posttoday

มาฆบูชาร่วมอนุโมทนากับชาวพุทธในอินเดีย(๑)

31 มีนาคม 2553

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบอาราธนาพระอาจารย์ ช่วยกรุณาเล่าเรื่องผลความสำเร็จของการจัดงานมาฆบูชาโลกในประเทศอินเดีย และมุมมองใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา อันควรแก่การศึกษาตามที่ปรากฏในบทความ สว่าง ณ กลางใจ ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์...

วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้สนใจในธรรมทุกท่าน โดยเฉพาะคณะศรัทธาฯ ที่ติดตามอ่าน “ธรรมส่องโลก” ซึ่งคงทราบกันดีในศาสนกิจวันมาฆบูชาปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่อาตมาและคณะได้เดินทางไปร่วมจัดงานมาฆบูชาโลก ทั้งที่รัฐมหาราษฎร์และรัฐพิหาร โดยเฉพาะ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปแล้วด้วยดี ดังที่มีภาพปรากฏในคอลัมน์ของโยมสมาน สุดโต

อย่างไรก็ตาม อาตมาใคร่ขอสรุปในประเด็นอันสำคัญเพื่อประโยชน์แห่งการศึกษา และเพื่อจะได้จารึกไว้ในร่องรอยธรรมกึ่งพุทธกาล ว่าบัดนี้ได้มีการรวมพลังชาวพุทธจากหลายๆ ชาติเพื่อทำการสักการบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวันมาฆบูชา หรือวันเพ็ญเดือน ๓ ซึ่งในอดีตย้อนกลับไป ๒,๕๙๗ ปี พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราได้ทรงประทานพระโอวาทปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์ขีณาสพ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทรงอภิญญาครบถ้วนด้วยวิชชา ๖ สมบูรณ์ด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ที่เดินทางมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ณ พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ชมพูทวีป โดยมีการจัดงานเริ่มตั้งแต่ ๒๑ ก.พ.–๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓ ในสองสถานที่ ได้แก่ ดิคซภูมี เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฎร์ (๒๑ ก.พ. ๒๕๕๓) และวัดเวฬุวันมหาวิหาร ราชคฤห์ (รัฐพิหาร, ๒๖–๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓)

โดยสรุปกล่าวได้ว่า บรรลุผลสำเร็จในการจัดงานมาฆบูชาโลกครั้งนี้ในหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่สุดได้ทำให้ชาวพุทธในอินเดียที่มีมากกว่า ๑๐ ล้านคน ตื่นตัวต่อความเป็นชาวพุทธ ภาคภูมิใจ และมีกำลังใจเกิดขึ้นมากต่อการได้มีส่วนโอกาสในการจัดงานทางศาสนาอย่างถูกต้องตรงตามวิถีพุทธเป็นครั้งแรก ในฐานะได้รับการสนับสนุนให้เป็นเจ้าภาพหลัก และนำไปสู่การได้รับความรู้ความเข้าใจในอุดมการณ์ หลักการ และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏมีอยู่ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ อันนำไปสู่การได้เห็นคุณค่า รูปลักษณ์ รูปแบบ วิถีคิด วิถีปฏิบัติของคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสันติอย่างแท้จริง อันเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ของสัตว์โลกจริงๆ ซึ่งมีความแตกต่างแปลกพิเศษไปจากศาสนาลัทธิต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการได้เห็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากชาวพุทธ องค์กรพุทธศาสนา และบรรดาบุคคลผู้มีความศรัทธา แม้อยู่นอกเขตพุทธศาสนา ที่ได้รวมพลังกาย ผนึกกำลังจิต สานสร้างกำลังความคิดเพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาวพุทธ สืบเนื่องจากวันมาฆบูชาอันเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่ดิคซภูมี เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฎร์ ได้มีชาวพุทธในอินเดียเดินทางมาจากหลายพื้นที่ หลายบ้าน หลายเมือง จำนวนมากร่วมหมื่นคน เต็มพื้นที่รับรองที่จัดรอรับของคณะกรรมการจัดงานมาฆบูชาโลก รัฐมหาราษฎร์ อินเดีย

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132