posttoday

พระธรรมราชานุวัตร

17 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อได้สัมผัสกับความร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้มงคล ไม้หายาก และความสะอาด มีระเบียบของวัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย

เมื่อได้สัมผัสกับความร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้มงคล ไม้หายาก และความสะอาด มีระเบียบของวัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย

โดย...เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา)ดีเทศน์

เมื่อได้สัมผัสกับความร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้มงคล ไม้หายาก และความสะอาด มีระเบียบของวัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย สาธุชนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ได้ไปเยือน ย่อมเกิดศรัทธาปสาทะ เย็นตา สบายใจ ตั้งใจที่จะกลับมาใหม่และชักชวนญาติมิตรให้ได้มาอิ่มบุญร่วมกัน ที่วัดพระแก้ว อันเป็นมิ่งมงคลแห่งนี้

ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 และเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พระอารามหลวงแห่งจังหวัดเชียงราย เป็นพระผู้ใหญ่ที่น่าเคารพเลื่อมใส มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีภูมิปัญญาในพระธรรมวินัย และประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างลุ่มลึก ทั้งยังมีจริยวัตรที่งดงาม มีอัธยาศัยไมตรีต่อพุทธศาสนิกชนและชนศาสนาอื่นๆ

โยมบิดา มารดา ของท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร เป็นคนหมู่บ้านสันมะเค็ด ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มีบุตร 2 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ชื่อ ด.ช.สุทัศน์ หลักแน่น วัยเด็กได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านสันมะเค็ด จากนั้นได้บวชเณรเมื่ออายุ 14 ปี (พ.ศ. 2501) ที่วัดสันมะเค็ด ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อสอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2503 จึงย้ายมาอยู่ที่วัดพระแก้ว พ.ศ. 2504

ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พ.ศ. 2508 สอบเปรียญธรรมได้ จึงย้ายไปอยู่วัดเบญจมบพิตรช่วง พ.ศ. 2511-2521 จากนั้นจึงมาเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และรองเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พ.ศ. 2529 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระแก้วและเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายพร้อมกัน ท่านได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย 12 ปี รองเจ้าคณะภาคอยู่ 8 ปี จากนั้นได้เป็นเจ้าคณะภาค 6 ปกครองกิจการของพระสงฆ์ 5 จังหวัด คือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง รวม 65 อำเภอ 400 ตำบล มีวัด 4,000 มีภารกิจ 6 ด้าน คือ 1.การปกครอง 2.การศึกษา 3.การเผยแผ่ธรรม 4.การสาธารณูปการ 5.การศึกษาสงเคราะห์ 6.การสาธารณะสงเคราะห์

ขอยกตัวอย่างงานที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร ดังนี้

1.ด้านการปกครอง

ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร มอบนโยบายให้เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด รักษาฐานของทุกวัดไว้ให้ได้ ให้มีพระภิกษุ สามเณร กระจายไปอยู่อย่างทั่วถึง ไม่ปล่อยให้มีวัดร้าง ดังนั้นสถิติวัดร้างของภาคเหนือ จึงน้อยกว่าภาคอื่นๆ

การควบคุมพระภิกษุ สามเณร ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่ดี นุ่งห่มจีวรให้ถูกแบบคือ นุ่งเหลือง ห่มเหลือง ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อมีระเบียบทางกายระเบียบทางใจก็ตามมาเอง รวมทั้งวางกฎเกณฑ์กติกา มิให้ภิกษุ สามเณร สูบบุหรี่ เป็นการดำเนินตามแนวทางของเจ้าคณะภาครูปก่อน ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขจึงพบว่า ภิกษุสามเณรภาคเหนือติดบุหรี่น้อยกว่าภาคอื่นๆ

“ขอให้ญาติโยมช่วยกันดูแล ควบคุมพระเณร ไม่ให้ทำผิดวินัย ไม่ขายสิ่งที่เป็นอบายมุขให้พระเณร ทั้งเหล้า บุหรี่ เป็นต้น” คือข้อเสนอของท่านเจ้าคุณฯ ให้พุทธบริษัท 4 ช่วยติดตามความประพฤติของพระเณรให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม

การเรี่ยไร บอกบุญ ท่านออกระเบียบคณะสงฆ์ภาค 6 ไว้ชัดเจน ว่า ทำได้เฉพาะการยกช่อฟ้า การฝังลูกนิมิต ยกยอดฉัตร หรือทะนุบำรุงศาสนาสถานที่จำเป็น โดยต้องทำหนังสือขออนุญาตจากเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ตามลำดับขั้น โดยกำหนดให้อยู่ในขอบเขตของวัด ห้ามพระเณรออกเรี่ยไรนอกวัด ซึ่งจะเป็นช่องทางแฝงตัวของเหล่ามิจฉาชีพ ห้ามพระเณร อยู่ในขบวนแห่เรี่ยไรเด็ดขาด

