posttoday

ธรรมบรรยายจากมุมไบ มงคลสูตร...สู่การเจริญวิปัสสนา (ตอน ๘)

09 พฤษภาคม 2556

ตรงนี้ จึงจะยกพระสูตรที่สำคัญที่กล่าวไว้ก็คือ มังคลสุตตัง เพื่อแสดงให้เห็นถึง ๓๘ ขั้นตอนของการพัฒนากาย วาจา ใจ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ตรงนี้ จึงจะยกพระสูตรที่สำคัญที่กล่าวไว้ก็คือ มังคลสุตตัง เพื่อแสดงให้เห็นถึง ๓๘ ขั้นตอนของการพัฒนากาย วาจา ใจ เพื่อให้ถึงพร้อมในแต่ละขั้นๆ สำหรับก้าวไปถึงคำว่าวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุด อันมีอยู่ ๓๘ ขั้น ที่ทุกคนสามารถตรวจวัดได้ว่า ตัวเองมีความพร้อมหรือไม่ สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์อย่างไร

ถ้ายังทำไม่ถูก ก็ทำให้ถูกต้อง ไม่พร้อม ก็ทำให้พร้อม ไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้สมบูรณ์ แสดงว่าทั้ง ๓๘ ขั้น เป็นตัววัดคุณภาพชีวิตของเรา ว่ายืนอยู่ตรงจุดไหนของเส้นทางที่จะมุ่งไปสู่จุดสูงสุดของวิปัสสนาญาณอันเป็นผล ก็คือ พระนิพพาน

เมื่อเราเข้าใจในตัวของเราเองแล้ว ก็พัฒนาไปตามขั้นตอนนั้น แล้วอ่านตัวเองออก บอกตนเองได้ ก็เพื่อใช้ตนเองให้เกิดประโยชน์บนเส้นทางธรรมนี้ จึงต้องรู้จักการเทียบเคียงเข้าหาธรรมะ

มาถึงจุดนี้แล้ว ต้องหยุด ๕ นาที แล้วถามทุกคนว่าทุกคนพร้อมฟังต่อหรือไม่ หรือจะฟังพรุ่งนี้ ถ้าพร้อมฟังพรุ่งนี้ก็หยุดเท่านี้ พักผ่อนก่อน

ฟังแล้วต้องตรวจกันทีละขั้นทีละขั้น ตรวจว่า คุณพร้อมไหม ยังฟังต่อไหวไหมบนทางที่ถูกต้องเพื่อไปถึงสถานีนี้ ทุกคนสามารถตรวจสอบตนเองได้ในแต่ละขั้น ทีละขั้น ทีละขั้น ไปตามลำดับได้ ใน ๓๘ ขั้นนี้ เพื่อพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จ เพื่อพัฒนาจิตให้บริสุทธิ์ที่จะเห็นเข้าไปในจิต

ให้ทุกคนไปกินน้ำก่อน ต้องบอกว่าหนักนะ ต้องเตือนกันก่อน หนักนะ และผู้เรียนต้องนิ่งกว่านี้ ห้ามหลับ ทุกคนต้องลืมตาฟัง ห้ามหลับตา ให้ฟังอย่างเปิดตา เพราะถ้าปิดตานี่จะหลับทันที ธรรมะนี้หนัก ต้องฟังอย่างจดจ่อ ต้อง Concentrate ต้องเปิดตา ปิดตาเมื่อไหร่เป็นได้หลับทันที แล้วก็ให้ทำเหมือนฟังในห้องบรรยาย จดได้ก็จดเลย มีกระดาษไหม พอหลังจากฟังแล้ว เข้าใจแล้ว จึงจะปฏิบัติ แล้วถึงเวลานั้น เราจะคุยกันตัวต่อตัวว่าแต่ละคนจะไปทางไหน ก็คงจะต้องเดินต่างกัน แต่ละคนต้องมานั่งคุยด้วย เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ก็มาคุยกัน

