posttoday

การประชุมนานาชาติณ เมืองพาราณสี อินเดียกรณีพระธรรมวินัยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ตอน ๑๗)

15 มีนาคม 2556

พึงเรียกภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นเข้าหมู่ (อัพภาน) ในสีมานั้น... นี้เป็นสามีจิกรรมในพระพุทธศาสนา...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

พึงเรียกภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นเข้าหมู่ (อัพภาน) ในสีมานั้น... นี้เป็นสามีจิกรรมในพระพุทธศาสนา...

หากพิจารณาอย่างละเอียดในกระบวนการลงโทษภิกษุผู้ล่วงกระทำผิดในสิกขาบทหมวดสังฆาทิเสส ทั้ง ๑๓ สิกขาบท จะเห็นว่า จะต้องพึ่งสงฆ์อย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่เปิดเผยความผิด (อาบัติ) ต่อสงฆ์ หมายถึง ต้องแจ้งให้สงฆ์ทราบอย่างเปิดเผย เพื่อขอพึ่งสงฆ์ในการสงเคราะห์ออกจากอาบัตินั้นๆ ซึ่งสงฆ์จะเป็นผู้กำหนดปริวาสกรรม ที่เรียกว่า อยู่กรรม คล้ายๆ ถูกคุมขังอยู่ในเขตแดน มีระเบียบการประพฤติเป็นแบบฉบับของผู้ต้องอยู่ปริวาส จนจบสมบูรณ์ครบตามจำนวนวันแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการบอกมานัตและอัพภาน ซึ่งจะต้องมีพระภิกษุตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไปในอาวาส จึงกระทำอัพภาน เพื่อขอสงฆ์รับเข้าหมู่คณะได้ ซึ่งยุ่งยากมากในกระบวนการลงโทษทางสังฆาทิเสส เพราะทุกอย่างทุกขั้นตอนต้องพึ่งอำนาจสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อจะได้เกรงกลัว ละอายต่อบาปที่กระทำ จะได้ไม่ล่วงละเมิดอีกต่อไป...

อีกหมวดหนึ่งของสิกขาบทที่น่าศึกษายิ่ง ได้แก่ นิสสัคคียปาจิตตีย์ มี ๓๐ สิกขาบท ใน ๓ หมวด หมวดละ ๑๐ สิกขาบท ซึ่งเป็นแบบแผนของการใช้สอยปัจจัย ๔ ให้เหมาะสม เป็นการปรามมิให้ราคะหรือโลภะกำเริบดุจผู้ครองเรือน ในสิกขาบทหมวดนี้ นอกจากเป็นเรื่องของผ้าไตรจีวร ปัจจัยสิ่งของ เครื่องบริโภคอุปโภคแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การห้ามรับหรือถือครองเป็นเจ้าของในเงินทอง และการห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดทำธุรกรรมแบบชาวโลก ทั้งนี้หากประพฤติผิด ล่วงละเมิดสิกขาบท ในหมวดนิสสัคคียปาจิตตีย์ การออกจากความผิด จะต้องสละคืนสิ่งของหรือวัตถุตั้งต้นอาบัตินั้นก่อน จึงจะปลงหรือชำระอาบัติให้หมดสิ้นไปได้

อ่านต่อฉบับวันจันทร์