posttoday

มจร พาบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้ว และ โพธิ์ตรัสรู้ อายุ 2,300 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา ที่ศรีลังกา

01 กันยายน 2556

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมกับคณะสงฆ์ และวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา จัดงานฉลอง 260 ปี

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมกับคณะสงฆ์ และวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา จัดงานฉลอง 260 ปี การสถาปนาสยามวงศ์ ระหว่างวันที่ 2022 ส.ค. ที่เมืองแคนดี ตรงกับช่วงเวลาแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปี ที่เรียกว่าเประแหระ (Esala Perahera) ทางเจ้าภาพจึงอำนวยความสะดวกแก่คณะสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกา และสื่อมวลชนจากไทยให้ได้ชมงานฉลองที่ยิ่งใหญ่ พร้อมกับเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่รัฐบาลทูลเชิญเสด็จฯ ทอดพระเนตรงานฉลองที่อลังการ ซึ่งเป็นประเพณีฉลองทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย

งานเประแหระ ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 1,701 นับตั้งแต่ลังกาอัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วจากอินเดียมายังเมืองอนุราธปุระ เมืองหลวงลังกาในอดีต ส่วนการฉลองที่แคนดี เริ่มในรัชกาลพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ (ปี 17471780)

ก่อนที่ขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว จะเริ่มในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 20 ส.ค. 2556 นั้น ที่ว่างบนฟุตปาทสองฟากถนนในเมืองแคนดี และริมทะเลสาบที่ขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วผ่าน จะถูกจับจองด้วยประชาชนชาวศรีลังกาและนักท่องเที่ยวตั้งแต่เช้า ผู้เขียนได้พบครอบครัวหนึ่งที่มาจากโคลัมโบซึ่งใช้เวลาเดินทาง 45 ชั่วโมง และนั่งเฝ้าที่จองไว้อีก 6 ชั่วโมง เพื่อจะได้บูชาและชมขบวนแห่อย่างใกล้ชิด ก็คล้ายๆ กับผู้คนอีกไม่น้อยกว่า 200,000 คน ที่คอยเฝ้าชมในแต่ละคืน

พระธาตุเขี้ยวแก้ว

ขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว เริ่มเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2556 และสิ้นสุดวันที่ 22 ส.ค. 2556 ขบวนแห่ใช้ดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีกลองเป็นหลัก ตามด้วยนักเต้นที่แต่งกายตามประเพณีและวัฒนธรรมโบราณประมาณ 2,000 คน เต้นรำไปตามจังหวะกลอง พร้อมทั้งขบวนช้างประมาณ 80 เชือก ที่แห่จาก Dalada Maligawa หรือวังที่ประดิษฐานแห่งพระธาตุเขี้ยวแก้ว (คนไทยเรียกว่าวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว) มาตามถนนเลียบชายทะเลสาบ ผ่านผู้ชมระดับวีไอพี และเข้าไปในเมือง วนรอบแล้วจึงกลับมายังสถานที่ประดิษฐานพระธาตุตามเดิม กว่าจะสิ้นสุดทุกขบวนกินเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เฝ้าบูชาและชมต่างตื่นตาตื่นใจกับท่าเต้น ท่าแสดงของนักเต้นที่ออกท่วงท่าไปตามจังหวะเสียงกลอง ส่วนมากจะเดินถอยหลังเพื่อหันหน้าไปยังขบวนแห่พระธาตุที่ตามมาห่างๆ

ก่อนที่ขบวนใหญ่จะตามมา ผู้ชมทุกคนได้ยินเหมือนเสียงประทัดดังติดต่อกัน มองดูปรากฏว่าเป็นเสียงสะบัดแซ่ของนักเต้นแซ่ประมาณ 10 คน ที่สะบัดแซ่ที่ยาวประมาณ 1.50 เมตรด้วยความคล่องแคล่ว บางคนเก่งถึงกับใช้มวยผมผูกแซ่แล้วสะบัดพลิ้ว ผู้ชมที่อยู่ใกล้ๆ ต้องหลบเพราะกลัวโดนปลายแซ่สะบัดถูกเช่นเดียวกับที่ต้องหลบโคมไฟที่ใช้เนื้อมะพร้าวแห้งเป็นเชื้อเพลิงในขณะที่คนถือคบเพลิงเดินผ่าน เพราะไฟลุกโพลงตามกระแสลมที่แรงมาก

