posttoday

สมเด็จพระสังฑราชผู้สร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จ 3 ตำแหน่ง

18 สิงหาคม 2556

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 12 ผู้สร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์ที่โด่งดัง

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 12 ผู้สร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์ที่โด่งดัง

เกิดเมื่อวันพุธที่ 12 พ.ย. 2399 เมื่ออายุ 22 ปี อุปสมบท ณ วัดเศวตฉัตร โดยมี สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วได้ย้ายมาอยู่วัดสุทัศนเทพวราราม

ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตำแหน่งสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์นั้น ท่านเป็นพระครูใบฎีกา เป็นฐานานุกรมของพระธรรมวโรดม (แดง) ต่อมาเลื่อนเป็น พระครูมงคลวิลาศ และ พระครูวินัยธร โดยลำดับ

ส่วนตำแหน่งสมเด็จนั้น ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ 3 ตำแหน่ง คือเมื่อ พ.ศ. 2466 ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี พ.ศ. 2472 ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะใต้

พ.ศ. 2480 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช หลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิ้นพระชนม์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตจากยุโรป ได้เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพัดยศ ผ้าไตรครอง และย่าม สถาปนาสมเด็จ เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันอังคาร แรม 8 ค่ำ เดือน 12 ปีขาลสัมฤทธิศก จ.ศ. 1300 ตรงกับวันที่ 15 พ.ย. 2481 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันเฉลิมพระชนมพรรษา 19 ก.ย. 2482 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และได้เชิญพระสุพรรณบัฏ ไปสมโภชที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2482

จึงเป็นพระเถระที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ 3 ตำแหน่ง รวมทั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 28 ก.ย. 2482 ได้นิมนต์สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) มาแสดงพระธรรมเทศนา สมโภชงพระสุพรรณบัฏ ที่ตำหนักวัดสุทัศน์ แต่มิได้ติดกัณฑ์เทศน์ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์จึงถามเป็นนัยว่าไม่มีกัณฑ์เทศน์ ตามธรรมเนียมเลยหรือ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) มีพระดำรัสว่าขอถวายทั้งตำหนัก (ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชอยู่ที่ คณะ 6 วัดสุทัศน์) สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) จึงเลือกตะลุ่มขนาดเล็กที่อยู่ยอดสุดของชุดตะลุ่มมุกไป 1 ชิ้น (ข้อมูลจาก อร่าม สวัสดิวิชัย มูลนิธิรัชกาลที่ 4)

เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 แทน พ.ร.บ.ฉบับ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) พ.ร.บ.ฉบับนี้คณะสงฆ์ก็มีสังฆสภาอนุโลมตามราชอาณาจักรที่มีระบอบรัฐสภา สมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่ได้เสด็จมาเป็นประธานในการเปิดสังฆสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จัดเป็นรัฐพิธีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2485 ที่ตำหนักวัดมหาธาตุ

ตามหมายกำหนดการนั้น เวลา 15 นาฬิกาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปยังสังฆสภา มีพระดำรัสเปิดประชุมจบ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาและถวายพระพรจบแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเสด็จกลับ

งานที่สร้างชื่อเสียงอมตะให้แก่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ คือการสร้างพระกริ่ง ที่ท่านเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี และได้สร้างมาโดยลำดับถึง พ.ศ. 2479 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระวันรัต

ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2554 ทางวัดสุทัศน์ยังจัดสร้างพระกริ่งเพื่อฉลอง 155 ปี สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นอีกด้วย

หากย้อนไปในช่วงเริ่มต้นชีวิตนั้น ท่านมีชีวิตย่านบางลำพูล่าง เมื่ออายุ 7 ปี ศึกษาอักขรสมัยที่วัดทองนพคุณ อายุ 13 ปี เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระธรรมวโรดม วัดราชบูรณะ แล้วบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชบูรณะ กลับไปอยู่ที่วัดทองนพคุณตามเดิม เพื่อทรงเล่าเรียนต่อ ส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นศึกษาในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตฉัตร

ต่อมาได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง) และสมเด็จพระสังฆราช (สา) ที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในปี พ.ศ. 2425 ได้เปรียญ 4 ประโยค และเมื่อ พ.ศ. 2428 ได้อีก 1 ประโยค รวมเป็น 5 ประโยค

ท่านเป็นพระเถระที่เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ยิ่งนัก เช่นเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้เติบโตในสมณศักดิ์ มีตำแหน่งในมหาเถรสมาคม วันหนึ่งก่อนประชุมมหาเถรสมาคม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าถวายผ้าไตรกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป เพื่อจะได้เปลี่ยนมาห่มแหวกแบบพระธรรมยุต ที่มีหลายวัดคล้อยตาม เช่น วัดมหาธาตุ เป็นต้น

สมเด็จพระสังฆราช (แพ) เมื่อครองสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์ หรือพระพรหมมุนี (ไม่แน่ใจ) รับผ้าไตรมาแล้วเดินกลับวัดสุทัศน์ โดยไม่ได้ห่มใหม่

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทราบจึงถามขึ้นในวันหนึ่ง ท่านจึงตอบว่ายังเคารพในขนบธรรมเนียมพระอาจารย์ของตนอยู่ และมองหาเหตุผลไปอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเปลี่ยน จึงขอครองผ้าอย่างเดิม พร้อมกับบอกว่า หากเลือกได้ บวชใหม่จะขอบวชแบบห่มแหวกก็ได้

นับแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หยุดชักชวนพระมหานิกายให้เปลี่ยนจากการห่มแบบมังกร มาห่มแบบมอญ หรือห่มแหวกแบบธรรมยุต

พระเกียรติยศอีกเรื่องหนึ่งของพระองค์ คือเป็นประธานการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย ที่ได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ทรงประชวรพระโรคชรา กระเสาะกระแสะเรื่อยมา แต่เพราะพระทัยเข้มแข็ง ประกอบกับได้แพทย์ผู้มีความสามารถถวายการพยาบาล จึงมีพระอาการทรงอยู่ได้ตลอดมา จนถึงวันที่ 1 พ.ย. 2487 ทรงประชวรอีกครั้ง พระอาการทรุดหนักลง แพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2487 เวลา 03.00 น. ที่ตำหนักวัดสุทัศนเทพวราราม สิริพระชันษาได้ 89 ปี

ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 6 ปี 11 วัน นับว่าคณะสงฆ์สูญเสียพระเถระที่เป็นแกนหลักยิ่งพระองค์หนึ่ง แต่เกียรติคุณยังไม่จางไปจากความทรงจำของสงฆ์ไทยและประชาชนชาวไทยถึงปัจจุบัน