เขามีเจ้าของหรือไม่ได้อนุญาต โดยภิกษุนั้นมีจิตเจตนาคิดลักขโมย ขโมยล้วงลัก เบียดเบี่ยง ฉ้อ ตระบัด ปล้นสดมภ์ ข่มเหง แย่งยื้อ ลอบยึดถือเอาพัสดุสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนตั้งแต่ราคา ๕ มาสก (เป็น ๑ บาทของชาวมคธ) คิดเป็นราคาทองหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก หรือทอนลงเป็น ๒ สลึงเฟื้องกับ ๕ กรัม ในประเทศสยามในสมัยก่อนที่คิดในราคานี้ ลักเองก็ดี ให้ผู้อื่นลักก็ดี ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก ในเรื่องนี้ก็มีปฐมเหตุจากพระธนิยะ เหตุเกิดที่พระนครราชคฤห์ ใช้อุบายในการให้ได้มาในทรัพย์ของพระเจ้าพิมพิสาร จึงกล่าวว่า ลักทรัพย์ หรือทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเขาเสียประโยชน์ ก็เป็นโทษในข้อนี้

ในปาราชิกข้อที่ ๓ มนุสสวิคคหะ คือ การฆ่ามนุษย์ จึงบัญญัติห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ในครรภ์หรือนอกครรภ์ ด้วยเจตนาหรืออุบายชักชวนด้วยอาการกิริยาใดๆ ก็แล้วแต่ ให้เกิดการฆ่าในมนุษย์เกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยการกระทำการใดๆ หากมีการตายของมนุษย์เกิดขึ้นจากการกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ ด้วยเจตนาของภิกษุนั้น ก็เป็น ปาราชิก แต่ที่เรากล่าวถึงกันในสังคมปัจจุบันมาก ก็คือ เรื่องของการอวดอุตริมนุสธรรมหรือคุณวิเศษ อันไม่มีในปุถุชนทั้งหลาย

อุตริมนุสธรรม การอวดอ้างคุณวิเศษว่าเป็นผู้เข้าถึงฌาน เป็นผู้ถึงวิโมกข์ เป็นผู้ถึงสมาธิสมาบัติ บรรลุไตรวิชาเป็นอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้เป็นคุณวิเศษที่ไม่มีในบุคคลปุถุชนทั้งหลาย ด้วยความที่เป็นผู้ที่ใจบาปอยากได้ลาภสักการะ จะได้มีผู้สรรเสริญเลื่องชื่อลือคุณ จึงกระทำการดังกล่าวอวดอ้างอุตริมนุสธรรม ว่ามีฤทธิ์รู้เห็นระลึกชาติได้ตาทิพย์หูทิพย์ เป็นผู้สิ้นกิเลส แม้จะใช้เรื่องอุบายเปรียบปรายแสดงกายวิกาลเป็นเลศนัยใดๆ เพื่อให้มีผู้เชื่อถือตามความคิดของตนเอง ณ ขณะนั้น หากสำเร็จตามการกระทำนั้น ก็ถือว่าเป็นปาราชิก เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้ถึงหรือมีคุณวิเศษนั้น และกล่าวไปตามความสำคัญที่ตนเองคิดว่าตนเองมีนั้น ก็ไม่เป็นโทษ เพราะไม่ได้แกล้งอวดคุณด้วยเจตนา

ปาราชิก ๔ ภิกษุต้องอาบัติแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลพ่ายแพ้แก่พระพุทธศาสนา ไม่สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนภิกษุต่อไปได้อีก ถึงจะปฏิญาณตนหรืออุปสมบทใหม่ ก็ไม่เป็นภิกษุอีกต่อไป นี่คือตายอย่างเที่ยงแท้ และจะบังเกิดในอบายภูมิอย่างแน่นอน ฉะนั้นพระภิกษุทั้งหลายที่อุปสมบทเข้ามาจึงต้องรักษาตัวให้ดี อย่าได้เสียทีได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้บวชในพระศาสนา

(อ่านต่อฉบับหน้า)