ในส่วนของพระเณรซึ่งบวชจากประเทศเพื่อนบ้าน มาอยู่ในวัดฝั่งไทย ท่านอนุโลมให้ดูแลตามหลักมนุษยธรรม เพราะสมัยก่อนประชาชนที่อยู่ชายแดนล้วนเป็นพี่น้องกัน ไม่มีการแบ่งเขตประเทศที่ชัดเจนเหมือนสมัยนี้ ท่านอยากให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติให้ชัดเจน หากมีคณะกรรมการชายแดนด้านความร่วมมือทางศาสนาระดับประเทศ จะช่วยให้การปกครองคณะสงฆ์ชายแดนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

2.ด้านการศึกษา

ท่านส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงรายให้มีความก้าวหน้า โดยส่งเสริมให้มีโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญ แผนกธรรม บาลี มีโรงเรียนปริยัติธรรมครบทั้ง 18 อำเภอแล้ว รวมทั้งหมด 21 โรง และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งห้องเรียนวิทยาสงฆ์เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 มีนักศึกษาเป็นพระภิกษุสามเณร 180 องค์ ฆราวาส 230 คน มีพระอาจารย์ประจำและพิเศษเป็นพระ 11 องค์ นอกนั้นเป็นฆราวาส

การสนับสนุนให้สามเณรได้บวชและเรียนแผนกสามัญมัธยม 1-6 เป็นการช่วยให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสจากครอบครัวยากจน (ครึ่งหนึ่งเป็นชาติพันธุ์บนดอย อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนพื้นเมืองล้านนา) ได้ศึกษาและอบรมจิตใจให้ซึมซับในพระธรรม ได้สร้างบารมีทางธรรมโดยใช้เวลานับสิบปี

ขณะนี้โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา มีเณรมาเรียน 315 รูป จากวัดต่างๆ ในอำเภอเมืองเชียงรายและวัดใกล้เคียง เฉพาะที่บวชอยู่ประจำในวัดพระแก้ว 125 รูป ซึ่งต้องตั้งครัวเลี้ยงเพล บิณฑบาตเฉพาะมื้อเช้า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์ ผ่านกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ทรงสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยถวายค่าอาหารกลางวันแก่โรงเรียนปริยัติธรรมในภาคเหนือปีละ 200 วัน รวมทั้งถวายนมผง นมอัดเม็ด เลี้ยงเณร ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ พระราชกรณียกิจหนึ่งในการเสด็จทรงงานภาคเหนือคือ การเสด็จเยี่ยมการดำเนินงานของโรงเรียนปริยัติธรรม (แผนกสามัญ) ทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่คณะสงฆ์ ทำให้หน่วยงานต่างๆ สนใจที่จะสนองพระราชดำริด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ยิ่งขึ้น ทรงส่งเสริมให้นำสินค้าจากชุมชนไปขายที่ร้านภูฟ้าสาขาต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน เมื่อมีกำไรก็นำมาเลี้ยงเณร (ทั้งยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมให้คนกรุงและชาวต่างชาติ ได้เห็นคุณค่าของผ้าทอมือ เครื่องจักสาน อาหารเพื่อสุขภาพ ได้ซื้อไปใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย : ผู้เขียน)

ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร มองเห็นว่า ถ้าพระเณรมีการศึกษาดี จะครองตน ครองคนได้ดี ได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีคุณภาพ และเป็นการยืดอายุพระพุทธศาสนา และเป็นการตรึงจำนวนพระเณรไม่ให้ลดลง จะได้ช่วยรักษาวัดวาอารามไม่ให้ร้างพระเณร

กุศโลบายของท่าน คือ ส่งเสริมให้เจ้าคณะตำบลได้ศึกษาในวิทยาลัยสงฆ์ จนจบปริญญา พุทธศาสตรบัณฑิต เพื่อให้มีภูมิรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก เพื่อชี้นำสังคมไทยได้อย่างทันสมัย พระองค์ใดที่มีปัญญาดี ท่านส่งเสริมให้เรียนถึงระดับสูงสุด เฉพาะที่วัดพระแก้วมีพระสงฆ์จบปริญญาเอกถึง 3 รูป เช่น พระครูศรีรัตนากร พระเลขานุการของท่าน จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย

3.ด้านการเผยแผ่พระศาสนา

วัดพระแก้ว พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา คล้ายกับพระอุโบสถวัดเชียงทอง ที่หลวงพระบาง มีลักษณะที่เรียกว่า “แม่ไก่กกไข่” คือ ชายคาลาดต่ำ ดูคล้ายแม่ไก่กางปีกกกไข่ สูงระดับไม่เกินสายตา ดูแล้วรู้สึกอบอุ่น เรียบง่าย ซึ่งใน จ.เชียงราย มีพระอุโบสถลักษณะนี้เพียง 2 วัด คือ ที่วัดพระแก้วกับวัดพระสิงห์

รอบพระอุโบสถรายล้อมด้วยต้นไม้ ใหญ่น้อยนานาชนิด ดูสงบร่มรื่น เย็นตา เย็นใจ เพราะท่านเห็นว่าพุทธสถานทั้ง 5 คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ล้วนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ อยู่ในป่า

เมื่อมีงานฉลอง 725 ปี จ.เชียงราย ใน พ.ศ. 2530 ท่านเจ้าคุณได้พัฒนาวัดพระแก้วครั้งใหญ่ โดยได้รับการหนุนช่วยจากหลายฝ่าย เช่น อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง พ.อ. (พิเศษ) พิชาญเมธ ม่วงมณี ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และคุณมนัส รัตนสัจธรรม หัวหน้าสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น

ด้านหลังพระอุโบสถเป็นพระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต เมื่อปี พ.ศ. 1977 ถัดไปเป็นพระวิหารพระหยกเชียงราย ดังนั้นสาธุชนผู้มาวัดพระแก้วจึงได้สักการะทั้งพระเจ้าล้านทอง ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถมีพุทธลักษณะที่งดงาม และพระหยกเชียงรายพร้อมๆ กัน

ตามประวัติระบุว่า ในอดีตพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วเชียงรายแห่งนี้ จากนั้นจึงถูกอันเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง 32 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1979-2011 ที่เมืองเชียงใหม่ 85 ปี พ.ศ. 2011-2096 ที่หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 225 ปี พ.ศ. 2096-2321 จนกระทั่งได้มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2321 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ท่านได้ตั้งพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว เพื่อเก็บรักษาพระพุทธรูปปางต่างๆ และเครื่องบูชา ฯลฯ อันเป็นงานศิลปะชั้นสูงของล้านนา เพื่อให้ผู้มาชมและคนรุ่นหลังได้เข้าใจ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันเจริญรุ่งเรืองของล้านนา

การสวดมนต์วันเสาร์ตั้งแต่เวลา 18.30-20.00 น. ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของงานเผยแผ่ธรรมของวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มีศาสนิกชนทั้ง 4 รุ่น มาร่วมสวดมนต์และเจริญกรรมฐาน ทั้งรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นหนุ่มสาว และรุ่นเด็ก เป็นกิจกรรมส่งเสริมความอบอุ่นของครอบครัวทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย พากันนุ่งขาวห่มขาว มาเข้าวัดทุกวันเสาร์ เต็มศาลาการเปรียญ ประมาณ 150-200 คนขึ้นไป

การสวดมนต์ข้ามปี ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรได้เริ่มมา 5 ปีแล้ว สาธุชนมาร่วมสวดมนต์เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จนถึงปี 2555 ญาติโยมมาร่วมสวดมนต์ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ทั้งในพระอุโบสถ รอบพระอุโบสถ ทั้ง 4 ด้าน จำนวนนับพันคน ซึ่งกรรมการและศรัทธาวัดพระแก้วได้อำนวยความสะดวก ตั้งเต็นท์ เก้าอี้ น้ำดื่ม น้ำเต้าหู้ กาแฟ ข้าวต้ม ไว้บริการ

ท่านเจ้าคุณได้นำสวดมนต์เอง ตั้งแต่เริ่มต้นมีช่วงพักให้ญาติโยมเปลี่ยนอิริยาบถ และเข้าห้องน้ำสามสี่ครั้ง

ดิฉันได้ร่วมสวดมนต์ข้ามปีที่วัดพระแก้วในปีนี้เป็นครั้ง‌แรก รู้สึกถึงความสงบ ปีติ สัมผัสถึงพลังบุญที่เกิดขึ้นในใจ ‌เป็นอานิสงส์ที่แผ่ไปยังสรรพชีวิตที่อยู่ร่วมกันในทุกภพภูมิ ‌รวมถึงการถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น‌ศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดี ของพุทธ‌ศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า

การทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และการทำบุญ‌ตามประเพณีล้านนา ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตรได้‌ส่งเสริมอย่างสม่ำเสมอ เป็นกุศโลบายดึงคนเข้าสู่วัด เพื่อ‌ชำระจิตให้บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ

ท่านเจ้าคุณฯ เห็นว่า“ความมั่งคงของพระพุทธศาสนา‌เป็นปัจจัยเกื้อกูลความมั่นคงของชาติรัฐบาลควรมีนโยบาย‌ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีศักยภาพ มีกำลังเผยแผ่พระศาสนา‌มากขึ้น ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนทุรกันดาร ควรส่งเสริมให้มี“พระธรรมทูต” จาริกไปช่วย‌พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่มีความเป็นอยู่ยากลำบาก ‌แต่ปัจจุบันพระธรรมทูต ได้งบสนับสนุนจากรัฐแค่องค์ละ ‌8,000บาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะช่วยเยียวยาความเดือด‌ร้อนของประชาชนทั้งด้านการศึกษา ความเจ็บไข้ได้ป่วย ใน‌ขณะที่ศาสนาจากต่างชาติมีปัจจัยสนับสนุนเต็มที่”

รัฐถวายปัจจัยหนุนช่วยการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์‌น้อยมาก ในขณะนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนทำบุญ‌ให้วัดได้น้อยลง ค่าใช้จ่ายของวัดเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าน้ำประปา ‌ไฟฟ้า การทำนุบำรุงซ่อมแซมพุทธสถาน แต่เจ้าอาวาสได้รับ‌การถวายนิตยภัต แค่เดือนละ 1,500 บาท และได้รับเพียง‌บางรูปเท่านั้น ส่วนรูปที่ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส หรือพรรษาไม่‌ถึง 5 ก็ไม่ได้รับ

การบวชเณรภาคฤดูร้อน ที่วัดพระแก้ว ทุกวันที่ 1-10เม.ย.ของทุกปี จำนวน 150 รูปขึ้นไป ผู้ที่จบ ป.6 แล้ว ประสงค์‌จะบวชเพื่อศึกษาต่อในชั้น ม.1-6 ทางวัดรับไว้ทุกปี เมื่อจบแล้ว‌ท่านเจ้าคุณฯ หาทุนการศึกษาสงเคราะห์ให้เรียนต่อระดับ‌ปริญญาตรี โท เอก ได้ ถ้าพระเณรรูปใดมีความพร้อม

4.ด้านสาธารณูปการและการสาธารณะสงเคราะห์

ท่านได้สนับสนุนโครงการสำคัญ ในโอกาสที่พ่อขุน‌เม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงราย 750 ปี ดังนี้

1.การสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นตึก 5 ชั้น เพื่อรองรับพระเณรที่อาพาธ‌จาก จ.เชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังช่วยดูแลพระสงฆ์‌จากประเทศเพื่อนบ้านคือ ลาวและพม่าอีกด้วย ได้รับบริจาค‌จากผู้มีจิตศรัทธาจำนวน 16,204,588.75 บาท และงบประมาณ‌ของกระทรวงสาธารณสุข 44,300,000 บาท รวมทั้งสิ้น ‌60,504,588.75บาท ได้ทำพิธีเปิดโดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อปลายปี 2555

2.การจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย เพื่อส่งเสริมและ‌พัฒนาการศึกษาของพระเณรในระดับอุดมศึกษา ทาง‌พระพุทธศาสนา โดยทางราชการมอบศาลากลางหลังเดิมให้‌ใช้ประโยชน์ เปิดการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2547

3.บูรณะพระธาตุดอยตุง ให้มีพุทธศิลป์เป็นเอกลักษณ์‌ของล้านนา เหมือนรูปทรงดั้งเดิมที่ได้ค้นพบ โดยได้รับเงินอุดหนุนบูรณะตามโครงการบูรณะโบราณสถานของภาค‌เหนือ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครอง‌สิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา งบประมาณ พ.ศ. 2551 ‌จำนวน 23 ล้านบาท การบูรณะสำเร็จแล้วด้วยดี สมเด็จ‌พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธียก‌ยอดฉัตร เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2556

4.สร้างพุทธมณฑลเชียงราย ในพื้นที่ 185 ไร่ ที่บ้านต้นง้าว ต.บัวสลี อ.แม่ลาว เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทาง‌ศาสนากำลังอยู่ในกระบวนการก่อสร้าง

ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร นับเป็นเสาหลักใน‌การบริหารปกครองคณะสงฆ์ภาคเหนือ เพื่อพิทักษ์ เผยแผ่‌พระพุทธศาสนาให้มั่นคง เจริญรุ่งเรือง เป็นหลักทางใจของชาวพุทธ และศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมโดยมีธรรมะคุ้มครองจิต มีความภูมิใจในรากเหง้าของประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมล้านนา สืบทอดให้คนรุ่น‌ใหม่ได้ทะนุบำรุงรักษาไว้ เพื่อให้วัฒนธรรมล้านนาได้เป็นหนึ่ง‌ในเอกลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรมอาเซียนสืบไป