posttoday

หลวงปู่ลี อโสโก หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต

03 กุมภาพันธ์ 2556

การศึกษาประวัติครูบาอาจารย์จากบันทึกที่มีการศึกษาค้นคว้าไว้กับการรับฟังเรื่องราวของครูบาอาจารย์

การศึกษาประวัติครูบาอาจารย์จากบันทึกที่มีการศึกษาค้นคว้าไว้กับการรับฟังเรื่องราวของครูบาอาจารย์

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

การศึกษาประวัติครูบาอาจารย์จากบันทึกที่มีการศึกษาค้นคว้าไว้กับการรับฟังเรื่องราวของครูบาอาจารย์ผ่านการบอกเล่าของศิษยานุศิษย์หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัยของท่าน ให้อรรถรสที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่การรับฟังเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิเช่นว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แหล่งข้อมูลร่อยหรอลงนั่นส่วนหนึ่ง

แหล่งข้อมูลมีวิธีการบอกเล่าที่แตกต่างกันตามบุคลิกลักษณะของท่านั่นอีกอย่างหนึ่ง

ได้ข้อมูลมาแล้วจะเอามาบอกเล่าผ่านวิธีการอย่างใด มีการเรียบเรียงตัดต่ออย่างไรหรือไม่นั่นก็อีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการศึกษาหรือรับรู้เรื่องราวที่จะศึกษาทั้งสิ้น

ในหนังสือประวัติของ หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ ได้นำเสนอเรื่องราวเช่นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

วิธีการบอกเล่าของท่านได้ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดของครูบาอาจารย์บางรูปซึ่งไม่ได้ปรากฏรายละเอียดที่อื่น ข้อมูลเหล่านั้นได้แก่ประวัติพระสุปฏิปันโน 2 รูปที่ท่านได้ไปศึกษาปฏิบัติขอรับการชี้แนะ นั่นคือ หลวงปู่ลี อโสโก และพระอาจารย์สาร ผู้ที่หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ พระอรหันต์แห่งบ้านดงเย็นนับถือเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน

การบอกเล่าของท่านยังให้อรรถรสในข้อธรรมะและการปฏิบัติอย่างน่าสนใจ

ความเกี่ยวกับ หลวงปู่ลี อโสโก นั้นมีว่า...

“...หลวงปู่ที่ได้จำพรรษาด้วยกันในเบื้องต้นคือหลวงปู่ลี อโสโก เท่าที่อยู่ศึกษาธรรมะของท่านนั้น ท่านจะมีความอดทน มีความพากเพียรพยายามน่าเคารพเลื่อมใส พอใจในการประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านองค์นี้ไม่สอนเป็นคนนำไม่ใช่เป็นคนแนะ เป็นผู้ทำให้ดู เราเห็นว่าหลวงปู่ลีเป็นยอดความอดทนจริงๆ สมัยนั้นมีเหลือบเยอะมาก เหลือบเกาะขากระทืบเท้าทีหลุดเป็นกอง มันมากัดท่านเลือดไหลออกตามขา เราให้เณรไปช่วยไล่ออก ท่านก็ไม่สนใจ งูกัดก็ไม่ได้บอกใคร ไปถามจึงได้บอกว่างูกัด จะเจ็บปวดขนาดไหนก็เห็นได้ว่าท่านอดทนจริงๆ นี่คือเรื่องที่มองเห็นความอดทนชัดๆ แต่การแนะว่ากล่าวนั้น ท่านไม่ได้พูดมาก ท่านได้นำโดยการประพฤติปฏิบัติเยอะ เช่น เดินจงกรม บิณฑบาต กวาดวัด ไม่มีขาด แม้จะอายุมากแก่แล้ว พรรษามากแล้ว เป็นผู้นำรักษาข้อวัตรปฏิบัติที่ควรเอาเป็นตัวอย่างได้ เราได้จำพรรษาที่นี่หนึ่งพรรษา ปีแรกๆ ซึ่งไม่รู้เลยว่าการเดินจงกรมนั้นเพื่ออะไร เห็นท่านเดินก็เดิน พระท่านอื่นเดินก็เดิน แต่เดินเพื่ออะไรน้อ