หัวใจขบวนแห่คือช้าง ช้างทุกเชือกได้รับการประดับด้วยเครื่องคชาธาร ประกอบด้วยผ้าหลากสี ติดหลอดไฟฟ้าแพรวพราว คลุมตัวช้างตั้งแต่งวง หัว ไปถึงหางและจรดเท้า เปิดช่องตาทั้งสองข้างไว้ โดยมีผู้ถือฉัตรนั่งบนหลังช้างเชือกละ 12 คน ส่วนควาญช้างจะถือของ้าวเดินเคียงข้างช้างแต่ละเชือกไปด้วย

ส่วนช้างที่อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วนั้น เป็นช้างที่มีความสง่า สูงใหญ่ งายาว เหมือนดังจ่าฝูง ประดับด้วยเครื่องคชาธารแพรวพราว บนหลังช้างเชือกที่เป็นประธานนั้น เจ้าหน้าที่อัญเชิญมณฑปที่ประดิษฐานพระธาตุเขี้ยวแก้วตั้งไว้ โดยมีเชือกตรึงทั้ง 4 ด้านเพื่อยึดโยงมณฑปพระธาตุเขี้ยวแก้วให้เสถียรไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม โดยมีช้างเดินขนาบข้างละเชือกตลอดเวลา

พระธาตุเขี้ยวแก้ว บรรจุในเจดีย์ทองคำ อัญเชิญมาจากแคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐโอริสสา อินเดีย) ในสมัยพระเจ้ากิตติสิริเมฆวันนา (301302 ก่อนคริสต์ศักราช) แรกทีเดียวประดิษฐานที่เมืองอนุราธปุระ เพราะเป็นเมืองหลวง และอัญเชิญมายังแคนดี เมื่อเมืองนี้เป็นเมืองหลวงแทนอนุราธปุระ

ทั้งนี้ ชาวศรีลังกา เชื่อว่า ผู้ที่ครอบครองพระธาตุเขี้ยวแก้วเท่านั้นมีสิทธิในการปกครองเกาะลังกา ดังนั้นพระธาตุเขี้ยวแก้วจึงมิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งศรัทธาทางศาสนา แต่เป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจอีกด้วย

ปัจจุบันผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก่อนปฏิบัติหน้าที่ต้องมาบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้วก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรม

ส่วนการรักษาความปลอดภัยพระธาตุเขี้ยวแก้วนั้นเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง โดยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจ 3 คน ถือกุญแจคนละดอก และจะเปิดให้ประชาชนบูชาวันละ 3 เวลาเท่านั้น ทั้งนี้ นอกจากเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังป้องกันไม่ให้พระธาตุเขี้ยวแก้วตกไปอยู่ในมือต่างชาติ เพราะอาจใช้อำนาจมาปกครองประเทศนี้ได้

พระศรีมหาโพธิ์อายุ 2,300 ปี

เมื่อเสร็จสิ้นฉลอง 260 ปี แห่งสยามวงศ์ที่แคนดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พาคณะทั้งพระและฆราวาสเกือบ 100 ชีวิต เดินทางไปยังเมืองอนุราธปุระ เมืองหลวงลังกาสมัยโบราณ ปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ อายุ 2,300 ปี และเจดีย์ต้นแบบในไทยและตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับต้นพระศรีมหาโพธิ์อายุ 2,300 ปีนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงให้ตอนจากต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา และโปรดเกล้าฯ ให้พระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดา ที่อุปสมบทเป็นภิกษุณีอัญเชิญมาถวายพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ เจ้ากรุงลังกา หลังจากสังคายนาครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลีบุตร พระศรีมหาโพธิ์ต้นนั้นเจริญงอกงามจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากที่สุดในโลกถึง 2,300 ปี

