posttoday

รำลึก 45 ปี วิถ๊พรต สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

24 กุมภาพันธ์ 2556

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ หลังจากมีข่าวตั้ง พระพายัพ ชินวัตร เขมคุโณ ที่เพิ่งบวชที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย ได้ 1 วัน ให้ดำรงตำแหน่ง พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์ ฐานานุกรมของสมเด็จ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2556

ตำแหน่งพระครูปลัด ฐานานุกรมของสมเด็จชั้นสุพรรณบัฏ นั้นถือว่าเป็นสมณศักดิ์สูง มีสิทธิรับนิตยภัต (หรือเงินเดือนพระ) จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถ้ารับนิมนต์ไปในงานพระราชพิธี ที่จะต้องใช้พัดยศ จะมีที่นั่งต่อจากพระราชาคณะ หรือเจ้าคุณ และเหนือกว่าพระที่ทรงความรู้เปรียญธรรม 9 ประโยค (เปรียญเอก) และพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ หากได้เลื่อนอีกชั้นหนึ่งก็จะเป็นพระราชาคณะ หรือเจ้าคุณ

ดังนั้น ก่อนจะตั้งพระรูปใดให้เป็นพระครูปลัด พระเถระผู้ตั้งจึงต้องคิดให้รอบคอบและมองรอบด้านไม่ให้ผิดพลาด มิเช่นนั้นพระเถระผู้ตั้งอาจมีความผิดถึงขั้นละเมิดจริยาพระสังฆาธิการทีเดียว

สำหรับการแต่งตั้งพระพายัพ เป็นพระครูปลัดในครั้งนี้นับเป็นกรณีพิเศษ สังคมทั้งพระและฆราวาสให้ความสนใจและนำมาพูดถึงกันมากในเรื่องความเหมาะสม เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งสงฆ์ไทยจริงๆ ที่พระบวชใหม่ได้สมณศักดิ์เหมือนดังพระที่บวชมานาน

รำลึก 45 ปี วิถ๊พรต สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

 

ไม่ว่าใครจะพูดจะวิจารณ์อย่างไร สังคมต้องเคารพการตัดสินใจของสมเด็จพระธีรญาณมุนี ที่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่การปกครอง นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส พระอารามหลวงแล้ว ยังดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เลขาธิการคณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุต เจ้าคณะภาค 1-2-3 และ 12-13 (ธรรมยุต) รองแม่กองธรรมสนามหลวงฝ่ายนักธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธ.) และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธ.) อีกด้วย

สมณศักดิ์ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการทำงานให้คณะสงฆ์นั้น ท่านได้รับการเลื่อนสูงตามลำดับ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมราภิรักขิต พ.ศ. 2532 พระราชธรรมสุธี พ.ศ. 2538 พระเทพวรเมธี พ.ศ. 2538 พระธรรมวรเมธี พ.ศ. 2543 พระพรหมเมธี และ พ.ศ. 2553 สมเด็จพระธีรญาณมุนี ในขณะที่มีอายุ 62 ปี นับพรรษาได้ 42 พรรษา นับเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่อายุน้อยรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย

การศึกษา ท่านจบนักธรรมก็ชั้นเอก เปรียญธรรม 8 ประโยค และปริญญาตรี-โท จากมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดีย

ล่าสุดตั้งวิทยาลัยป้องกันกิเลส หรือ วปก. เป็นโครงการบวชพระแก้กิเลส ซึ่งมีผู้ศรัทธาสมัครบวชจำนวนมาก จึงต้องจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดบวชไปแล้ว 85 รูป ครั้งที่ 2 จะจัดในเดือน พ.ย. 2556 ตามข่าวว่าจะจัดบวชไปเรื่อยๆ ให้ได้ 1 ล้านรูป เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสร้างศาสนทายาท

