posttoday

การประชุมนานาชาติณ เมืองพาราณสี อินเดียกรณีพระธรรมวินัยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ตอน ๓)

25 กุมภาพันธ์ 2556

มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพความเป็นมนุษย์ให้เข้มแข็งตามฐานะ เช่น ผู้ประกาศตนเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์

โดย...พระอาจาย์อารยะวังโส

มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพความเป็นมนุษย์ให้เข้มแข็งตามฐานะ เช่น ผู้ประกาศตนเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (บรรพชิต) หรือผู้ครองเรือน (คฤหัสถ์) ตามวิถีพุทธศาสนา เพื่อก้าวให้ถึง สันติภาพ อิสรภาพ และธัมมานุภาพ ด้วยการฝึกฝนประพฤติปฏิบัติตนไปอย่างมีแบบแผนสู่ประโยชน์สุดโดยธรรม คือ ความสงบสุขอย่างแท้จริง ทั้งในฐานะทางโลก (สุขทางโลกที่พึ่งธรรม) และทั้งในฐานะทางธรรม (สุขทางธรรมที่ก้าวถึงธัมมานุภาพ ให้หลุดพ้นจากอำนาจโลก)

โดยประโยชน์สุดโดยธรรมดังกล่าว มิใช่จะเจาะจงเฉพาะบุคคล แต่ยังเอื้อเฟื้อถึงความสัมพันธ์ในสังคมทุกด้าน ทั้งบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติทั้งหลาย ซึ่งนี่คือความสวยงาม ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา อันควรศึกษายิ่ง เพื่อการเข้าให้ถึง... เพื่อความเข้าใจ... เพื่อความรู้อันแจ่มแจ้ง อันนำมาสู่ความศรัทธาอย่างมีปัญญา ในการนำมาศึกษาปฏิบัติอย่างรู้คุณ... รู้ค่า... และรู้เข้าใจในความหมายแก่นธรรมคำสั่งสอน

ก่อนจะเจาะจงศึกษาลงไปให้ถึงรากฐานแห่งรากแก้วของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระวินัยนั้น อาตมาขออัญเชิญ พระโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา หมายถึง เป็นประธานแห่งหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ดุจทางโลกมีธรรมนูญแม่บทของกฎหมาย ฉันใด พระธรรมคำสั่งสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็มี พระโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นดุจธรรมนูญแม่บท ฉันนั้น สมดังชื่อว่า พระโอวาท แปลว่า คำสั่งสอนจากพระโอษฐ์... พระปาฏิโมกข์ แปลว่า ที่เป็นหลัก หรือ เป็นประธาน รวมความ พระโอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า คำสั่งสอนจากพระโอษฐ์ ที่เป็นหลัก ที่เป็นประธาน หมายถึง ประธานหรือหลักของคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยมีสาระสำคัญของพระโอวาทปาฏิโมกข์ ประกอบด้วย สามคาถากึ่ง หรือมี ๓ ตอน ได้แก่

ตอนที่ ๑ พระคาถาที่ ๑ เป็นตอนแรก ประกาศอุดมการณ์ ๔ ขั้น คือ

๑.ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

๒.นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

๓.น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

๔.สมโณ โหติ ปรํ วิเหยนฺโตฯ

คำสอนข้อแรก (๑) ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า ความอดทนอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง หัวใจสารธรรมอยู่ในคำสอนนี้ อยู่ที่ตัว “ขันติ” ซึ่งแสดงถึง การมีสติปัญญาประกอบความเพียรชอบอย่างกล้าหาญ เข้มแข็ง ทางจิตใจ โดยมุ่งมั่นจะทำการนั้นให้สำเร็จ ด้วยความอดทน...อดกลั้น ต่อแรงบีบเค้น...บีบคั้นทางจิตใจ จึงเป็นการบำเพ็ญตบะเพื่อมุ่งเพียรเผากิเลส ซึ่งเป็นการบำเพ็ญตบะในพระพุทธศาสนา ที่แตกต่างไปจากศาสนาลัทธิอื่นๆ ในโลก

คำสอนข้อสอง (๒) นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันยิ่ง เป็นสุดยอดแห่งธรรม (บรมธรรม) เพราะให้ผลคือดับความทุกข์ได้สิ้น

คำสอนข้อสาม (๓) นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี แปลว่า ผู้เข้าไปฆ่าผู้อื่น ไม่ชื่อว่า บรรพชิต ต่อเนื่องด้วย

คำสอนข้อสี่ (๔) ที่ว่า สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐยนฺโต แปลว่า ผู้เข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า สมณะ

ทั้ง ๒ พระคาถาดังกล่าว แสดงถึงฐานะของบุคคลในพระพุทธศาสนา แม้จะเจาะจงที่ เพศบรรพชิต แต่ก็เป็นแนวชี้ แนวการปฏิบัติให้คฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือนที่เป็นชาวพุทธ) ด้วย โดยเน้นย้ำหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำร้ายกัน การไม่ฆ่ากัน การไม่เบียดเบียนกัน เป็นผู้ไม่มีเวรภัย เพื่อการนำสังคมไปสู่สันติ ซึ่งต้องเริ่มสร้างสันติที่ตนเอง มิใช่เรียกร้องจากผู้อื่น อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของสังคมมนุษยชาติที่คลั่งไคล้วัตถุนิยม...

นอกจาก อุดมการณ์ธรรมทั้ง ๔ ซึ่งจะต้องให้เกิดเป็นอุดมคติให้เกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อเป็นพื้นฐานของชีวิตที่จะก้าวสู่การศึกษาปฏิบัติ พัฒนาตนสู่ความเป็นอารยชนแล้ว พระโอวาทปาฏิโมกข์ ยังได้แสดงถึงหลักการอันมั่นคงของพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในตอนที่ ๒ ของพระคาถา ที่ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

ซึ่งมีความหมายสำคัญเป็น หลักการ ๓ ประการ ได้แก่

๑.การไม่ทำชั่วทั้งปวง

๒.การทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อม

๓.การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส

โดยสรุปกล่าว่า หลักการทั้ง ๓ นี้ เป็นหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จัดอยู่ในรูปไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) นั่นเอง

ในคาถาตอนที่ ๓ คือตอนท้ายของ พระโอวาทปาฏิโมกข์ มีหนึ่งพระคาถา กับครึ่งคาถา จึงเรียกว่า อีกคาถากึ่ง อันเป็นการแสดงข้อปฏิบัติ มีอยู่ ๖ ประการ ดังมีพระบาลีว่า...

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้