posttoday

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ สมเด็จพูดได้

25 สิงหาคม 2556

สมเด็จพูดได้ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 เปรียญ 7 ประโยค ทรงเป็นเปรียญ 5 ประโยค

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพูดได้ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 เปรียญ 7 ประโยค ทรงเป็นเปรียญ 5 ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร อุปสมบท 2 พรรษาแปลได้อีก 2 ประโยค จึงได้เป็นเปรียญ 7 ประโยค ตั้งแต่ พ.ศ. 2437 พระองค์ท่านทรงงานช่วยคณะสงฆ์มาตั้งแต่อุปสมบท

ส่วนพระเกียรติยศอันเป็นประวัติศาสตร์ คือ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงผนวช เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2499

ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2488 นั้น ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2471 เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็มิได้เปลี่ยนพระราชทินนาม

ทองแถม นาถจำนง นำเรื่องที่ (มหา) ศิลป์ โหรพิชัย (อดีตมหาวัดบวรนิเวศ) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” ได้ยกเนื้อความที่ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เขียนไว้ตอนหนึ่งน่าอ่านมาก ผมจึงนำมาเสนอท่านผู้อ่านดังนี้

สมเด็จพูดได้

ผู้สูงสุดในหัวใจอาจารย์คึกฤทธิ์อีกพระองค์หนึ่ง ก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยเป็นศิษย์ และท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ของอาจารย์คึกฤทธิ์เมื่อคราวอุปสมบทที่วัดบวรฯ ด้วย

“สมเด็จฯ ท่านเป็นพระแท้ ถึงจะบริบูรณ์ด้วยสมณศักดิ์ และลาภอดิเรกต่างๆ ตามฐานะของท่าน ซึ่งมีคนเคารพนับถือมากมาย ท่านก็มิได้ไยดีต่อสิ่งเหล่านั้น”

จำได้ในวันที่สถาปนาตั้งท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชในพระราชพิธีหนึ่งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง (จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือฉัตรมงคล ก็จำไม่ได้เสียแล้ว เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีพระราชพิธีตั้งสมเด็จพระสังฆราชโดยเฉพาะ) เด็กลูกศิษย์วัดกลุ่มหนึ่งที่ตามพระราชาคณะเข้าไปในวัดพระแก้ว ได้จับกลุ่มนั่งคุยกันอยู่ที่ศาลารายข้างนอกพระอุโบสถฯ

เด็กวัดคนหนึ่งถามขึ้นว่า “สังฆราชองค์ใหม่ชื่ออะไรโว้ย?”:ทันใดนั้นก็มีเสียงห้าวๆ ตอบมาจากข้างหลังว่า “ชื่อชื่นโว้ย!”

งานพระราชพิธีเสร็จลงแล้ว สมเด็จฯ ท่านออกจากพระที่นั่งเดินมาตามลูกศิษย์ของท่านจะกลับวัด

อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนถึงเรื่องนี้ว่า

“พูดถึงเรื่องสมเด็จฯ ฉันข้าว ก็เห็นจะต้องบอกไว้ด้วยว่า ตั้งแต่ผมได้รู้จักเคารพนับถือท่านมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กมาจนโต เคยเห็นแต่ท่านฉันเพื่ออยู่แท้ๆ ไม่เคยเห็นท่านสนพระทัยในอาหารที่เขาประเคนเลย

ดูสมเด็จฯ ฉันข้าวแล้วก็เหมือนกับดูคนเติมน้ำมันรถ หรือเอาถ่านใส่ไฟในเตา เพื่อมิให้ดับ มิได้มีความคิดถึงการกินข้าวด้วยความเอร็ดอร่อยเกิดขึ้นในใจเลย

บางทีคนนำอาหารตกแต่งแล้วอย่างประณีตไปถวายท่าน ท่านก็ฉันเพียงเพื่อฉลองศรัทธา แล้วก็แค่นั้น”

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีลูกศิษย์มากมาย ทั้งนี้เนื่องจากการมีความสามารถเป็นอัจฉริยะในการถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เข้าใจถึงหลักธรรม อาจารย์คึกฤทธิ์เองก็ได้รับการสั่งสอนในเรื่องนี้จากท่านเช่นเดียวกัน

แต่สมเด็จฯ ทรงมีวิธีสอนธรรมอย่างอื่นอีก และทรงปฏิบัติพระองค์ให้ผู้อื่นแลเห็นธรรมได้เนืองนิตย์

เป็นต้นว่า ธรรมคือความไม่ประมาท

สมเด็จฯ เสด็จกลับมาจากหัวหิน ผมก็ไปเฝ้าเยี่ยมในเย็นวันนั้น

ที่ปากประตูกุฏิมีต้นอะไรแค่คืบใส่กระป่องนมวางอยู่

ผมถามสมเด็จฯ ว่า “ต้นอะไร” ท่านบอกว่า “ต้นพะยอมว่ะ สมภารวัดหัวหินท่านให้กันมา”

“โอ้โฮ!” ผมว่า

“ทำไมโอ้โฮ?” สมเด็จฯ ถาม

“ก็ต้นพะยอมมันต้องใช้เวลาตั้งสี่สิบหรือห้าสิบปีตั้งแต่ปลูก จึงจะโตออกดอกได้ สมเด็จฯ แก่แล้ว จะไปได้ดูดอกมันทันอย่างไร”

“อย่างนั้นหรือ” สมเด็จฯ ว่า “เอ็งว่ากี่ปีนะ”