45 ปี วิถีพรต

ด้านปฏิปทา นิตยสารธงธรรม นิตยสารในวงการพระสงฆ์ เขียนเรื่อง การจัดงานบำเพ็ญกุศล 45 ปี วิถีพรต หรือวันบวชครบ 45 ปี (19 ก.ค. 2510-19 ก.ค. 2555) ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (วรชาโย) เพื่อน้อมรำลึกถึงพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ อันยังความอบอุ่น ความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดและให้เจริญตลอดระยะเวลาตั้งแต่น้อยจนเติบใหญ่ อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีสติปัญญา ความรู้ ความประพฤติ ส่งเสริมลาภ ยศ สรรเสริญ กิตติคุณและไมตรีเพิ่มพูนไพบูลย์มาโดยลำดับ

ในงานสำคัญนี้ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (วรชาโย) ได้จัดพิธีอุปสมบทกุลบุตร 3 คน โดยมีสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอุปัชฌาย์ นอกจากนี้ยังได้นิมนต์พระสงฆ์สมณศักดิ์ จำนวน 45 รูป รับทักษิณานุปทานและพระสงฆ์สมณศักดิ์ จำนวน 45 รูป เจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดยมีศิษยานุศิษย์เข้าร่วมในพิธีอย่างคับคั่ง

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (วรชาโย) ได้เขียนถึงจุดมุ่งหมายในการจัดงาน มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ ที่แสดงถึง 45 ปี วิถีพรต ว่า “...ณ มณฑลพิธีอุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2510 เวลา 13.00 นาฬิกาเศษ พระเดชพระคุณพระธรรมธัชมุนี (ชินทตฺโต) ได้สอนข้าพเจ้า (อุปสัมปทาเปกข์) ว่า บัดนี้ พระสงฆ์จะทำอุปสมบทกรรม คือ สวดประกาศกันและกัน ยกตัวเธอซึ่งเป็นสามเณรแล้วนี้นั้น ขึ้นเป็นอุปสัมบันภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็แลในกรรมวาจาที่จะสวดประกาศนั้น ต้องออกชื่อผู้อุปสมบทด้วย ออกชื่อพระอุปัชฌายะด้วย ก็เมื่อท่านถามว่า กินฺนาโมสิ เธอชื่อไร? ก็จงหมายเอาตัวเธอ แล้วกราบเรียนท่านว่า “อหํ ภนฺเต วรชาโย นามข้าพเจ้าชื่อว่า วรชายะ” ก็เมื่อท่านถามว่า โก นาม เต อุปชฺฌาโย อุปัชฌายะของเธอชื่อไร? ก็จงหมายเอาตัวเราแล้วกราบเรียนท่านว่า “อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต อายสฺมา ชินทตฺโต นาม อุปัชฌายะของข้าพเจ้าชื่อว่า ชินทตฺต” ฯลฯ จากวันนั้นถึงวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555 คำนวณกาลได้ 45 ปี 16,425 วัน จะขาดจะเกินบ้างก็เล็กน้อย...”

“...ย้อนถึงวันเวลาที่ผ่านไปภายใน 45 ปีนั้น รู้สึกได้ถึงความโชคดีของตนเองที่มิได้ยังวันและเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ยังได้ประกอบอัตตสมบัติให้เกิดมี และยังได้บำเพ็ญปรหิตประโยชน์ให้เป็นไปตามกำลังความสามารถแห่งสติและปัญญา อันพอที่จะประมวลมาแสดงให้ปรากฏได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ล้วนสำเร็จได้ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ และปุพเพกต ปุญญานุภาพ โดยแท้...”

ปัจจุบันจึงเห็นท่านทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ นอกจากจัดงานอุปสมบทหมู่เพื่อถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษา 100 ปีแล้ว

ท่านยังระดมทุนประมาณ 9 ล้านบาท จัดสร้างหอพักให้พระนักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยบานาราส ฮินดู ยูนิเวอร์ซิตี้ (BHU) เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย อีกด้วย

ผลงานดังกล่าวทำให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวอนุโมทนาว่าการทำงานใหญ่สำเร็จได้ขนาดนี้เพราะสมเด็จพระธีรญาณมุนี นอกจากมีบารมีแล้ว ยังมีความกตัญญู กตเวที แท้จริงอีกด้วย