“จนวันหนึ่งจำไม่ลืม เพราะตั้งใจไว้ว่าท่านขึ้นกุฏิเมื่อไหร่จึงจะขึ้น เห็นท่านอายุมากแล้วคงเดินไม่นาน ปรากฏว่า...เกือบตาย ท่านเดินตั้งแต่หกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน เราเดินเกือบตายท่านก็ยังเดินได้อยู่ ท่านอดทนมีความเพียรทำไม่ขาดเหมือนกัน แต่เราก็ทำแบบไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าทำเพื่อให้จิตใจมันสงบ ระงับไม่ให้ฟุ้งซ่านรำคาญ คิดแต่ว่าคงทำดีล่ะเอาบุญ! ท่านบอกเออ! ให้เดินจงกรมนะ เราก็เดินไปมาเท่านั้นเอง

“เราเดินก้าวเอาก้าวเอาเหนื่อยแล้วเหนื่อยอีก ยืนบ้าง เดินบ้าง ท่านมีนั่งบ้างแต่ไม่ยอมขึ้นกุฏิ เราไม่ได้นั่งก็เดินบ้างยืนบ้างอย่างนั้น กิเลสมันเลยวนเวียน เมื่อไรจะเลิกๆ กิเลสมันไล่ เลยมีทุกข์อยากให้ท่านเลิก พอท่านขึ้นได้ เราก็ขึ้นเท่านั้น ท่านมีแต่ทำอย่างเดียว พูดน้อยทำมาก”

เมื่อท่านเล่าถึงเรื่องราวครั้งไปอยู่กับ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เรื่องราวเหล่านั้นก็ทำให้เราได้รู้จักหลวงปู่สาร

ความนั้นมีว่า...

“หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ สำหรับหลวงปู่พรหมนี้มีทั้งแนะทั้งนำ แต่ธรรมที่ท่านแนะนี่เท่าที่ไปมาหาสู่กับท่าน ท่านจะพูดธรรม แต่ธรรมของท่านจะสั้นๆ ถึงเทศกาลบรรดาภิกษุสามเณรในวัดตลอดจนถึงศรัทธาญาติโยม โดยเฉพาะภิกษุแล้วนี่ ท่านจะเตือนให้ ‘เออ! ลูกหลานเอ้ย ให้พากันพิจารณาปฏิสังขาโยนะ’ แค่นี้ก็จบแล้ว นี่คือการแนะของท่านให้รักษาธรรมวินัย คนเราแล้วนี่จริงๆ ถูกของท่านทุกอย่าง จะมีปัญหาก็เรื่องนุ่งห่มจีวร อาหารการกิน บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ นี่คือปฏิสังขาโย คนทะเลาะวิวาทปางตายทุกวันนี้ก็เพราะปัจจัยเหล่านี้ ถ้าไม่พิจารณาแล้วนี่ ปัญหาก็จะเกิดขึ้น รบราฆ่าฟันกันไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์

“ท่านจะแนะนำเช่นนี้ พูดธรรมสั้นๆ ตลอด บางครั้งก็บอกว่า ‘ให้พากันทำความดีนะ’ สั้นๆ แค่นี้จบแล้ว ท่านแนะเช่นนี้ไม่พูดมากนักหนา ไม่อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ กิเลส ราคะ เป็นงั้นงี้นะ ไม่ว่าอะไร ถ้าเห็นโทษเห็นภัยของปฏิสังขาโยนี้แล้วก็จะเห็นไปหมดทุกอย่างนะ นี่เป็นคำแนะของท่านสั้นๆ นี้เป็นส่วนมาก ใครมาก็เหมือนกัน

“ส่วนการนำนี่ การทำจิตที่มันเป็นกุศลนี่ ท่านจะไม่ปล่อยให้เป็นอากูล ทำอะไรจะรีบทำให้มันเสร็จๆ ไปเลย ช้าไม่ได้ สวยไม่สวยไม่เกี่ยวกันขอให้ทำก็แล้วกัน เดินจงกรมท่านก็ไม่ขาด เป็นข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าสุขภาพปกติ บิณฑบาตก็ไม่ขาด การทำอะไรท่านจะไม่ให้อยู่ว่างๆ ทำอะไรไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่น ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านทำมากที่สุดล่ะ หลวงปู่ท่านทำสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถทำได้สมัยนั้น แต่ท่านนำญาติโยมทำได้ เรื่องการกระทำการปฏิบัติความเพียรนี่ มีดเล็กๆ แค่มือท่านตัดขอนยางออกจากทางเดินได้นะ

“ท่านเล่าว่าเอาปลวกเป็นตัวอย่าง มันเอาดินขึ้นมาทีละนิด เราฟันไม้นี่มีสะเก็ดตกออกมามากกว่าดินปลวกตั้งเยอะ จึงฟันไปเรื่อยๆ จนขอนไม้ที่ขวางทางคนเดินผ่านไปมาก็ลำบาก ท่านว่าวันหนึ่งมันจะขาด วันหนึ่งมันจะขาด ก็ตั้งใจไว้อย่างนั้น เหมือนเราทำความดีนะแหละ ตั้งใจจะพ้นทุกข์เมื่อเห็นโทษเห็นภัยมันก็เป็นไปเอง ไม่ต้องไปพูดถึงนิพพานมันละ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ นี่ก็เหมือนกัน จะขาดเมื่อไรไม่เกี่ยว ฉันจะทำของฉันไปเรื่อยๆ กิเลสก็เหมือนขอนไม้ขวางทาง ฟันไปเรื่อยๆ หาวิธีอุบาย คิดค้น มันก็จะมีทางพ้นทุกข์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆ คนอยู่เฉยๆ จะให้มันมี มันรู้มันเห็นได้ เป็นไปไม่ได้นะ

“นี่คือให้เห็นความเพียรของท่านนะ ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

“เรื่องทำที่ยอดที่สุดการก่อสร้างนี่ต้องยกให้ท่าน ท่านเป็นคนมีอำนาจอยู่ในตัว ให้คนเกรงกลัวเพราะความดีของท่าน สมัยหลวงปู่พรหมอยู่โหล่งขอด ท่านเดินจงกรมมีศรัทธาแรงกล้าจนกระทั่งไปขอโอกาสจากหลวงปู่มั่นว่าจะไม่นอน 3 เดือน ท่านหลวงปู่มั่นก็เตือนว่า ท่านพรหมอย่าทำเลย ร่างกายสังขารต้องการพักผ่อน และมันจะทำให้หมู่คณะเดือดร้อน

“หลวงปู่พรหมทำอะไรก็ทำสุดๆ หาคนทำแบบท่านไม่ได้ เป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างทำให้มีสติปัญญา การทำของท่านเป็นตัวอย่างของลูกหลาน แม้ท่านไม่ได้อะไรคนอื่นก็ได้ประโยชน์ เมื่อท่านมาอยู่ที่นี่ท่านก็บอกเราว่า ‘ถ้าอยากได้วัดดีๆ สวยงาม ก็ให้มาทำที่ป่าช้านี่สิ’ ปี 2510 ยายที่เคยอุปัฏฐากเราที่ป่าเมี่ยงติดตามเรามา เลยได้พาไปกราบพระที่เคารพ เช่น หลวงปู่พรหม หลวงปู่ขาว ซึ่งท่านได้กลับมาจากเชียงใหม่แล้ว และได้ทราบจากหลวงปู่ลีว่า หลวงปู่พรหมได้ทำความเพียรจนช่วงหนึ่งเข้าใจว่านิพพานอยู่บนฟ้านั่น ท่านก็พยายามเหาะหรือกระโดดอยู่ จะไปนิพพาน ก็กระโดด กระโดดขึ้น จนคน ครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ โยม สงสารในการกระโดดจะไปนิพพานของท่าน ทั้งเหน็ดเหนื่อยอะไรของท่าน แต่ท่านก็ไม่รู้เหนื่อยของท่าน มีหลวงปู่ลี อโสโก ที่อยู่ด้วยกันไปด้วยกันคอยจับท่านไม่ให้กระโดด มือกระแทกกับพื้นเวลาท่านตกลงมา ข้อมือได้หักไป หลวงปู่ลีได้เล่าให้ฟัง

“จนกระทั่งได้ไปตามหลวงปู่สาร ที่หลวงปู่พรหมนับถือเป็นครูบาอาจารย์ โดยท่านได้ไปจำพรรษาที่ภูเก้า จ.อุดรธานี จึงไปตามท่านหลวงปู่สารกลับมาเพื่อแก้ปัญหาความเห็นของหลวงปู่พรหม พอมาเห็น ท่านจึงให้คำตักเตือน ท่านเรียกหลวงปู่พรหมว่า ‘ท่านพรหม สิ่งที่ท่านรู้ ท่านเห็นนั้นน่ะ มันจริงหรือไม่จริง มันเที่ยงรึไม่เที่ยง อันนี้มันเป็นสัญญา ยังไม่เกิดปัญญา ที่ว่านิพพานอยู่โน่นอยู่นี่ สิ่งที่ท่านรู้เห็นนั้นบางทีมันก็เกิดขึ้น บางทีมันก็ดับไป มันไม่เป็นไปตามใจชอบใจหวังดังที่ท่านตั้งใจไว้มิใช่หรือ’

