posttoday

อ่านธรรมะมีรางวัลภัยจากก่อเวรสร้างกรรม (ตอน ๗)

19 กุมภาพันธ์ 2556

ยกระดับเป็นความอาฆาตพยาบาท (เหมือนนักโกงเมือง นักมายาเมือง สัตว์สังคมบางพวกในบ้านเราเดี๋ยวนี้เลย...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

   ยกระดับเป็นความอาฆาตพยาบาท (เหมือนนักโกงเมือง นักมายาเมือง สัตว์สังคมบางพวกในบ้านเราเดี๋ยวนี้เลย... เหมือนจริงๆ... ไม่ได้แกล้งว่า... พึงพิจารณาดูต่อไป) ความคับแค้นที่กลายเป็นอาฆาตพยาบาท จึงนึกผูกโกรธอยู่ในใจด้วยจิตที่มีพยาบาทวิตก ว่า “เราอาศัยอยู่เป็นเวลานานใต้ต้นไม้สะคร้อนี้ เราไม่เคยหักรานกิ่งก้าน แม้แต่ใบไม้ใบหนึ่ง เราก็ไม่เคยทำให้ร่วง ดีล่ะ ต่อแต่นี้ไป เราจะไม่เป็นมิตรกับเทวดาผู้อยู่บนต้นไม้นี้ เราจะต้องหาโอกาสทำลายวิมานของเทวดาให้ได้...” (ตรงนี้น่าศึกษาความเป็นปัจจยาการของธรรม เมื่อขุ่นเคืองคับแค้น ก็จะอาฆาตพยาบาท ผูกโกรธ ขังความโกรธไว้ให้มัวเมาในอารมณ์โกรธนั้น ที่ยกระดับเป็นอาฆาตพยาบาท จนนำไปสู่การดำริเบียดเบียนทำลาย (วิหิงสาวิตก) นี่คือโทษของการไม่ยับยั้งความขุ่นเคือง ไม่พอใจ จนยกระดับเป็นความโกรธ สั่งสมไว้จนเป็นความพยาบาท และนำไปสู่วิหิงสา หรือความเบียดเบียน ให้ใช้ศัสตราอาวุธ ปืนผาหน้าไม้ ฆ่าฟันทำร้ายกัน ก่อเวรกรรมกันไม่สิ้นสุด...)

   สัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีไฟโกรธ-ไฟพยาบาท ก่อสุมอยู่ในใจแล้ว ย่อมเป็นทุกข์ เพราะการลุกไหม้เผาผู้เป็นเจ้าของเรือนโกรธนั้นทุกขณะจิต ไม่ให้มีความสงบสุขเลย ดุจดังหมีตัวดังกล่าวที่คิดงุ่นง่าน เดินไปเดินมา เพื่อคิดหาวิธีการทำลายเทวดาที่สถิตอยู่บนต้นไม้สะคร้อนั้น... บังเอิญวันหนึ่งได้เหลือบเห็นเกวียนเทียมด้วยโค มีชายนั่งมาบนเกวียน ๒ คน มุ่งหน้าเข้ามาในป่า... หมีจึงคิดวางแผนบางอย่างในใจ จึงได้เดินเข้าไปหามนุษย์ผู้ชาย ๒ คนนั้น ก็ธรรมดาหมีเป็นสัตว์ดุร้าย ไม่ใช่ตุ๊กตาหมีตามห้าง ผู้พบเห็นจึงตกใจเตรียมวิ่งหนี ชักเชือกวัวจะขับเกวียนออกจากป่าโดยเร็ว หมีนั้นก็เป็นสัตว์แสนรู้ อ่านอากัปกิริยาของมนุษย์ออก จึงแสดงอาการบอกออกไปให้รู้ว่า มาด้วยความเป็นมิตร ก็เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย แม้มนุษย์เราหากอยากจะรู้ถึงมิตรจิตมิตรใจ ก็ย่อมทราบชัดจากนัยน์ตาและท่าที บุรุษทั้ง ๒ คน จึงทำใจแข็ง (แต่ขาอ่อนด้วยความกลัว... นี่คือสันดานแท้ของคนที่ขาดสติปัญญากล้าแข็ง...) หยุดดูท่าทีของหมีป่าว่าเดินเข้ามาหาด้วยประสงค์สิ่งใด

   หมี เมื่อเข้ามาถึงบุรุษทั้งสอง จึงได้กล่าวขึ้นว่า “...นี่แน่ะ สหายที่รัก ท่านทั้งสองขับเกวียนมาในป่านี้เพื่อธุระอันใด” ...บุรุษทั้งสองได้ตอบว่า “เราทั้งสองต้องการไม้ทำเกวียน”

   หมี เมื่อทราบความดังกล่าว จึงคิดในใจว่า “บัดนี้ความคับแค้นในใจเราก็จะได้ถึงคราวชำระเสียที!!” จึงได้พูดกับบุรุษทั้งสองว่า “เราอาศัยอยู่ในป่านี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ทุกครั้งที่เห็นเขาตัดไม้ทำเกวียน เขานิยมใช้ไม้สะคร้อกันทั้งนั้น...” บุรุษทั้งสองตอบว่า “จริงดังที่ท่านกล่าว” ต่อจากนั้น ระหว่างคนกับสัตว์จึงเริ่มสนทนากันอย่างฐานะมิตรผู้หวังดีต่อไป คนเลยลืมโบราณคติไปว่า “ลำพังสัตว์หน้าขน คนหน้าหมา นี่คบยาก!!”