ที่ให้พักก่อน ก็เพราะถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ถึงจะสอนอย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง พูดกันยังไม่รู้เรื่องเลย จะให้สอนได้อย่างไร ใช่ไหม เมื่อสอนไม่รู้เรื่อง แล้วจะบอกให้ปฏิบัติอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะผิดไปจากธรรมชาติการเรียนรู้ เมื่อบอกว่าคุณต้องเดินทางอย่างเปิดตาเห็นทาง มิใช่ปิดตา แล้วมาบอกว่า ฉันเห็นแล้ว คุณก็หลอกตัวเองว่าคุณถึงแล้วอยู่ทุกวัน หลอกตัวเองว่าเป็นนักวิปัสสนาญาณทุกวัน แต่ว่านั่นวิปัสสนาตรงไหน คุณต้องเปิดตา และเดี๋ยวจะถาม คุณต้องตอบได้ด้วย เมื่อถามแล้ว คุณต้องสอบปากเปล่าได้ก่อน ถึงคุณจะปฏิบัติได้ ถ้าใครไม่ยอมรับหลักการนี้ ก็ไม่ต้องเรียน อาตมาจะได้พัก

เพราะการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ต้องเรียนอย่างเปิดตาและเปิดจิต เปิดตาเห็นของจริง เปิดจิตเห็นธรรมะ ใครเถียงบ้าง ถามก่อน

มีคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าเปิดตา ใจมันก็วอกแวก” พระอาจารย์อารยะวังโส กล่าวว่า “หากปิดตา ก็จะหลับเลย และเมื่อเปิดตา นั่งฟัง ก็ให้ทอดสายตาลง อย่าไปมองข้างหน้า ให้ทอดสายตามองที่พื้น ให้นิ่ง สงบ และกำหนดเปิดตานิ่ง จะได้รู้ว่าคุณตั้งใจ จิตมันจะแน่วแน่ ธรรมะนี่มันหนักโดยธรรมอยู่แล้ว หนักจนกดจิตจนหลับได้เลย อาตมาเคยเทศนาพระอภิธรรมแล้วคนหลับกันเกือบทั้งศาลา พระก็หลับ เพราะหนักมาก พอจบธรรมะ ตื่นทันทีเลย ที่หลับนี่เพราะสมาธิไม่พอ อาการหลับจึงเป็นตัวฟ้อง เพราะว่าเวลาฟังธรรมจะต้องพิจารณา จิตจะต้องฟังตามตลอดการพิจารณา และในการพิจารณานี้ ถ้าหากกำลังไม่พอ ก็จะหลับทันที

ถามว่า แล้วทำไมถึงง่วง ก็เพราะอำนาจธรรมกับจิตไม่สมดุล ฉะนั้นถ้าฟังธรรมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับคนแบกของหนัก นั่นคือ อัศจรรย์ของธรรม ถ้าธรรมสูงขึ้นไป แต่จิตไม่พอ มันก็จะหนักไปเรื่อยๆ เวลาอาตมาบรรยายก็ต้องต่อเนื่องไปจนจบ จะไม่หยุด ดังนั้นถ้าการควบคุมจิตไม่แข็งแรงพอ หรือสมาธิไม่แข็งแรงพอ โอกาสที่จะหลุดจึงมี เหมือนคนเรานั่งสมาธิ โอกาสที่จะหลุดได้ก็มีตลอด เพราะธรรมะนี้เดินต่อเนื่องไปข้างหน้า

ประเดี๋ยวลองทดสอบดู ก็จะรู้ว่าสิ่งที่พูดไปนี่ มันก็จะเกิดอย่างนี้ แต่ก็ไม่มีปัญหา ให้ทุกอย่างผ่านก่อน เดี๋ยวมาคุยกัน ตอนนี้ แค่เตือนไว้ก่อน แล้วถ้าอาการนี้เกิด จะได้เข้าใจว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้เอง และไม่ได้แปลกอะไร เพราะทุกคนนะ จิตไม่แข็งแรง”

อ่านต่อฉบับหน้า