posttoday

พม่าถวายอัครมหาบัณฑิตแด่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์)

27 มกราคม 2556

ทันทีที่หนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2556 เสนอข่าวประกาศของทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์

ทันทีที่หนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2556 เสนอข่าวประกาศของทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์

โดย...สมาน สุดโต

ทันทีที่หนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2556 เสนอข่าวประกาศของทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์ เรื่องที่ประธานาธิบดีสหภาพเมียนมาร์ ได้ถวายสมณศักดิ์แด่พระมหาเถระและเถระที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีชื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) จากประเทศไทย เป็นรูปหนึ่งจากพระเถระต่างประเทศ 4 รูป ที่ได้รับการถวายสมณศักดิ์ชั้นอัครมหาบัณฑิตด้วย เอกอัครราชทูตสหภาพเมียนมาร์ ติ่นวิน ได้เขียนจดหมายอย่างเป็นทางการลงวันที่ 6 ม.ค. 2556 ถวายสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เพื่อแจ้งข่าวดังกล่าวให้ทราบทันที

เนื้อความจดหมายนั้น ติ่นวิน แสดงความยินดีที่ อูเต็งเส่ง ประธานาธิบดีสหภาพเมียนมาร์ ถวายสมณศักดิ์อัครมหาบัณฑิตตามประกาศของทำเนียบประธานาธิบดี เลขที่ 1/2013 ลงวันที่ 4 ม.ค. 2013 (แนบหนังสือพิมพ์มาด้วย)

ท่านเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยได้กล่าวต่อว่า สมณศักดิ์อันทรงเกียรติเหมาะสมอย่างยิ่งกับพระเดชพระคุณ เนื่องด้วยผลงานที่โดดเด่นทางด้านอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปริวรรต ที่พระเดชพระคุณได้อุทิศให้มานานหลายปีติดต่อกัน

พม่าถวายอัครมหาบัณฑิตแด่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์)

ติ่นวิน กล่าวในจดหมายว่า ความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่หยุดนิ่งของพระเดชพระคุณ ไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างไทยพม่าในอนาคต โดยเฉพาะการกระตุ้นและส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิด และธำรงไว้ซึ่งประเพณีโบราณในความร่วมมือทางพุทธศาสนาระหว่าง 2 ประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์อันเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตของทั้ง 2 ประเทศ ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วย

ตอนท้าย ท่านทูตแสดงความหวังว่าจะได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด พร้อมกับส่งเสริมและธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่าง 2 ประเทศต่อไป

ประวัติโดยย่อ

จากการที่ท่านได้สมณศักดิ์จากรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ครั้งนี้ ทำให้ท่านสามารถใช้อัครมหาบัณฑิตนำหน้าชื่อได้

เมื่อย้อนดูประวัติก่อนที่จะมีวันนี้ พบว่าพระคุณท่านมีนามเดิมว่า สมศักดิ์ ฉายาอุปสโม นามสกุลชูมาลัยวงศ์ เกิดวันที่ 2 ก.พ. 2484 ณ ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา บรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วัดละมุด จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 5 เม.ย. 2504

โดยที่ท่านไม่เคยบรรพชาเป็นสามเณรมาก่อน แต่เรียนปริยัติธรรมเมื่ออุปสมบทอายุ 20 ปี ด้วยความสามารถพิเศษ ท่านเรียนและสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2515 หรือเพียง 11 ปี นับแต่อุปสมบท นับว่าเป็นความอัศจรรย์ ซึ่งในบรรดาผู้อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี เรียนจนได้ประโยค ป.ธ.9 อันเป็นชั้นประโยคสูงสุดทางด้านปริยัติธรรมนั้น มีน้อยรูปนัก

วิปัสสนารุ่ง

ไม่ใช่แต่เท่านั้น พระเดชพระคุณยังใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมโดยไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย สอบได้ Ph.D.