   บุรุษทั้งสองจึงได้กล่าวถามหมีว่า “เรามาที่นี่ก็ต้องการไม้สะคร้อไปทำเกวียน แต่ยังไม่ทราบว่าจะหาไม้สะคร้อที่ไหน” หมีรับฟัง นึกสมแค้นอยู่ในใจ แต่แสร้งทำหน้าเรียบร้อยดุจมายาคนของสัตว์สังคมปัจจุบัน ที่ยากจะอ่านหน้าตาออกเข้าใจ แม้แต่น้ำเสียงก็ยากจะเข้าใจ เพราะความเป็นคนมายาที่ไม่ธรรมดาในสังคมปัจจุบันดุจดังสัตว์หมี แม้นึกคิดอยู่ในใจด้วยความอาฆาตแค้นว่า “ดีแล้ว ถึงเวลาเราบ้าง เทวดาเอ๋ย อย่านึกว่ามีฤทธิ์ศักดา ทำอะไรตามใจชอบได้เสมอไป” จึงได้ชี้ไปที่ต้นสะคร้อที่เทวดาสถิตอยู่ กับกล่าวว่า “นั่นไงต้นสะคร้อ ต้นใหญ่ใบหนา แผ่สาขากว้างขวาง ท่านจงเลือกตัดเอาตามใจชอบเถิด!” ชายทั้งสองเชื่ออย่างสนิทใจ นึกว่าเป็นความหวังดีของหมีจริงๆ กล่าวขอบคุณแล้วขับเกวียนไปทางต้นสะคร้อ

   กลับมาที่เทวดาผู้สถิตบนต้นสะคร้อ คงนึกครั่นเนื้อครั่นตัวตามธรรมดาของผู้มีบุญฤทธิ์ จึงให้สอดส่องมองหาสาเหตุด้วยความเป็นผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ จึงได้เห็นได้ยินการสนทนาระหว่างหมีกับบุรุษทั้งสองโดยตลอด เมื่อบุรุษทั้งสองก้าวลงจากเกวียน ถือมีดพร้าเดินเข้ามาที่ต้นไม้ใหญ่ที่ตนสถิตอยู่ จึงได้นิรมิตปลอมแปลงตัวเป็นคนแก่ เดินออกมาจากต้นสะคร้อ แล้วร้องถามชายทั้งสองว่า “ท่านมาที่นี่ต้องการสิ่งใด!!” ได้รับการตอบว่า “เราต้องการไม้สะคร้อนี้ไปทำเกวียน” คนแก่ที่เป็นเทวดาแปลงกายแสร้งถามไปว่า “ท่านรู้ว่าไม้สะคร้ออยู่ที่นี่ได้อย่างไร” ก็ได้รับคำตอบกลับมาจากบุรุษทั้งสองว่า “หมีตัวหนึ่งบอกมา”

    เทวดา เมื่อได้รับฟังก็ให้นึกในใจว่า ทำไมหนอ หมีนี้จึงอาฆาตมาดร้ายเรานักหนา!! ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เคยกระทำการเบียดเบียนต่อกันเลย... ถ้าเราปล่อยให้หมีทำแก่เราฝ่ายเดียว เราคงย่ำแย่ วิมานก็ไม่มีอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องจัดการกับหมีบ้าง...”

   (มาถึงตรงนี้ ก็ขอให้สาธุชนพึงพิจารณามากๆ ถึงดำริของเทวดา ที่พร้อมโต้ตอบทำร้ายหมี เพราะพึงประสงค์รักษาประโยชน์แห่งตนไว้ว่า ถูกต้องหรือไม่ และสุดท้ายจะมีคำตอบว่าเป็นอย่างไร)

   เทวดาองค์นั้น จึงได้อาศัยความรู้ความฉลาดที่มีมากกว่าสัตว์หมี คิดมองเห็นช่องจัดการกับหมี จึงพูดสวมรอยตามที่หมีบอกว่า “จริงตามที่หมีเขาว่า ไม้สะคร้อเป็นไม้สำหรับทำเกวียนชั้นดี แต่เกวียนที่ทำด้วยไม้สะคร้อนั้น ถ้าได้หนังหมีหุ้มในที่ควรหุ้ม และมัดในที่ควรมัดแล้ว จะทำความสวยงามของเกวียนเพิ่มขึ้น และราคาจะดีขึ้นอีกหลายเท่าตัว

   “ถ้าจริงตามที่ท่านพูด แต่ว่า พวกเราจะได้หนังหมีจากที่ไหนหล่ะ!” บุรุษทั้งสองพูดเชิงปรึกษา

   “หมีตัวไหนบอกท่าน ก็เอาหนังหมีสัตว์นั้นแหละ” เทวดาตอบสวนทันทีอย่างไม่ต้องคิด

   “จะเอาหนังของมันอย่างไร มันยังเป็นๆ อยู่” ชายทั้งสองสงสัย

   “ไม่เห็นจะยากอะไร” เทวดาแสดงความคิดเห็นและอธิบายต่อว่า “เพียงแต่เราใช้อุบายนิดหน่อย คือ ให้ทำทีไม่เข้าใจ แล้วถามหมีตัวนั้นว่า ไม้สะคร้อมีกิ่งก้านมากมายเหลือเกิน ไม่ทราบว่าจะตัดกิ่งไหนดี ขอความกรุณาท่านทั้งหลายช่วยชี้แนะ และท่านทั้งหลายจงฟันคอมันเลย”

   “เออ! เข้าท่าดี อุบายของท่านใช้ได้” บุรุษทั้งสองรับอุบายวิธี แล้วย้อนกลับไปหาหมีตัวนั้น

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้