posttoday

"พระสังฆคุณ"ลักษณะพระดี

23 มิถุนายน 2556

เทศนาเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เรื่องพระสังฆคุณ ส่าด้วยลักษณะพระภิกษุที่ดีว่าเป็นอย่างไร

เทศนาเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เรื่องพระสังฆคุณ ส่าด้วยลักษณะพระภิกษุที่ดีว่าเป็นอย่างไร 

หมายเหตุ : ระยะนี้สาธุชนทั้งหลายได้วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมพระภิกษุบางรูปว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะพระภิกษุที่ดีว่าเป็นอย่างไร จึงขอนำเอาเทศนาเรื่อง พระสังฆคุณ ของ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งแสดงไว้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2468 มาเสนอโดยมีรายละเอียดดังนี้

**************************

อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมีกถา กถิยเต, สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆติ อาทิกํ สงฺฆคุณกถํ เทเสสฺสามีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถสาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพ.

ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ 8 ค่ำแห่งปักขคณนาพุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกันในสถานที่นี้ เพื่อประสงค์จะสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติ ตามกำลังศรัทธาความสามารถของตนๆ และได้พากันประกอบกิจในเบื้องต้นมีไหว้พระและสมาทานศีลเป็นต้น สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว เบื้องหน้าแต่นี้เป็นโอกาสที่จะฟังพระธรรมเทศนาอันเป็นโอวาทานุสาสนี คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทพึงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ในการฟัง อย่าให้เป็นคนเปล่าเสียจากประโยชน์

คือ มีตาก็อย่าให้มีเสียเปล่า มีหูก็อย่าให้มีเสียเปล่า มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็อย่าให้มีเสียเปล่า มีตาก็ต้องดู มีหูก็ต้องฟัง แต่ควรจะดูจะฟังในสิ่งที่นำประโยชน์มาให้แก่ตน สิ่งใดที่ดูที่ฟังแล้วนำทุกข์โทษมาให้ สิ่งนั้นก็ให้ละเลิกงดเว้นเสีย อย่าไปดูไปฟัง ให้ดูให้ฟังแต่ในส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศล ที่อาจนำ|คุณประโยชน์มาให้แก่ตนเท่านั้น

ข้อสำคัญในร่างกายของเรานี้มีสมบัติอยู่ 6 อย่างเท่านั้น คือ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ 6 อย่างนี้เป็นสมบัติมีอยู่ในตัวของเรา และเราจะต้องอาศัยใช้สมบัติเหล่านี้มากกว่าสมบัติอย่างอื่นๆ จะไปข้างไหนก็เอาติดตัวไปด้วยเสมอ เหตุนี้ตัวของเราจึงชื่อว่ามีสมบัติเป็นของวิเศษ สมบัติที่เป็นของวิเศษนี้ถ้าใช้ไม่ดีก็เป็นทุกข์ ที่เป็นทุกข์ก็ไม่ใช่คนอื่นทำให้ ตนเองนั้นแหละเป็นผู้ทำให้แก่ตนเอง เมื่อตนไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ ทำไปๆ ทุกข์นั้นก็กลับกระท้อนคืนมาทับตนนั้นเอง

เหตุนั้นให้เห็นว่าบรรดาของวิเศษที่มีอยู่ในตัวของเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของที่เราจะต้องอาศัยโดยแท้ ถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปไหนไม่ได้ อาศัยการดูการฟังนี้แหละชักนำให้ดำเนินในทางที่ถูก ซึ่งเป็นปัจจัยให้ได้รับสุขสบายตลอดชีวิต ชีวิตของเราในระหว่าง 50-60 ปี ไม่นานสักเท่าไร ยังปล่อยให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญมีประการต่างๆ ก็เพราะไม่รู้ทาง โดยเหตุที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นเอง

การฟังธรรมเทศนาก็เพื่อจะให้รู้ทางว่า นี้เป็นทางแห่งความสุข นี้เป็นทางแห่งความทุกข์ จะได้เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติของตนยิ่งๆ ขึ้นไป

อาศัยเหตุนี้จึงได้แสดงคุณคือจรรยาของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธบริษัทได้สดับตรับฟังแล้วน้อมเข้ามาสู่ตน ตรวจดูที่ตนว่า พระคุณส่วนนี้มีอยู่ที่ตนของเราแล้วหรือยัง เมื่อตรวจดูเห็นว่าส่วนใดยังบกพร่องอยู่ ก็จะได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์ เมื่อเห็นมีอยู่ที่ตนบริบูรณ์แล้ว ก็จะได้รับผลคือเกิดปีติยินดีมีความสุขความเย็นใจ จะรู้จักคุณของพระพุทธเจ้าได้ด้วยตนเองทีเดียวว่า ผู้ที่มาถึงคุณของพระพุทธเจ้า ย่อมได้รับผลคือความสุขความเย็นใจอย่างนี้ๆ ทีเดียวหนอ เมื่อมาตรวจดูที่ตน เห็นพระคุณของพระพุทธเจ้ามาปรากฏขึ้นที่กายที่ใจของตนอย่างนี้ ก็จะรู้สึกตนได้ว่าไม่เสียทีที่มาฟังพระธรรมเทศนาถึงวัดวาอาราม เรายังได้รับความรู้ความเฉลียวฉลาดและสามารถปฏิบัติตามได้ถึงชั้นนี้ๆ

เหตุนี้จะแสดงสังฆคุณเพื่อให้เป็นทางตริตรองต่อไปให้พุทธบริษัทเพ่งดู การที่แสดงพุทธคุณก็ดี ธรรมคุณก็ดี สังฆคุณก็ดี แม้จะแสดงเฉพาะแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่าแสดงหมดทุกอย่าง คือเมื่อแสดงพุทธคุณ ก็แสดงธรรมคุณและสังฆคุณด้วย เมื่อแสดงธรรมคุณก็เป็นอันแสดงสังฆคุณและพุทธคุณด้วย แม้เมื่อจะแสดงสังฆคุณเช่นในวันนี้ก็ให้พึงเข้าใจว่าเป็นอันแสดงทั้งพุทธคุณและธรรมคุณด้วย เพราะท่านแสดงไว้ว่า “อญฺญมญฺญาวิโยคาว เอกีภูตมฺปนตฺถโต” พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าโดยวัตถุมี 3 แต่โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน จะพรากจากกันไม่ได้ ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนหาบ ถ้ายกแต่ขอนหาบข้างหนึ่ง ก็กระเทือนถึงคานและขอนหาบอีกข้างหนึ่ง ถ้ายกคานก็กระเทือนถึงขอนหาบทั้งสองข้าง

เหตุนั้นควรให้รู้สึกว่า ฟังพระพุทธคุณก็ชื่อว่าเป็นอันฟังพระธรรมคุณและพระสังฆคุณด้วย เมื่อฟังพระธรรมคุณก็ชื่อว่าเป็นอันฟังพระสังฆคุณและพระพุทธคุณด้วย เมื่อฟังพระสังฆคุณก็ชื่อว่าเป็นอันฟังพระพุทธคุณและพระธรรมคุณด้วย ผู้ใดจะเป็นคนวิเศษ เทศน์พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ให้แยกออกจากกันได้เป็นไม่มี จะแสดงไปอย่างไรๆ ก็ต้องเนื่องถึงกันอยู่อย่างนั้นเอง

ในประเภทแห่งพระสังฆคุณนี้ ตามที่พวกพุทธบริษัทท่องบ่นสาธยายและสวดกันอยู่เสมอๆ ว่า สุปฏิปนฺโนภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ มีเนื้อความว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี คำว่า สาวโก แปลว่า อันว่าสาวก คือ ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์นั้นเอง สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงอย่างหนึ่ง ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อจะรู้อย่างหนึ่ง สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งอย่างหนึ่ง

การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ปฏิบัติชอบยิ่ง 4 อย่างนี้ เมื่อย่นลงก็คือ สุปฏิปนฺโน อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงประโยชน์ที่มีในองค์ของพระสงฆ์ ก็ได้ทั้งส่วนที่เป็นอัตตัตถะ ประโยชน์ส่วนตน และปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น เหตุนั้นพระสงฆ์จึงมีประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือ ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

ด้วยอาการอย่างนี้ ข้อที่ว่าพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีนั้น คือปฏิบัติอะไร?

