posttoday

ชำระความเชื่อเพื่อเอื้อความจริง (10)

26 กุมภาพันธ์ 2556

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

ปุจฉา

รวมความว่า ที่ท่านอาจารย์อธิบายมาทั้งหมด สรุปได้ว่า เรื่อง “ฆ่าเวลา” ไม่เกี่ยวอะไรกับการส่งเสริมให้คนฆ่ากัน, ไม่เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งในสังคมไทยนะครับ

ทีนี้ผมยังค้างอีกเรื่องหนึ่ง คือ ที่ท่านถูกกล่าวหาว่า ไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนล่ะครับ

วิสัชนา

ลองยกตัวอย่างมาสิ

ปุจฉา

ก็ข้อความของท่านที่ว่า “คนธรรมดาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ส่วนคนมีปัญญาเรียกร้องสิทธิที่จะพ้นทุกข์”

วิสัชนา

เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เจตนารมณ์ของคำกล่าวนี้ก็มี “ฉบับเต็ม” อยู่ว่า “คนธรรมดา หมายถึงคนทั่วไป (ไม่ได้หมายความว่า คนโง่ อย่างที่มีบางคนพยายามจะตีความหรือยัดเยียดว่าอาตมากำลังดูถูกคนอื่นผ่านถ้อยคำเช่นนี้) นิยมเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของประชาชนทั่วๆ ไป เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ก็สามารถเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้

พระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เช่น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเคารพมนุษย์ทุกคนเหมือนดังหนึ่งคนทุกคนเป็นญาติพี่น้องของเรา หรือการที่ทรงปฏิเสธระบบวรรณะแล้วทรงสอนว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่แตกต่างกันเพราะ “การกระทำ” เท่านั้น

ใครทำดีคนนั้นก็ประเสริฐ ใครทำชั่วคนนั้นก็เป็นคนเลว หรือการที่ทรงเปิดโอกาสให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณีเสมอบุรุษ ก็นับเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ส่วนเราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธ นอกจากเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็ควรเรียกร้องสิทธิที่จะพ้นทุกข์ด้วย สิทธิที่จะพ้นทุกข์ก็คือ สิทธิที่จะบรรลุพระนิพพาน เพราะมนุษย์ทุกคนมี “โพธิจิต” อันหมายถึง การมีศักยภาพที่จะบรรลุนิพพานอยู่แล้ว”

เจตนารมณ์ของคำกล่าวนี้ก็มีอยู่แค่นี้ ไม่ได้กล่าวขึ้นมาเพื่อจะดูหมิ่นถิ่นแคลนใคร ไม่ได้หยามหมิ่นใครว่าโง่ ว่าต่ำต้อยด้อยการศึกษา เรื่องนี้ก็เป็นการพูดคุยกันในหมู่ผู้สนใจพุทธศาสนา เพื่อให้รู้จักสิทธิอีกรูปแบบหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจก็เท่านั้น ไม่ได้มีประเด็นทางการเมืองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เหมือนที่อาตมาชอบกล่าวว่า “คนส่วนใหญ่สนใจแต่การทำกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่จะมีใครสักกี่คนสนใจทำกรมธรรม์ประกันภพหน้า (การสั่งสมบุญ) กันบ้าง”

คำเหล่านี้ ถ้าหากคุณอยากเป็นนักวิจารณ์ คุณก็ต้อง “ฟัง” คำอธิบายให้ครบถ้วนมิเช่นนั้นแล้ว ก็จะวิจารณ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เจ้าของคำพูดเขาต้องการจะสื่อสาร แต่ถ้าคุณไม่ใช่นักวิจารณ์ ไม่ใช่นักคิด เป็นประชาชนทั่วๆ ไป ถ้าคุณชอบคุณก็กดไลค์ ถ้าไม่ชอบก็ดิสไลค์ เท่านั้นเอง

แต่ทันทีที่คุณอยากทำตนเป็นนักวิจารณ์ คุณจะอ่านข้อความแค่นี้ แล้วก็วิจารณ์เป็นงานเป็นการนั้นย่อมไม่ถูกต้อง เพราะข้อความเช่นนี้ การจะวิจารณ์ได้ คุณต้องรู้ “บริบท” ให้ครบ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการวิจารณ์อย่างผิวเผิน เหมือนนักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวหาไอน์สไตน์ว่า ไม่นิยมใช้ข้อมูลความรู้ หากนิยมใช้แต่จินตนาการ เพราะไอน์สไตน์เคยกล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นี่ก็เป็นการวิจารณ์อย่างเบาหวิวโดยขาดการมองอย่างลึกซึ้ง ไม่เป็นธรรมต่อไอน์สไตน์ เพราะแท้ที่จริงนั้น ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลความรู้ในทุกขั้นตอนของการทำงาน แต่ที่เขาพูดถึงจินตนาการว่าสำคัญกว่าความรู้ เขาก็หมายถึงในบางบริบทเท่านั้น ซ้ำเขายังขยายความด้วยว่า เพราะความรู้มีขอบเขตจำกัด ส่วนจินตนาการนั้นไร้ขีดจำกัด นี่คือข้อความโดยรวมที่มาอธิบายวรรคทองของเขา

ถ้าเราอ่านอะไรเพียงบางท่อน บางข้อความแล้วก็ตัดสินเลย วิจารณ์เลย โดยไม่สอบสวนทวนความ เราก็ไม่อาจเป็นนักวิจารณ์ที่ดีได้ เป็นได้อย่างดีก็แค่คนที่ชอบแสดงความคิดเห็นเลอะเทอะไปเสียทุกเรื่องเท่านั้น

การวิจารณ์จึงต้องการ “ความรู้” มาเป็นฐานข้อมูล ถ้ารู้ผิดก็วิจารณ์ผิด ถ้ารู้ถูกก็วิจารณ์ถูก แต่ถ้าไม่รู้อะไรเสียเลย ใช้แต่ความกล้าแสดงออกอย่างเดียวละก็ ขณะที่กำลังวิจารณ์คนอื่น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เห็นคุณภาพแห่งความคิดและเห็นถึงความหละหลวมในวิธีทำงานของตัวเองด้วยเช่นกัน