“ห้าสิบปี”

สมเด็จฯ รีบเรียกไวยาวัจกร พอไวยาวัจกรมาเฝ้าแล้วก็รับสั่งให้เอาต้นพะยอมแค่คืบนั้นไปหาที่ปลูกทันที อย่าให้เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว

“ไอ้นี่มันบอกว่าต้องปลูกถึงห้าสิบปี ต้นพะยอมมันจึงจะออกดอก ต้องรีบปลูกเร็วๆ อย่าให้เสียเวลา ลุแก่ความประมาทไม่ได้”

นับแต่นั้นเป็นต้นมา อาจารย์คึกฤทธิ์ก็เข้าใจถึงหลักธรรมข้อนี้ และไม่ว่าท่านมีต้นไม้อะไรหรือมีอะไรที่จะต้องทำ ท่านก็รีบทำให้เร็วที่สุด ไม่เคยผัดวันประกันพรุ่งอีกเลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนว่า

สมเด็จฯ ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อท่านยังหนุ่มๆ อยู่ สอบเปรียญได้แล้วเป็นมหาชื่น ท่านก็อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นเจ้าอาวาสอยู่

สมเด็จฯ ท่านเล่าว่า สมเด็จพระมหาสมณะทรงกวดขันท่านมาก ทำผิดอะไรเล็กน้อย หรือไม่พอพระทัยขึ้นมาเมื่อไร ก็เกรี้ยวกราดเอาแรงๆ เสมอ ท่านเบื่อหน่ายขึ้นมาจึงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณะว่า ท่านจะขอลาสึก สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงฟังแล้วก็นิ่งอยู่ มิได้ตรัสว่ากระไร

ฝ่ายสมเด็จฯ เมื่อกราบทูลไปแล้วก็ไปหาฤกษ์สึก แล้วก็ให้โยมไปเตรียมผ้านุ่งมาไว้หนึ่งผืน เสื้อราชปะแตนหนึ่งตัว อีกสองวันจะสึก

เย็นวันหนึ่งก่อนที่จะถึงฤกษ์สึก พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช เสด็จฯ มาที่วัดบวรฯ เพื่อทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณะ ครั้นแล้วก็เสด็จลงจากตำหนักสมเด็จพระมหาสมณะ ตรงมาที่กุฏิของท่าน

เสด็จฯ มาถึงแล้วก็ทรงยืนอยู่ที่หน้าประตูกุฏิมิได้เสด็จฯ เข้ามาข้างใน สมเด็จฯ เล่าว่า พอเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ มาที่กุฏิก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะไม่เคยเสด็จฯ มาแต่ก่อน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูก ก็นั่งรับเสด็จฯ อยู่ในกุฏิ จะเชิญเสด็จฯ เข้ามาก็พูดไม่ถูก

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รับสั่งว่า “ได้ยินว่าคุณจะสึกหรือ?”

สมเด็จฯ ก็ถวายพระพรรับว่าจริง

มีกระแสรับสั่งต่อไปว่า “ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า คนอย่างคุณนั้นบวชเป็นพระแล้วหายาก ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็หาง่าย”

“กันก็เลยไม่สึก” สมเด็จฯ ท่านว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านต้องรู้ดีกว่าเราว่าอะไรหายาก อะไรหาง่าย”

“แล้วยังไง” ผมถาม

“กันอยากเป็นคนหายากว่ะ” สมเด็จฯ ตอบ

“แล้วผ้านุ่งกับเสื้อราชปะแตนล่ะ?”

“กันเลยให้พระยาเสนาสงครามน้องชายเขาไป”

สมเด็จฯ ท่านบวรตั้งแต่เป็นเณร และอยู่ในผ้าเหลืองมาจนสิ้นพระชนม์ วันดีคืนดีมียายชีคนหนึ่งมาเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวใต้ถุนกุฏิท่านที่วัดบวรฯ

ยายชีนั้นเรียกสมเด็จฯ ว่าเสด็จพ่อ

ผมก็ให้สงสัยเป็นกำลังอดรนทนไม่ไหวต้องขึ้นไปกราบทูลถามว่า

“ก็ไหนสมเด็จฯ รับสั่งว่าบวชตั้งแต่เป็นเณร แล้วทำไมมีลูกสาวโตๆ อย่างนี้เล่า?”

“ชาติก่อนโว้ย” สมเด็จฯ บอก “ยายชีแกระลึกชาติได้ แกบอกว่าชาติก่อนแกเป็นลูกสาวของเรา”

“แล้วสมเด็จฯ เชื่อหรือ?”

“ก็เรามันระลึกชาติไม่ได้ จะไปเถียงแกยังไง แต่มันมีแปลกอยู่นิดเดียวเท่านั้น แกบอกว่าชาติก่อนเราอยู่บ้านริมถนนทรงวาด”

“แล้วยังไง”

“ก็ไอ้ถนนทรงวาดนั่น เขาเพิ่งตัดเมื่อกันโตแล้วในชาตินี้นี่หว่า”

(สยามรัฐหน้า 5 วันที่ 12 ก.ย. 2511)

พระอวสานกาล

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 ทรงพระประชวรมาเป็นเวลานาน และทรงพำนักรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเวลาสิ้นพระชนม์นั้น เวลา 01.08 น. ของวันอังคาร แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันที่ 11 พ.ย. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับที่หน้าเตียงบรรทม

สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา 11 เดือน 19 วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 13 ปี 9 เดือน 11 วัน