ในข้อนี้พึงเข้าใจว่า ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ คือร่างกายของเรานี้ เรียกว่าขันธ์

ถ้าก้อนนี้บริบูรณ์ด้วยศีล ก็เรียกว่าสีลขันธ์ ถ้าบริบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็เรียกว่าสมาธิขันธ์ ถ้าบริบูรณ์ด้วยปัญญา ก็เรียกว่าปัญญาขันธ์ การศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เข้าใจ แล้วน้อมเข้ามาสู่ตน ทำให้เกิดให้มีขึ้นที่ตน พระสงฆ์ท่านทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนจนเต็มที่ทุกอย่าง เมื่อปฏิบัติจนเต็มที่ ศีล ก็เรียกว่าอธิศีล สมาธิ ก็เรียกว่าอธิจิต ปัญญา ก็เรียกว่าอธิปัญญา

จึงได้บรรลุคุณในเบื้องบนเป็นอริยบุคคลตั้งต้นแต่โสดาบันขึ้นไป

ถ้ายังได้บรรลุคุณเบื้องบน คือ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป เรียกว่า อริยสงฆ์

อริยสงฆ์ แปลว่า สงฆ์ซึ่งไม่มีข้าศึกภายใน คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

เมื่อท่านบรรลุคุณเบื้องบนเป็นอริยสงฆ์แล้ว ข้าศึกเหล่านี้ตั้งอยู่ไม่ได้ อย่าไปเข้าใจว่าข้าศึกภายนอกกันไม่ได้ทีเดียว แต่พระโมคคัลลานะผู้มีฤทธาเดชานุภาพเป็นอันมาก จะล่องหนหายตัวดำดินหรือเหาะเหินเดินอากาศก็ได้ แม้อย่างนั้นก็ยังกันไม่ได้ ยังถูกพวกโจรทุบตีเสียป่นปี้ทีเดียว เพราะเวรตามทัน จะป้องกันแก้ไขอย่างไรย่อมไม่ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่มีเวรหนหลัง พระอริยคุณกันภัยอันตรายได้เหมือนกัน

เหตุนั้นพึงเห็นว่าพระอริยคุณกันได้แต่ข้าศึกภายใน ถึงข้าศึกภายนอกก็กันได้ ยกเสียแต่เวรที่ทำไว้ในหนหลังมาตามทันเข้าเท่านั้น ถ้ามุ่งเฉพาะข้าศึกภายในแล้ว เป็นอันไม่มีมารบกวนแน่นอนทีเดียว

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติตนของท่านให้เป็นสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์

เมื่อทำตนให้เป็นสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ได้แล้ว โทษทั้งปวงก็หมดไป เพราะศีลเป็นคุณธรรมกำจัดข้าศึกภายในที่ออกมาทางกายและวาจา ข้าศึกภายในที่ออกมาทางกายนั้น ก็คือการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ที่ทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ออกมาทางวาจานั้นคือ การกล่าวมุสา กล่าวคำหยาบ เป็นต้น ที่กล่าวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามีศีลเป็นเครื่องป้องกันเสียแล้ว โลภ โกรธ หลง ที่จะแสดงออกมาทางกายและวาจาก็ดับ โลภ โกรธ หลง ที่ดับนี้ไม่หนีไปไหน เป็นแต่สงบไปเป็นความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เท่านั้น

