posttoday

มาฆบูชาร่วมอนุโมทนากับชาวพุทธในอินเดีย(๕)

31 มีนาคม 2553

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบอาราธนาพระอาจารย์ ช่วยกรุณาเล่าเรื่องผลความสำเร็จของการจัดงานมาฆบูชาโลกในประเทศอินเดีย และมุมมองใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา อันควรแก่การศึกษาตามที่ปรากฏในบทความ สว่าง ณ กลางใจ ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์...

วิสัชนา : ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่หากชาวพุทธในอินเดียจำนวนมากต้องเดินทางไปวัดเวฬุวันมหาวิหาร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน|รัฐพิหาร เพื่อร่วมงานมาฆบูชาโลก ในฐานะเจ้าภาพ โดยกำหนดตัวแทนไปร่วมในครั้งแรก ๕,๐๐๐-๑ หมื่นคน เมื่อพิจารณาดูที่พัก อาหารการกิน การเดินทางจากรัฐมหาราษฏระไปรัฐพิหาร โดยอาศัยรถไฟที่ใช้เวลานั่งประมาณ ๒๖-๓๐ ชั่วโมง และเมื่อสรุปค่าใช้จ่ายต่อบุคคลแล้ว ก็ให้นึกสงสารชาวพุทธในอินเดีย โดยเฉพาะที่กินอยู่หลับนอนนั้น คงเป็นปัญหาสุดๆ ที่แก้ไขไม่ได้เลย หากต้องการคุณภาพเพียงแค่ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สำคัญอย่างยิ่งคือ วัดเวฬุวันฯ นั้น ไม่สามารถรองรับผู้คนจำนวนหลายพันคนได้อย่างแน่นอนในปัจจุบัน อีกประการหนึ่งที่ละเอียดลุ่มลึกเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาตมาต้องคิดอยู่ตลอดเวลา คือ การกระทบกับชาวอินเดียในท้องถิ่น ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู และอิสลาม ไม่มีพุทธศาสนิกชนชาวอินเดียในพื้นที่ราชคฤห์เลย ซึ่งรัฐพิหารนั้น ความเข้มแข็งของศาสนาฮินดูนั้นมาอันดับต้น และเข้มข้นมากในวิถีของระบบวรรณะ ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมของชาวฮินดูในชมพูทวีป และช่วงวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ นั้น ให้ไปตรงกับวันโฮลี่ (Holy Day) ของชาวฮินดู ที่จะเฉลิมฉลองสนุกสนานรื่นเริงกินเหล้าเมายา สาดสีฝุ่นใส่กัน ปล่อยผีกันปีละครั้ง เหมือนวันสงกรานต์บ้านเราในปัจจุบัน เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา|กันมากจนรถราต้องหยุดวิ่ง การเดินทางต้องชะงัก ไม่มีใครรับรองความปลอดภัยในการสัญจรไปมาบนท้องถนน ก็คงจะไม่มีที่ไหนเกินหน้ารัฐพิหาร โดยเฉพาะในเขตอำเภอนาลันทา อำเภอคยา เมืองปัตนะ ฯลฯ

อาตมาพิจารณาหลายตลบ (คิดเพียงลำพัง) ว่า ได้กับเสีย...เสียกับได้...มันเป็นอย่างไร อะไรเสีย อะไรได้ ใครได้...ใครเสีย... จึงได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดว่า ควรจัดงานมาฆบูชาขึ้น ๒ แห่ง ในเทศกาลมาฆบูชาฤกษ์ โดยกำหนดวันขึ้น ๘ ค่ำ ที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๕๓ เป็นวันเริ่มสู่เทศกาลมาฆบูชาปี ๒๕๕๓ จึงได้จัดให้มีศาสนกิจในวันดังกล่าว ณ รัฐมหาราษฏระเพื่อความสะดวกของชาวพุทธในอินเดียจำนวนมาก ที่จะได้มีส่วนร่วมในงานมาฆบูชา แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้อาตมาต้องมีงานมากขึ้น ทุกๆ ฝ่ายของผู้ร่วมจัดงานจะต้องมีภาระมากขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะนี่เป็นการคืนกลับมาครั้งแรกของมาฆบูชาในดินแดนแผ่นดินเกิดของพระพุทธศาสนา บนความเป็นเจ้าภาพหลัก โดยชาวพุทธในชมพูทวีป ภายใต้การสนับสนุนให้ความร่วมมือของชาวพุทธจากหลายๆ ชาติ โดยเฉพาะชาวพุทธในประเทศไทยเรา และอาตมาเชื่อว่ารัฐมหาราษฏระนั้น คงจะเหมาะสมที่สุดและคงจะประสบความสำเร็จสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เพราะเป็นรัฐที่มีชาวพุทธมากที่สุดในประเทศอินเดียปัจจุบัน

จากการคาดการของอาตมา ก็คงจะเป็นความจริง ถึงแม้ว่าคณะกรรมการจัดงานมาฆบูชา ณ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย จะยังขาดสภาพความพร้อมในความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทำให้การเตรียมงานตามแบบแผนไม่สมบูรณ์ การประชาสัมพันธ์ไม่ดีนัก แต่ด้วยหัวใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาของทุกคนที่มีอยู่พร้อมในระดับหนึ่ง ก็สามารถขับเคลื่อนงานดังกล่าวไปได้ด้วยดีในภาพรวม ด้วยองค์คุณของพุทธศาสนาที่มีอานุภาพธรรมอยู่ในตัวเอง ภาพสำเร็จของงานมาฆบูชา ณ ดิคชภูมี นาคปุระมหาราษฏระจึงตระการตาประทับใจชาวพุทธจากหลายชาติ ที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานในวันดังกล่าว ตลอดจนถึงค่ำคืนนั้นที่มหาชนหลั่งไหลมาฟังธรรมบรรยายจากอาตมา และร่วมจุดเทียนเพื่อประทักษิณ เวียนเทียน ณ สถูปดิคชภูมี ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครนาคปุระ เมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ ท่ามกลางบรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยเสียงสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย ที่ดังกระหึ่ม กึกก้อง ดุจจะบอกให้โลกได้รับรู้ว่า พระพุทธศาสนายังคงอยู่...พระพุทธศาสนา...มิได้สูญหายไปไหน...เราทั้งหลายคือชาวพุทธ We are Buddhists!!...รวมพลังสู่ความเป็นหนึ่งจึงเป็นสัญญาณอันเกิดขึ้นเนื่องในวันมาฆบูชาที่ชาวพุทธในอินเดียใช้ชื่องานดังกล่าวว่า “Vishwa Magh Puja Parva 2010”

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132