posttoday

วิสัชนาธรรมตามนิมิตเพื่อประโยชน์แห่งการเจริญธรรม...(ตอน ๗)

04 มิถุนายน 2556

ฉะนั้น ถ้านักปฏิบัติหรือผู้ศึกษาธรรมได้เรียนรู้แผนภูมิของจิตก็จะพบคำว่า ชวนจิต ๗ ดวง และทั้ง ๗

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ฉะนั้น ถ้านักปฏิบัติหรือผู้ศึกษาธรรมได้เรียนรู้แผนภูมิของจิตก็จะพบคำว่า ชวนจิต ๗ ดวง และทั้ง ๗ ดวงนี้จะแสดงให้เห็นเรื่องของการกระทำ ผลแห่งการกระทำนั้นตามผลของกรรม เช่นผลแห่งกรรมที่จะเกิดขึ้นปัจจุบันทำแล้วเกิดผลรับผลนั้นทันที รับผลในเบื้องหน้า หรือในชาติต่อไปและในชาติสืบต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับกำลังแรงของคำว่า ชวนจิตทั้ง ๗ ดวงนี้ ที่จะทำหน้าที่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าไปเสพอารมณ์ดังกล่าวอันสมบูรณ์แล้ว ก็จะเกิดกำลังขึ้น เป็นกำลังที่เกิดความเร็วและมีแรงผลักดัน ซึ่งไม่มีในจิตประเภทอื่น จึงเกิดเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล ณ ขณะที่ชวนจิตทำงาน เมื่อเสพสมบูรณ์แล้วจึงส่งต่อไปสู่จิตขณะต่อไป เรียกว่า ตทารัมมณจิต ซึ่งจะจดจำบันทึกสภาพผลแห่งกระแสนั้นไว้ และจะทำหน้าที่อีก ๒ ขณะ ตทารัมมณจิตทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากชวนจิต และทำหน้าที่อีก ๒ ขณะ ๒ ครั้ง กล่าวว่าเหมือนคนวิ่งไปด้วยกำลังที่แรง จิตเดินเต็มที่ตามลำดับทั้งหมดเป็นขณะจิต จิตส่งต่อไป เมื่อไปถึงสุดท้ายที่ตทารัมมณจิต เพื่อจดจำบันทึกสิ่งที่ได้เสพนั้น ก็จะทำงานประมาณ ๒ ครั้ง จึงจะหยุด กล่าวว่าเหมือนคนวิ่งไปด้วยกำลังแรง หยุดทันทีก็ไม่ได้ จำต้องก้าวไปอีก ๒๓ ก้าว จึงจะหยุดวิ่งได้ หลังจากตทารัมมณจิต ๒ ดวงดับแล้ว เป็นอันจบจิตวิถี ๑ วิถี จิตดังกล่าวก็จะตกลงภวังค์ เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นใหม่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตกภวังค์ เป็นจิตที่เหมือนนอนนิ่งสงบเหมือนคนนอนหลับ แต่ว่ามันยังดำเนินวิถีอยู่ แต่เป็นการดำเนินวิถีอยู่กับคำว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจาก กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต ที่เกิดขึ้นจากภพก่อนคือเกิดขึ้นจากที่ผ่านมา แต่เมื่อมีอารมณ์เข้ามาใหม่ มันก็จะเคลื่อนตัวตัดกระแสภวังค์จิต และดำเนินอย่างนี้ๆ สลับกันหมุนเวียนเป็นไปโดยนัยนี้

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายจึงดำเนินไปตามกิจกรรม โดยมีชีวิตเป็นพื้น จิตที่เป็นองค์แห่งภพก็จะเกิดขึ้นคือ ภวังคจิต มีเกิดดับ สืบเนื่องไปตลอดเวลา เรียกว่าอยู่ในกระแสของภวังค์ (ภวังคโสตะ) เป็นการแสดงความมีชีวิตอยู่ แม้ขณะนอนหลับจิตก็ยังทำงานเคลื่อนไหวไปในภวังคโสตะ... การดำเนินชีวิตจึงเป็นการสลับหมุนเวียนไปของกระแสภวังคจิต (ภวังคโสตะ) กับกระบวนวิถีจิต (วิถีจิตตปวัตติ) ที่เกิดดับสืบต่อไปมากมายไม่อาจจะนับได้ แม้ขณะที่เรานั่งฟังธรรมอยู่ดังกล่าวนี้ วิถีจิตก็ดำเนินงานต่อเนื่อง สลับกับภวังคจิตอย่างรวดเร็วมาก ยากที่จะจับรู้ได้เท่าทันในการเปลี่ยนแปลง ณ ขณะจิตนั้นๆ นี่คือความอัศจรรย์แห่งจิตที่ยากจะเรียนรู้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง หากขาดการประพฤติปฏิบัติให้เกิดปัญญาธรรมตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงไม่แปลกที่สัตว์โลกยังคงร่าเริงยินดี แม้โลกนี้จะถูกไฟเผาไหม้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ มีความเร่าร้อนมากมาย

อ่านต่อฉบับหน้า