เมื่อกลับไทยสร้างผลงานมากมาย ล้วนแต่เป็นการพัฒนาการศึกษาด้านปริยัติธรรมที่ยั่งยืน เช่น ตั้งสถาบันพุทธโฆส วิทยาเขตแห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อสอนบาลีใหญ่ หรือมูลกัจจายน์ ระดับปริญญาตรี เป็นการฟื้นฟูการเรียนมูลกัจจายน์ที่เลือนหายไปจากประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

เรื่องที่ริเริ่มด้วยความเชื่อมั่น จนกลายเป็นยุครุ่งเรืองแห่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อท่านเปิดศูนย์วิปัสสนาธรรมโมลีที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อให้พระสังฆาธิการและพระนักศึกษา มจร ได้อบรมวิปัสสนากรรมฐานก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่ จนกลายเป็นที่นิยม จนศูนย์แห่งนี้มีกิจกรรมตลอดปี ทั้งนี้เพราะท่านเชื่อว่าวิปัสสนากรรมฐานให้ได้ทุกอย่าง

ยิ่งกว่านั้น ท่านหาวิธีวัดผลการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สามารถจัดหลักสูตรการเรียนถึงระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา ในวิทยาเขตบาฬีพุทธโฆสได้

จึงไม่แปลกใจที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษด้านภาษาบาลี

ด้านการบริหาร ท่านดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีพุทธโฆส นครปฐม

พม่าถวายอัครมหาบัณฑิตแด่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์)

พม่าประทับใจ

ผลงานที่รัฐบาลและคณะสงฆ์สหภาพเมียนมาร์ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเป็นผู้มีความผูกพันกับสำนักมหาสี สยาดอว์ สำนักวิปัสสนาชื่อดังแห่งกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์แล้ว ท่านยังช่วยแก้ปัญหาการตั้งเจ้าอาวาสวัดทรายมูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทำให้คณะสงฆ์และรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์พอใจ

วัดทรายมูลเป็นวัดไทย แต่พระสงฆ์พม่าอยู่จำพรรษาหลายรูป โดยมีพระพม่าเป็นเจ้าอาวาส เป็นวัดที่ชาวพม่าในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงขึ้น เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ คณะสงฆ์ผู้ปกครองตั้งพระไทยรักษาการเจ้าอาวาส แต่ชาวพม่าประท้วงเป็นเรื่องเป็นราว จึงต้องระงับการแต่งตั้ง

รัฐบาลตั้งแต่เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ถึงนายกรัฐมนตรี อูเต็งเส่ง เคยหยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ท่านจึงสั่งการให้พระเทพรัชมังคลาจารย์ (สมาน) รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ไปแก้ไข เรื่องทุกอย่างจึงเรียบร้อยถูกใจชาวพม่า

สัททานุกรม

ผลงานชิ้นล่าสุดซึ่งเป็นความภูมิใจของเจ้าพระคุณ ในช่วงทำบุญอายุวัฒนมงคล 72 ปี วันที่ 2 ก.พ. 2556 คือการทำสัททานุกรมตาม “โครงการจัดทำสัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัย ฉบับบาลีไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” สำเร็จเป็นเล่มแรก ในจำนวน 69 เล่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากดำเนินการต่อเนื่องมานานนับสิบปี

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เขียนคำนำ (บางตอน) ในเล่มแรกว่า

สัททานุกรม มีหลักสำคัญ 9 ประการ

1.นำศัพท์บาลีจากพระไตรปิฎกอันไม่ซ้ำกันมาตั้งเป็นประธาน

2.บอกประเภท หรือชนิดของศัพท์ เช่น ลิงค์ อัพยยศัพท์ กิริยา เป็นต้น

3.วิเคราะห์สัททนัย (แยกรากศัพท์ ตั้งรูปวิเคราะห์) ตามหลักไวยากรณ์ชั้นสูง

4.รวบรวมความหมายของศัพท์นั้นๆ มาไว้ในที่เดียวกัน

5.รวบรวมอุทาหรณ์ของศัพท์นั้นๆ มาครบใจความ ทั้งบาลี อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคัมภีร์สัททาวิเสส

6.อ้างประโยคบาลีที่มาของศัพท์นั้นๆ จากบาลีพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคัมภีร์สัททาวิเสส ที่อธิบายความบาลีที่ยกมาตั้งเป็นประธาน