“ท่านฟังได้นะหลวงปู่ยอมฟัง ไม่กระโดดแล้วด้วยความเคารพครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านฟัง... ‘อันนั้นมันเป็นสัญญา มันยังไม่เกิดปัญญา มันยังไม่รู้ไตรลักษณ์ คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นยังไง’ พอท่านฟังไปๆ ก็สงบไป ยอมรับธรรมของผู้ว่ากล่าวตักเตือน หาย.. เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นอยู่ตั้งหลายวัน อาการนี้ที่ลูกศิษย์ญาติโยมเป็นทุกข์กัน นี่คือสัญญาอารมณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นมา สำคัญว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นไปตามความปรุงแต่งขึ้น มันมีแล้วก็เกิดดับไปตามหน้าที่

“เหตุนี้ท่านจึงกลับเข้าสู่ตนเองพิจารณาใหม่ ใจของท่านจึงปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านจึงเกิดความเข้าใจ อาการนั้นจึงหายไปตั้งแต่วันนั้น

ที่ท่านกล่าวไว้ว่าให้หาครูบาอาจารย์ที่ถูกจริตนิสัยที่เราพอจะเชื่อฟังท่านได้ จึงขอนิสสัยจากท่านผู้นั้น ที่นี่เราปัจจุบันเอาตามประเพณี แต่เราไม่ลงนะรับไม่ได้ ครูอาจารย์บางรูป ข้อวัตร การกระทำ การพูด ความคิด มีความบกพร่อง แต่นี่ท่านไม่บกพร่องยอมรับกันได้ทุกอย่าง เลยเป็นครูบาอาจารย์ที่ให้นิสสัยได้ ว่ากล่าวตักเตือนได้ ไม่ถือโทษโกรธซึ่งกันและกัน ครูบาอาจารย์ที่ยอมรับกันได้จึงทำให้พ้นจากนิสัยมุตตกะเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนรับฟังครูบาอาจารย์ ได้ก็เป็นยังงั้น โรคทางกายก็หายได้ โรคทางใจก็หายได้ ความเห็นผิดก็เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้ไม่สบายกายและใจได้ ในวงการพระผู้ประพฤติปฏิบัติ ยอมรับหลวงปู่พรหมองค์นี้ว่าเป็นผู้พูดจริง ทำจริง เป็นพระที่ครูบาอาจารย์ยอมรับท่านได้องค์หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

เบาะแสเช่นนี้ทำไปต่อยอดได้ เมื่อได้นามหลวงปู่สารมา‌แล้ว ค้นต่อไปก็พบว่า ในประวัติหลวงปู่พรหมนั้นมีเรื่องหลวงปู่‌สารอีกส่วนหนึ่งว่า ท่านคือพระอาจารย์รูปแรกของหลวงปู่‌พรหม ความนั้นบอกไว้ว่า สมัยหลวงปู่พรหมเป็นฆราวาสนั้น ‌ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านแห่งหมู่ 1 บ้านดงเย็น พรั่งพร้อมด้วย‌ทรัพย์สิน ทั้งวัว ควาย และไร่นา ได้รับการเรียกขานว่า“นาย‌ฮ้อยพรหม”แม้จะมีเกียรติเป็นที่นับถือของคน มีทรัพย์ไม่ขัดสน ‌แต่ลึกๆ ในใจนั้นครุ่นคิดและแสวงหาคำตอบอยู่ตลอดเวลาว่า ‌ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรจะได้พบความสุขนั้น

คำตอบนี้กระจ่างแจ้งเมื่อได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์สาร ‌ซึ่งวิสัชนาคำปุจฉาของท่านว่า

“ถ้าอยากประสบความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้น ต้องละ‌อารมณ์ คือรักใคร่พอใจในกามคุณ 5 คือ ความพอใจในรูป ใน‌เสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส อันเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในกอง‌ทุกข์ เสียให้หมดสิ้นไปจากใจ ความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้นก็จะ‌ฉายแสงออกมาให้ปรากฏเห็น ตามสมควรแก่ความเพียร ที่ได้‌ทุ่มเทลงไปในทางที่ถูกที่ชอบ”

