posttoday

การประชุมนานาชาติณ เมืองพาราณสี อินเดียกรณีพระธรรมวินัยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ตอน ๑๓)

11 มีนาคม 2556

หลักคุรุธรรมดังกล่าว ต่อมาได้ถูกบูรณาการมาเป็นหลักแห่ง “ศีล” ในพระพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานของการพัฒนาชีวิตไปสู่ความเป็นอารยชน

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

หลักคุรุธรรมดังกล่าว ต่อมาได้ถูกบูรณาการมาเป็นหลักแห่ง “ศีล” ในพระพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานของการพัฒนาชีวิตไปสู่ความเป็นอารยชน และสู่ความเป็นอารยบุคคลในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่า ต้องมีศีลที่วิสุทธิ ที่จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สมาธิหรือจิตใจที่วิสุทธิ เพื่อพัฒนาปัญญาให้วิสุทธิ

ฉะนั้น “องค์ศีล” จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาจิตวิญญาณที่นำไปสู่ความเป็นสุจริตชน ความเป็นคนดีในสังคม ทั้งนี้เพราะความเป็นคนดี หรือสุจริตชนนั้น จะต้องมีหลักธรรมคุ้มครองกาย วาจา ให้สุจริต ซึ่งก็ต้องอ้างอิงคุณของศีล

แม้ในความเป็นจริงของการควบคุมกาย วาจา ย่อมสำเร็จด้วยจิตใจที่ดีงามก็ตาม แต่เครื่องหมาย เครื่องมือ แห่งการควบคุมกายวาจา ก็คือ หลักแห่งศีล ซึ่งจะต้องมาจากความสำนึกชอบแห่งจิตวิญญาณ หมายความว่า จิตใจต้องมีความสุจริตด้วย นั่นคือ การพัฒนาการความสำนึกที่ถูกต้องโดยธรรม เพื่อนำกลับมาสู่การควบคุมการกระทำทั้งกาย วาจา ให้ถูกต้องตรงธรรม เพื่อการมุ่งไปสู่ความสุขและสันติ ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนต่อกัน เป็นไปเพื่อความอนุเคราะห์สงเคราะห์ต่อกัน... แม้ในทางหลักกฎหมายก็เช่นเดียวกัน ก็ย่อมมีแนววิถีดังเดียวกับ “ศีล” ที่แปรรูปพื้นฐานมาจากหลักคุรุธรรมของชาวโลกในชมพูทวีป ซึ่งมุ่งหวังเพื่อให้สังคมอยู่ด้วยความสันติ ดังที่กล่าวว่า แม้หลักนิติใดๆ ก็ยึดรูปแบบเค้ามูลมาจากศีลเป็นแม่บท หรือเป็นธงแห่งนิติธรรม

เมื่อมีการร่างกฎระเบียบใดๆ ดุจดังการบัญญัติของสิกขาบทน้อยใหญ่ในพระพุทธศาสนา ก็ให้ต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมแห่งชุมชนสังคมนั้นๆ ที่จะต้องพึ่งพาตัวบทกฎหมาย ระเบียบการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาความสำนึกชอบ ให้รู้จักผิด รู้จักถูก เกรงกลัวต่อการกระทำผิด ดุจการเกรงกลัวบาป ตามหลักธรรมอันเป็นไปตาม กรรมนิยาม ทั้งนี้ ในด้านนิติศาสตร์จะมีบทลงโทษที่ถูกตราขึ้นด้วยตัวบทกฎหมายเป็นตัวกำกับ กำหนดอันครบสมบูรณ์ ทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน ซึ่งในความเป็นองค์ประกอบภายในนั้น หมายถึง เจตนคติโดยธรรมเป็นสำคัญนั่นเอง ดังแสดงในหลักแห่งนิติว่า เจตนาเป็นตัวบ่งชี้ถึงการกระทำ อันเป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า “เจตะนา หัง ภิกขะเว กัมมัง วาจา” หมายถึง เจตนาเป็นตัวแสดงถึงการกระทำที่จะต้องรับผลหรือไปตามการกระทำนั้น

และนี้คือ การแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและศีลธรรมที่มีหลักเดียวกัน มุ่งสู่ธงเดียวกัน คือ การสร้างความสำนึก หรือการพัฒนาการทางเจตน คติของบุคคลในชุมชนให้มีความสุจริต... เป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งแสดงผลสัมฤทธิ์แห่งการกระทำตามความจงใจ หรือเจตนาที่เกิดขึ้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้