ปัจจุบันประชาชนชาวพุทธศาสนาในศรีลังกาจะถือถาดดอกไม้มาบูชาทุกวัน ในขณะที่รัฐบาลศรีลังกาก็ปกป้องคุ้มครองพระศรีมหาโพธิ์ไม่ให้เกิดอันตราย จึงตั้งแนวรั้วเหล็กสีทองล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งปลูกอยู่บนโคกสูงจากพื้นดินประมาณ 45 เมตร แตกกิ่งก้านสาขากว้างขวาง โดยเฉพาะกิ่งใหญ่ยาวที่แตกจากหน่อเดิมได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยม ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ใช้เสาทองคำโตขนาดลำไม้ไผ่เป็นไม้ค้ำยัน จึงโดดเด่นกว่ากิ่งอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ในโอกาสนี้ พระสงฆ์ไทย นำโดย พระเทพโสภณ วัดราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร ได้นำพระภิกษุสงฆ์สวดพุทธคุณเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาที่บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์แห่งนี้

จากต้นพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ พระครูสิริอรรถวิเทศ (ถนัด) เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความชำนาญเรื่องศรีลังกาเป็นพิเศษ พาชมพระเจดีย์ถูปาราม (Thuparamaya) ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่และเป็นต้นแบบแห่งพระเจดีย์ทั้งหลายทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลหะปราสาทที่เหลือเพียงแต่เสาซึ่งอยู่ใกล้กับต้นพระศรีมหาโพธิ์เก่าแก่

วัดถูปาราม เป็นที่ตั้งพระเจดีย์อันมีอดีตยาวนาน ย้อนถึงสมัยที่พระมหินทเถระ ซึ่งเป็นพระธรรมทูต 1 ใน 9 สายที่พระเจ้าอโศกส่งมาเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกชมพูทวีป ได้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จุดนี้เป็นแห่งแรก และยังเป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ที่มีการจดจารพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นครั้งแรกในโลก หลังจากการท่องจำกันที่เรียกว่า มุขปาฐะ มานับร้อยปี

พระเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่พระครูสิริอรรถวิเทศพาชม ได้แก่ สุวรรณมาลิกเจดีย์ (Ruwanweliseya) ที่สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามินิอภัย เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำหรือบาตรคว่ำ โดยมีช้างล้อมรอบเพื่อระลึกถึงช้างที่มีส่วนช่วยในการขนหินและทรายเพื่อก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้น

นอกจากบรรดาเจดีย์สำคัญๆ ที่ได้รับการดูแลอย่างดีแล้ว บริเวณถูปารามซึ่งไม่ได้มีสภาพเป็นวัดแล้ว แต่มีหลายแห่งที่บ่งบอกว่าเคยเป็นเจดีย์ เคยเป็นวิหาร รวมถึงเจดีย์ขนาดย่อม จะมีป้ายประกาศว่าสร้างทับรอยพระบาทสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ทั้งนี้ เชื่อกันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จฯ มาศรีลังกา 3 ครั้งด้วยกัน

การไปร่วมฉลอง 260 ปี การสถาปนาสยามวงศ์ กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดมุมมองใหม่ด้วยการเห็นประเทศที่เป็นต้นแบบพระพุทธศาสนา แม้จะถูกเบียดเบียนจากอริราชศัตรู แต่ประชาชนชาวพุทธมีศรัทธามั่นคง ปกป้องพุทธศาสนาทุกวิถีทาง จึงได้เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวเนื่องด้วยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงอยู่ เช่น พระธาตุเขี้ยวแก้วและพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา เมื่อได้มากราบไหว้บูชาก็เกิดปีติล้นพ้น