ด้วยความซาบซึ้งในรสพระธรรมทำให้หลวงปู่พรหมตัดสิน‌ใจสละทรัพย์แล้วออกบวช

ระหว่างได้รับการสั่งสอนจากพระอาจารย์สาร เพื่อจะได้มี‌หลักปฏิบัตินั้นเอง หลวงปู่สารได้เอ่ยและสรรเสริญคุณของ ‌“พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”ให้ฟังบ่อยครั้ง ทำให้หลวงปู่พรหม‌ตั้งใจมั่นว่าจะปฏิบัติให้ได้การก่อนจะเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ‌พระอาจารย์มั่น พร้อมกับวางเป้าหมายของการปฏิบัติของตัวว่า ‌จะ“ทุ่มเทกายใจประพฤติปฏิบัติธรรม โดยขอเป็นชาติสุดท้าย”

คุณอำพล เจนซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสได้สักการะครูบาอาจารย์‌ที่สำคัญหลายรูป และไปถึงแหล่งข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเองเล่าไว้ในสวนขลังดอทคอมถึงเรื่องราวของหลวงปู่สาร ซึ่งคุณ‌อำพลเขียนนามของท่านต่างไปจากที่ปรากฏในประวัติหลวงปู่‌พรหม ซึ่งใช้คำว่า“สาร”แต่คุณอำพลให้นามและฉายาที่‌ชัดเจนว่า“หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต”

คุณอำพลเล่าไว้ในหัวข้อเรื่อง“หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต ศิษย์‌หลวงปู่มั่นที่ประวัติลืมเลือน”ว่า คุณอำพลรู้จักหลวงปู่สารณ์ ‌เพราะคุณแม่คุณอำพลซึ่งเป็นคนพื้นเพที่ จ.ยโสธร หายป่วย‌จากการผ่าตัดรักษามะเร็งแล้วได้ไปบวชแก้บนตามที่อธิษฐาน‌ไว้กับเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)

เมื่อบวชแล้วคุณแม่คุณอำพลได้ตัดสินใจไปพำนักอยู่ที่วัด‌ป่าใน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร (ในสมัยนั้น) เพราะที่นั่นมีญาติคือ ‌หลวงลุงปลีกวิเวก จากตำแหน่งเจ้าอาวาสในตัว อ.มหาชนะชัย ‌ไปจำพรรษาอยู่

วัดดังกล่าวคือวัดป่าสุจิตตะสังขวนารามหรือวัดป่าบ้านสังข์อยู่ที่ อ.ค้อวัง จ.ยโสธร

เมื่อคุณอำพลไปถึงวัดดังกล่าวก็พบว่ามีเจดีย์ใหญ่บรรจุอัฐิ‌ธาตุของพระเถระนาม“หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต”ตั้งอยู่ในวัดป่า‌แห่งนั้น คุณอำพลจึงได้ซักถามบรรดาพ่อออกแม่ออกที่มาทำ‌บุญว่า พระรูปนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะสงสัยว่า‌ในที่ห่างไกลความเจริญเช่นนั้น ทำไมจึงมี ก็มีเจดีย์ใหญ่ขนาด‌นั้นประดิษฐานอยู่

นั่นทำให้ทราบว่า...

“หลวงปู่ท่านเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นภูริทัตโต แม่ทัพธรรมแห่งภาคอีสาน เมื่อผมไปสืบค้นประวัติในหนังสือบูรพาจารย์ ที่มูลนิธิพระอาจารย์มั่นฯ พิมพ์ออกมา ก็‌พบชื่อหลวงปู่สาร ชาวอุบลราชธานี ว่าเป็นศิษย์ยุคเก่าที่มา‌เยี่ยมเยียนหลวงปู่มั่นด้วย

“หลวงปู่สารณ์เป็นเถระผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ของหลวงปู่พรหม ‌จิรปุญโญ วัดป่าประสิทธิธรรม ผู้ที่หลวงปู่มั่นกล่าวว่าสำเร็จเร็ว‌กว่าหมู่ โดยเป็นผู้ชักชวนผู้ใหญ่พรหมในขณะนั้นให้ออกบวช

