posttoday

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 ปฏิรูปการศึกษาและปกครองสงฆ์

04 สิงหาคม 2556

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีผลงานอเนกประการ ทั้งพุทธจักร และราชอาณาจักร เพราะทรงมีพระชนม์ในยุคเปลี่ยนแปลงประเทศ

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีผลงานอเนกประการ ทั้งพุทธจักร และราชอาณาจักร เพราะทรงมีพระชนม์ในยุคเปลี่ยนแปลงประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 จึงทรงงานสนองพระบรมราโชบายได้ดี ทั้งนี้นอกจากทรงเป็นพระบรมราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ยังเป็นพระสงฆ์ชั้นแนวหน้า มีการศึกษาทางด้านภาษาหลายภาษา ถ้าหากมีพระชนม์ชีพยืนยาว ผลงานคงประมาณมิได้แน่นอน

ส่วนผลงานช่วงที่ทรงพระชนม์ชีพ ก็เป็นอมตะ และเป็นคุณูปการต่อพุทธจักร และราชอาณาจักรตราบเท่าปัจจุบัน ซึ่งพอประมวลมาได้ย่อๆ ดังนี้

แต่ก่อนนั้นสังฆราชตัวจริง สั่งการบริหารคณะสงฆ์ คือเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นฆราวาส เมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงถวายพระพรขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ปลดแอกการปกครองสงฆ์จากฆราวาส มาเป็นของพระสงฆ์ เมื่อเดือน ก.ย. 2455 หลังจากที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ 1 ปี นับเป็นการปรับสถานภาพของคณะสงฆ์ครั้งสำคัญ ที่พระได้ปกครองพระด้วยกันเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลี และธรรมสำหรับพระสงฆ์จนแพร่หลายตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจที่สามารถเรียนได้ตามลำดับและรู้ผลปีต่อปี ผู้เรียนที่สอบได้ ยังสามารถนำความรู้ไปเผยแผ่ได้ถูกต้อง เป็นแก่นสารตรงตามธรรมวินัย ตรงกันข้ามกับอดีตที่มีการสอบบาลีด้วยปากเปล่า ใครแปลได้ตามเวลาที่กำหนดก็ผ่าน ใครแปลไม่ได้ก็ตก จะมีโอกาสสอบอีกครั้งหลังจากผ่านไป 3 ปี และการสอบปากเปล่าที่ว่านี้ กว่าจะสอบเสร็จสิ้นใช้เวลานานถึง 3 เดือน และไม่แน่ว่ามีความรู้จริงหรือไม่

ทรงตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อการศึกษาของคณะสงฆ์ธรรมยุต ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริแต่ต้น และพระองค์ทรงสานต่อ กลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของชาติไทย นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2436

ทรงตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อจัดพิมพ์ตำรา เป็นโรงพิมพ์ที่พิมพ์ตำราทางศาสนาโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร แต่มีอายุเพียง 8 ปี ก็หยุดดำเนินการ เพราะไม่มีทุนที่จะทำต่อไป

ผลงานที่อยู่ยงถึงปัจจุบัน คือ นิตยสารธรรมจักษุรายเดือน ตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา และข่าวสารต่างๆ ที่ทรงดำริให้จัดทำหลังจากตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ 1 ปี จึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทยและมีอายุเก่าแก่ที่สุดกว่า 100 ปี ซึ่งยังดำเนินการสืบมาจนทุกวันนี้

ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน เป็นเพราะพระองค์ทรงดำเนินการไว้ก่อนที่จะทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช เช่นการมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกสำหรับคณะสงฆ์ไทย (ซึ่งปัจจุบันเป็น พ.ร.บ ฉบับที่ 3 ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ทั้งนี้เพราะเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ เกือบทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์และประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี จึงทรงนำข้อมูลและปัญหาต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไขในทุกๆ ด้าน

ในแง่ของการกำหนดหลักเกณฑ์ของพระสงฆ์ให้ปฏิบัติให้สอดคล้องตามธรรมตามวินัย ก็เป็นพระองค์ท่านที่ได้ปรับปรุงอุปสมบทวิธี การพัทธสีมา และการทำสังฆกรรม ตามที่ได้ปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาล

พระประวัติเบื้องต้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 7 ค่ำ เดือน 5 ปีวอกเอกศก จ.ศ. 1221 ตรงกับวันที่ 12 เม.ย. 2403 ที่ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เพราะวันประสูติฝนตกหนัก

ทรงกำพร้ามารดาเมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 1 พรรษา เมื่อเจ้าจอมมารดาแพถึงแก่กรรม จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) พระมาตุจฉา (ป้า) ต่อมาทรงย้ายมาอยู่กับท้าวทรงกันดาร (ศรี) ผู้เป็นยาย มีโอกาสศึกษาหนังสือไทยเป็นครั้งแรกกับคุณครูชื่อนก ทรงเรียนแต่การอ่านมิได้หัดเขียน เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนทรงผนวชเป็นสามเณรเสียอีก นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และโหราศาสตร์ อีกด้วย

พระชนมายุ 14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 2 ปี ทรงลาสิกขา เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ทรงผนวชตลอดพระชนมชีพ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จถวายพุ่มเทียนพรรษา และทรงกราบพระองค์ที่ทรงอุปสมบทเพียงพรรษาแรก แทนที่จะทรงประคองอัญชลีดังที่ทรงปฏิบัติต่อพระรูปอื่นๆ อันนี้เป็นเหตุให้ตัดสินพระทัยว่าจะไม่ลาสิกขา

จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 1 พรรษาแล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษาที่ 2 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรม และภาษามคธ ทรงผนวชได้ 3 พรรษ ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกายเป็นพระองค์แรก เมื่อ พ.ศ. 2424

พ.ศ. 2435 ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร (เป็นเจ้าอาวาส) สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยากลงกรณ์ ทรงเริ่มพัฒนาการพระศาสนาเป็นอันมาก ถัดมาอีก 1 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต นับเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์ที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ในปี พ.ศ. 2449

หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) สิ้นพระชนม์ ในปลายรัชกาลที่ 5 ประเทศสยามไม่มีสมเด็จพระสังฆราชนานถึง 11 ปี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาสมณะ เมื่อ พ.ศ. 2453 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ทรงดำรงตำแหน่งได้ 10 ปี 7 เดือน ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2464 สิริพระชนมายุได้ 61 พรรษา 3 เดือน 20 วัน ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 2 ส.ค.ทุกปี คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศกุศล เรียกว่าวันบูรพาจารย์ โดยจัดมาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 92

เพราะผลงานของพระองค์ทำเพื่อส่วนรวม พระนามจึงทรงเป็นอมตะ มีผู้รำลึกถึงกราบไหว้บูชาเสมอ แม้จะสิ้นพระชนม์ไปนานถึง 92 ปี แล้วก็ตาม