เหตุนั้นจึงต้องมีการสังวร

เมื่อผู้ที่มาทำตนของตนให้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมคือศีลอย่างนี้แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่แสดงออกมาทางวาจาก็แสดงออกมาไม่ได้ คงยังเหลืออยู่ทางใจ ในส่วนใจนั้นยังยุ่งอยู่ สิ่งที่ทำใจให้ยุ่งก็ไม่ใช่อื่น ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง ที่ท่านยกมาแสดงว่า กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก หรือที่ท่านกล่าวว่านิวรณ์ 5 คือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี้เป็นอย่างกลางๆ

ส่วนที่เป็นอย่างกลางๆ นี้ก็เป็นข้าศึกของใจอยู่นั้นแหละ เหตุนั้นจึงต้องปราบด้วยสมาธิ

สมาธิเป็นคุณธรรมสำหรับกำจัดข้าศึกทางใจ

ธรรมชาติของใจเป็นของสอนได้ยากไม่เหมือนสอนผู้อื่น คือสอนผู้อื่นนั้นสอนได้ง่าย ส่วนตนนี้สอนยากนัก ผู้ที่เป็นนักปราชญ์จะต้องสอนตนเสียก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่นต่อภายหลัง แม้พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็สอนตนของท่านเสียก่อน เมื่อสอนตนของท่านได้แล้ว จึงได้สอนผู้อื่นต่อไป คือจะเป็นส่วนศีลก็ดี ส่วนสมาธิก็ดี ส่วนปัญญาก็ดี ท่านก็ทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนทุกๆ อย่าง แม้ถึงพวกเราก็ควรจะดำเนินตามอย่างของท่าน คือควรบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในตนทุกๆ อย่าง จะเป็นส่วนศีลก็ดี ส่วนสมาธิก็ดี ก็ควรทำให้เกิดให้มีขึ้น จะได้กำจัดข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบและอย่างกลางเสียได้

ส่วนที่ละเอียดเป็นอนุสัย หรือเป็นอุปธิฝังแน่นอยู่เหมือนอย่างไม่มี จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ถ้ายังกระเทือนอยู่หวั่นไหวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีกิเลสอย่างละเอียดฝังแนบแน่นอยู่ในใจ ท่านที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติของท่านจนเป็นปัญญา เมื่อเป็นปัญญาขึ้นแล้ว อุปธิกิเลสซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดนี้ก็หมดไปเอง

ข้อสำคัญการปฏิบัติที่จะเป็นพระสงฆ์บริสุทธ์ขึ้นได้ ก็ประสงค์ปัญญา ปัญญาก็คือให้รู้จักสังขารนี่เอง สังขารมีมาก หยาบบ้าง ปานกลางบ้าง ละเอียดบ้าง ถ้าความรู้ของเราหยาบ สังขารก็หยาบ ถ้าความรู้ของเราปานกลางหรือละเอียดสังขารก็ปานกลางหรือละเอียดไปตาม สุดแท้แต่ว่าถ้าความรู้ของเราละเอียดหนักเข้าไปเพียงไร สังขารก็ละเอียดหนักเข้าไปเพียงนั้น ผู้ประสงค์จะตรวจสังขาร ต้องดำเนินทางวิปัสสนาต้องตรวจตรองให้หนักเข้าไปๆ จึงจะรู้เรื่องของสังขาร

สังขารนี้ก็เทศน์อยู่เสมอ เพราะเป็นของละเอียดนัก เป็นของที่คอยซ่อนเงื่อนอยู่เสมอ เหมือนอย่างที่เราเรียนทรงจำไว้จนแน่นอนแก่ใจ ดัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น นี้เป็นเรื่องของสังขารทั้งนั้น ที่ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของที่แต่งขึ้นทั้งสิ้น ไม่ใช่ของจริงๆ เพียงสมมติเท่านั้น ความจริงไม่ใช่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าไม่สมมติก็ไม่รู้จะเรียกว่ากระไร จึงต้องตั้งชื่อเรียกกันทั้งนั้น ให้เข้าใจว่าชื่อที่ตั้งไว้สำหรับเรียกกันนั้นเป็นของใหม่

ให้ตรวจดูให้ถึงของจริง ถ้าไปดูเพียงสมมติก็รู้จักของจริงไม่ได้ ของจริงคือสิ่งที่รับสมมติ อันนี้เป็นทางสำหรับจะตรองให้เพิกอุปธิ ถึงในตัวของเราที่เรียกว่าธาตุ ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นของจริงเพียงสมมติเท่านั้น ไม่ใช่พวกเราเกินไป

ท่านก็กินข้าวเหมือนกันกับเรา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกันกับพวกเรา ทำไมท่านจึงสำเร็จได้ น่าคิดน่าสงสัยแต่ก็ไม่คิดไม่สงสัย ปล่อยให้สังขาร วิญญาณ นามรูป ฯลฯ ที่เป็นอุปธิฝังแน่นอยู่ในใจของตนได้

เมื่อไม่คิดให้รู้เท่าในตัวของเราก็เป็นสังขารหมดทั้งก้อน เมื่อตรวจตรองดูรู้ความจริงแจ้งชัดเป็นตัววิชชาขึ้นแล้ว อวิชชาก็ดับ เมื่ออวิชชาดับ สังขาร วิญญาณ นามรูป ฯลฯ ก็ดับ

อาการที่ดับก็คือดับสมมตินี้เอง คือ สกลกายก้อนนี้เป็นสังขารโดยสมมติเท่านั้น

ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ก็ไม่ใช่สังขาร เป็นของจริงอยู่ส่วนหนึ่งเรียกว่า ธมฺโม แปลว่า ธรรมดา เมื่อรู้เท่าสมมติ สมมติก็ดับ ตลอดถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ดับหมด เหลือแต่ธรรมดาที่เรียกว่าสภาวธรรมเท่านั้น ให้ตรวจดูหน้าตาของสมมติจนเห็นชัด เป็นยถาภูตญาณทัสสนะก็สามารถจะทำใจของตนให้หมดจด เป็นวิสุทธขันธ์สันดานได้

ท่านที่ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จนเพิกสังขารได้อย่างนี้ ย่อมสำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคล อย่างต่ำก็ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

ท่านละสักกายทิฏฐิก็คือละอัตตานุทิฏฐิ ความเห็นที่เป็นเหตุให้ถือว่าขันธ์ 5 มีในตน หรือตนมีในขันธ์ 5 หรือเห็นขันธ์ 5 เป็นตนหรือเห็นตนเป็นขันธ์ 5 รวมเป็นสักกายทิฏฐิ 20 อย่างนี้ก็ดับไป วิจิกิจฉา ความสงสัยในเบญจขันธ์ก็ไม่มี สีลัพพตปรามาส ความสงสัยในศีลและวัตรที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ไม่มี คือ เห็นตรงต่อไตรสิกขาที่ตนประพฤติมาแล้วเป็นศีลเป็นวัตร ตัดความสงสัยในศีลและวัตรของตนได้

อย่างนี้เรียกว่าตกกระแส คือถึงภูมิพระโสดาบัน ชื่อว่า อริโย เป็นพระอริยบุคคลประเภทต้น คำว่า อริโย ไม่มีข้าศึก ให้เข้าใจว่าเป็นผู้ไม่ทำตนของตนให้เดือดร้อนอย่างนี้

เมื่อพุทธบริษัทได้สดับแล้ว ควรตรวจดูให้รู้ขึ้นในตนทำตนให้ถึงคุณของท่านเสียก่อน เมื่อทำให้ถึงจนเห็นผลประจักษ์ชัดขึ้นในใจของตนแล้ว ก็จะเห็นคุณของพระสงฆ์ เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างมั่นคงว่า พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณอย่างนี้ๆ ทีเดียว ถ้าไม่มีพระสงฆ์เราก็จะไม่รู้แจ่มแจ้งถึงเพียงนี้ เหตุนั้นจึงควรที่พุทธบริษัทจะพึงโยนิโสมนสิการ ตรวจตรองดูให้เข้าใจความ แล้วอุตสาหะประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะได้รับความสุขความเจริญในพระศาสนา โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้