“อีกทั้งหลวงปู่ยังเป็นผู้เริ่มสร้างวัดดอยแม่ปั๋งก่อนหลวง‌พ่อหนูและหลวงปู่แหวนจะไปพำนักอยู่ เมื่อกลับมาจำพรรษา‌ที่บ้านสังข์อิทธิปาฏิหาริย์และเรื่องเล่ามากมายได้เป็นที่กล่าว‌ขวัญของชาวบ้าน

“พ่อใหญ่แพทย์ได้เล่าให้ผมฟังว่า หลวงปู่เคยเล่าเรื่องตอน‌ธุดงค์ให้ฟังว่า ครั้งที่ภาวนาอยู่ภูเก้าตาดโตนได้มีงูใหญ่มากินตัว‌ท่านเข้าไปถึงครึ่งตัว (ไม่แน่ใจว่านิมิตหรือเหตุการณ์จริง) ความ‌ที่หลวงปู่มีอาคมแก่กล้า ท่านก็ได้ใช้สารพัดคาถาพระเวทย์ ไล่งู‌นั้นเสีย แต่อย่างไรงูก็ไม่หยุดการกลืนกินองค์ท่าน สุดท้ายสิ่งที่‌ทำให้ท่านรอดมาได้นั้นคือ‘พ่อจ๋า แม่จ๋า’นั่นคือคุณพระบิดา ‌คุณพระมารดา ที่หาคณานับไม่ได้ ท่านจึงอบรมสั่งสอนศิษย์‌เรื่องนี้เสมอ

“อีกเรื่องคือจระเข้ที่หนองน้ำหลังวัด (ปัจจุบันไม่มีหนองน้ำ‌แล้ว) ที่มาพร้อมกับคราวน้ำท่วม แต่เป็นจระเข้ที่ไม่กินคน กิน‌แต่สัตว์ที่ลงน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าเพราะหลวงปู่สะกดจระเข้นั้นไว้ ‌พอหลวงปู่สิ้นก็ไม่ปรากฏจระเข้ตัวนั้นเลย

“อีกเรื่องราวของหลวงปู่คือ‘หวย’สิ่งที่ทุกคนถวิลหา หลวง‌ปู่ไม่เคยสนับสนุน ครั้งหนึ่งญาติโยมแต่งดอกไม้ธูปเทียนไปขอ‌หวย ท่านก็สั่งสอนอยู่เป็นเวลานาน และบอกว่า อาตมาขอ ‌‘ห้ามสา’ชาวบ้านฟังก็หมดหวัง แต่ที่ไหนได้ งวดนั้นออกตรงๆ ‌ครับ‘ห้าสาม ห้ามสา’ของท่านนั้นเอง

“หวยอีกงวดคนก็มาขอ ท่านก็ว่าให้ไปดูที่‘เสากุ้น’คือเสา‌ผุๆ พังๆ นอกกุฏิ ญาติโยมก็ขัดก็หากันเต็มที่ ผลที่ได้ ไม่เจอ‌เลขครับ แต่หวยงวดนั้นออกที่เสากุ้นจริงๆ ศูนย์เก้าครับ นับว่า‌บุญมีแต่กรรมบังจริงๆ

“ก่อนหลวงปู่มรณภาพท่านก็ล่วงรู้วันมรณภาพจนได้เป็น‌เหตุให้สร้างเจดีย์ที่ผมเห็นนั่นเอง ได้บรรจุวัตถุศักดิ์สิทธิ์ลงไป‌ด้วย และท่านก็ให้สร้างต่อให้เสร็จหลังจากท่านมรณภาพไป ‌เพราะท่านได้สร้างไว้ครึ่งหนึ่งให้ญาติโยมสานบุญต่อไป

“นี่ก็เป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวง‌ปู่มั่นที่แทบจะหดหายไปจากความทรงจำ เท่าที่ผมจำได้ เพราะ‌เวลาก็ผ่านมาเป็นเวลานาน”(“หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต ศิษย์หลวง‌ปู่มั่นที่ประวัติลืมเลือน”อำพล เจน–สวนขลังดอทคอม)

นี่คือเรื่องราวของหลวงปู่ลี อโสโก และหลวงปู่สารณ์สุจิตโต จากการบอกเล่าของหลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ จาก‌บันทึกประวัติของหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ และการรื้อฟื้น‌ความทรงจำของคุณอำพล เจน