7.แปลอุทาหรณ์บาลีที่ยกมาตั้งเป็นประธานให้มีความหมายสอดคล้องเป็นแนวเดียวกัน ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และสัททาวิเสส

8.แสดงการสังเคราะห์เชิงวิจัยบทที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ตามนัยอุปจาระ นยะ อลังการะ ฉันท์ เนตติ และสภาวธรรม เป็นต้น

9.ตรวจชำระคำศัพท์บาลีและสำนวนคำแปลภาษาไทย ที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสัทธรรมปฏิรูปที่อาจเกิดขึ้นจากการตีความผิดพลาด

เพื่อให้มีการใช้ศัพท์ธรรมโดยถูกต้องพร้อมทั้งอรรถ (สาตฺถํ) พร้อมทั้งพยัญชนะ (สพฺยญฺชนํ) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้และมรดกธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นคู่มือศึกษาค้นคว้าบาลีพระไตรปิฎกของนิตินักศึกษา และบัณฑิตชนทั่วไป โดยสะดวกและรวดเร็ว

พม่าถวายอัครมหาบัณฑิตแด่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์)

เมื่อทำสมบูรณ์ “สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัยฯ” ชุดนี้ จะเป็นเครื่องเชิดชูคัมภีร์พระไตรปิฎกให้สูงค่ายิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะเป็นศักดิ์ศรีและวิทยาภรณ์อันล้ำค่า ใช้เป็นเครื่องประดับชาติ ประดับพระศาสนา ประดับวัดวาอาราม ประดับท่านเจ้าอาวาส เจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ประดับสถาบันการศึกษาทั้งฝ่ายธรรม ฝ่ายโลก ประดับบุคคลผู้สนใจใคร่หาความรู้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก

ส่วนวัดวาอารามใดมีคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับบาลี และ/หรือมีคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยอยู่แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีคัมภีร์ “สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัยฯ” นี้ไว้เคียงคู่ เช่นเดียวกับพจนานุกรมไทยเคียงคู่กับภาษาไทยฉะนั้น

คัมภีร์ “สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัยฯ” นี้ เป็นหนังสือใหญ่คัมภีร์หนึ่ง ยังไม่เคยมีมาในประเทศไทยในรัชกาลใดๆ ในอดีต ไม่มีผู้ใดเคยคาดฝันมาก่อนว่าจะมีอะไรดลบันดาลให้คัมภีร์สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัยฯ เกิดขึ้นในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เมื่อเกิดแล้วจึงกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า สิ่งที่ดลบันดาลดังกล่าวนั้น คือ พระบรมโพธิสมภาร พระบุญญาธิการ พระบารมีธรรมของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลที่ 9 องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จัดเข้าในภาวการณ์ที่เป็นส่วนเอกมหัจฉริยภาพทีเดียว

คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ขอถวายเป็นส่วนเสริมพระเกียรติแห่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธ.ค. 2554

สุดท้ายพระคุณท่านอนุโมทนาความตั้งใจแน่วแน่ของเจ้าหน้าที่ของกองจัดแปลทุกฝ่าย และความร่วมมือด้วยดีจากคณะสงฆ์ทุกระดับ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชน

จึงหวังว่าคัมภีร์สัททานุกรมพระไตรปิฎกเชิงวิจัย ฉบับบาลี-ไทย เฉลิมพระเกียรติฉลองพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษานี้ จะเป็นส่วนหนึ่งแห่งประกายปัญญาที่ช่วยเอื้อให้หลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาได้แพร่หลายในวิถีทางที่ถูกต้องสืบกันไป และขออุทิศน้ำพักน้ำแรงบูชาท่านบุรพาจารย์ผู้บริหารพระพุทธศาสนาสืบๆ กันมา เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระบวรพุทธศาสนาชั่วกาลนิรันดร

อายุวัฒนมงคล 72 ปี ของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จึงเป็นวันประกาศความเจริญก้าวหน้าทางด้านปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง