posttoday

พระพุทธศาสนาและมุมมองของ...สถานทูตไทยในบังคลาเทศ

13 มกราคม 2556

จากการที่วัดและชุมชนชาวพุทธ ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มน้อยในประเทศบังกลาเทศถูกเบียดเบียนโดยชุมชนมุสลิม ซึ่งเป็นชุมชนส่วนใหญ่

จากการที่วัดและชุมชนชาวพุทธ ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มน้อยในประเทศบังกลาเทศถูกเบียดเบียนโดยชุมชนมุสลิม ซึ่งเป็นชุมชนส่วนใหญ่

โดย...สมาน สุดโต

จากการที่วัดและชุมชนชาวพุทธ ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มน้อยในประเทศบังกลาเทศถูกเบียดเบียนโดยชุมชนมุสลิม ซึ่งเป็นชุมชนส่วนใหญ่ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2555 นั้น กระทบกระเทือนใจชาวพุทธและชาวโลกตามที่เป็นข่าวแล้ว

วันนี้จึงขอพาท่านดูสถานการณ์โดยรวม และจากมุมมองอย่างไม่เป็นทางการของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำบังกลาเทศที่รวบรวมไว้เพื่อการศึกษา จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่บางส่วนบางตอน เพื่อประโยชน์แก่ชาวพุทธโดยทั่วไป โดยเฉพาะชาวพุทธไทย

พุทธเคยเป็นใหญ่

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาดั้งเดิมของดินแดนย่านนี้มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล หรือ 2,600 ปีมาแล้ว พระโสณะ พระอุตตระ สมณทูตเคยเผยแผ่พระพุทธศาสนาย่านนี้ก่อนเข้าสุวรรณภูมิในสมัยพระเจ้าอโศก โบราณสถานหลายแห่งที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นมรดกโลกอย่างน้อย 2 แห่ง คือ โสมปูร์ และซาลบอน เมื่อเข้าศตวรรษที่ 13 พระพุทธศาสนาที่เคยเป็นชุมชนส่วนใหญ่ก็เริ่มเล็กลงจนกลายเป็นชุมชนส่วนน้อย ถึงจะมีจำนวนน้อยแต่ก็ยังเหนียวแน่นในปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาและมุมมองของ...สถานทูตไทยในบังคลาเทศ

ตามตัวเลขที่เผยแพร่ประชากรชาวบังกลาเทศทุกเผ่าพันธุ์ในปัจจุบันรวมกันประมาณ 170 ล้านคน ในจำนวนนั้น 98% นับถือศาสนาอิสลาม ที่เหลือนับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และคริสต์

ผู้นับถือศาสนาพุทธกระจายอยู่ในเมือง ค็อก บาร์ซาร์ รามู ปติญญา และอูคิยา จังหวัดจิตตะกอง ซึ่งเป็นเมืองท่าติดกับประเทศสหภาพเมียนมาร์ ในพื้นที่เหล่านั้นจะมีวัดและชุมชนชาวพุทธอยู่ตามตะเข็บรอยต่อกับพม่า (เมืองยะไข่) จึงไม่แปลกที่อิทธิพลทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาจะเห็นเป็นแบบพม่าไปทั้งสิ้น แม้กระทั่งพระเถระผู้นำของพม่า ส่วนมากได้รับการศึกษาและอบรมมาจากสำนักสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของพม่า

ในกรุงธากา เมืองหลวง มีวัดตั้งอยู่กลางเมืองหลวงเป็นวัดใหญ่ ชื่อว่าวัดธรรมราชิกาวิหาร และมีวัดเล็กวัดน้อยจำนวนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 8 วัด

ตระกูลที่นับถือพระพุทธศาสนาที่สำคัญได้แก่ บารัว มัตซูดี้ เจาทรี ตลุกดาร์ และสิงหะ เป็นต้น ส่วนชนเผ่านับถือพุทธ ได้แก่ จั๊กม่า มูร์มาร์ มากฮ์ และทานชางยา เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปทั่วทั้งประเทศมีวัดกระจัดกระจายอยู่ประมาณ 1,500 วัด พระสงฆ์มีประมาณ 2,000 รูป แต่แบ่งเป็น 2 นิกาย คือ สังฆราชนิกาย และสังฆนายกนิกาย

องค์กรชาวพุทธที่เป็นหลักสำคัญมี 3 องค์กร คือ Bangladesh Buddhist Association (BBA), Bangladesh Bouddha Kristi Prachar Sangha (BBKPS), Bangalaedsh Bouddha Juba Parishad (BBJP) นอกจากนั้นมีองค์กรระดับท้องถิ่นและนานาชาติจำนวนหนึ่ง โดยมีองค์กรสงฆ์ 2 แห่ง คือ Bnagaladesh Bouddha Bhikkhu Mahasabha (BBBM) และ Bangladesh Sanharaj Bhikkhu Mahasabha (BSBM) ทั้งสองตั้งอยู่ที่จิตตะกอง และยังมีองค์กรฝ่ายสตรีอีกหนึ่งองค์กร

ปัจจุบันผู้นับถือศาสนาพุทธมีทั้งนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งกวี นักเขียน นักกีฬา อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และนักธุรกิจ สถาบันการศึกษาหลายแห่งสอนพระพุทธศาสนา จึงจัดได้ว่าบังกลาเทศมีองค์กรด้านพุทธและผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดแม้จะเป็นชนส่วนน้อยก็ตาม

การส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ในอนาคตพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศจะเป็นเช่นไร สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศบังกลาเทศได้ศึกษาข้อมูลการวิวัฒนาการแต่โบราณถึงยุคปัจจุบัน ได้กล่าวถึงด้านการส่งเสริมไว้ว่าแม้ว่าสัดส่วนผู้นับถือศาสนาพุทธปัจจุบันจะมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ชาวพุทธในบังกลาเทศนิยมจัดงานทางศาสนาและสังคมมากกว่าที่จะเป็นการจัดงานหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง

พระพุทธศาสนาและมุมมองของ...สถานทูตไทยในบังคลาเทศ

การส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาในบังกลาเทศจึงเป็นกิจกรรมทางสังคมและศาสนามากกว่าจะได้รับการมองว่ามีนัยทางการเมือง อาทิ องค์กร BBKPS ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงธากา มีการจัดกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ให้แก่วัด โรงเรียนมัธยม สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า คลินิกการกุศลรักษาโรคให้ผู้ยากไร้ จัดหาที่พักให้ผู้มาเยือนและแก่ลูกศิษย์ ห้องสมุดธรรมะ สิ่งพิมพ์ และศูนย์ฝึกอบรม รวมทั้งการระดมทุนสร้างวัดพุทธบังกลาเทศที่พุทธคยาในรัฐพิหารของอินเดีย เป็นต้น มีการจัดพิมพ์วารสารรายไตรมาส รายเดือน และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ทางด้านพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาเบงกาลีหรือบังกลา ทั้งๆ ที่เป็นความต้องการสำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในบังกลาเทศ

อย่างไรก็ดี จากการเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศมุสลิม กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธในบังกลาเทศที่นับวันจะมีสัดส่วนผู้นับถือน้อยลง ตระหนักดีถึงความอยู่รอดและการคงอยู่ของพระพุทธศาสนา จึงเพิ่มความพยายามในการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างชาวพุทธ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งนับวันจะอยู่ห่างไกลจากธรรมะ ที่ทำสำเร็จคือเรียกร้องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดประจำชาติของบังกลาเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับพม่าและไทย ซึ่งในระยะหลังมีการส่งคณะสงฆ์และภิกษุสามเณรไปบวชเรียนและจำพรรษาในหลายภูมิภาคของประเทศไทย และกลับมาทำประโยชน์ให้แก่วงการพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศ จากการระดมทุนและพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ

การส่งเสริมพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศจึงมีบริบทที่มีขอบเขตกว้างขวาง และรวมไปถึงการยกระดับการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้หลุดพ้นจากความยากจน จึงจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาชุมชน วัฒนธรรม ศาสนา หน่วยเล็กในระดับครอบครัวให้มีที่พึ่งและปัจจัยเกื้อกูลที่เพียงพอ

ในบริบทของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวพุทธ การพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับชุมชนภายในประเทศ และระหว่างองค์กรชาวพุทธที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดของสังคมชาวพุทธในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศมุสลิม ซึ่งนับวันคนรุ่นใหม่ที่เกิดในครอบครัวชาวพุทธได้หันเหความสนใจสู่สิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา หรือด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องย้ายถิ่นห่างไกลจากชุมชนชาวพุทธ

หากพิจารณาจากความหนาแน่นของชุมชนชาวพุทธในเมืองจิตตะกองและบริเวณโดยรอบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและสถานที่ทางศาสนาพุทธที่สำคัญที่บูรณะหรือจัดตั้งขึ้นใหม่ อาทิ วัดพุทธในเมืองจิตตะกอง ซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นในปี ค.ศ. 1887 จึงยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ชุมชนชาวพุทธในกรุงธากาอยู่ค่อนข้างกระจัดกระจายและขาดศูนย์รวม จนกระทั่งมีการบูรณะและจัดสร้างวัดขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อ “วัดธรรมราชสิกขามหาวิหาร” เป็นแห่งแรก (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จฯ เยือนวัดดังกล่าวในปี 2505 และมีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เสด็จฯ เยือนวัดดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา) และวัด/อารามอื่นๆ ในกรุงธาการวม 8 แห่ง ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี อย่างไรก็ดี วัดพุทธในบังกลาเทศหลายแห่งยังขาดเงินทุนในการพัฒนาให้เป็นแหล่งศูนย์รวมกิจกรรมของชาวพุทธและสังคมอย่างต่อเนื่อง

พระพุทธศาสนาและมุมมองของ...สถานทูตไทยในบังคลาเทศ

ความร่วมมือด้านพุทธศาสนาไทย-บังกลาเทศ

บังกลาเทศเห็นว่าองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล. – WFB) ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2493 และปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมพุทธศาสนิกชนจากประเทศต่างๆ และส่งเสริมสันติภาพและการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาในหลายประเทศ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาในบังกลาเทศบางกลุ่มเชื่อว่า หากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จะช่วยกันจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศในรูปแบบของ Organization of Buddhist Countries (OBC) และมีผู้นำทางสงฆ์ (เช่นเดียวกับตำแหน่งสันตะปาปาของโรมันคาทอลิก) ก็น่าจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป เช่นที่เคยรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีการส่งคณะสงฆ์เป็นสมณทูตไปเจริญสัมพันธ์กับดินแดนในประเทศต่างๆ และเห็นว่าไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของ WFB และมีความพร้อมจะมีบทบาทผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

ที่ผ่านมาไทยมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนกิจกรรมทางพุทธศาสนาในบังกลาเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จฯ เยือนวัดธรรมราชสิกขามหาวิหารในกรุงธากา เมื่อเดือน มี.ค. 2505 และต่อมาพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์เสด็จฯ อย่างต่อเนื่อง

การเสด็จเยือนของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งประธาน พ.ส.ล. (WFB) และการเสด็จฯ เยือนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี พ.ศ. 2535 การเชิญกฐินพระราชทานให้แก่วัดพุทธในบังกลาเทศหลายวาระโอกาส และการบริจาคปัจจัยบำรุงวัดสำคัญๆ ทั้งในกรุงธากาและเมืองอื่นๆ ทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาของสองประเทศใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะสงฆ์ระดับสูงระหว่างกันมาโดยตลอด ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์บังกลาเทศบวชเรียนและปฏิบัติธรรมในวัดต่างๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย

ในอนาคตไทยอาจพิจารณาขยายความร่วมมือผ่านองค์กรด้านพุทธศาสนาที่มีอยู่หลายองค์กรในบังกลาเทศ โดยอาจพิจารณาสนับสนุนกิจกรรมไม่เพียงแต่ฝ่ายสงฆ์ แต่อาจรวมไปถึงฝ่ายฆราวาส ตลอดจนกลุ่มผู้นำเยาวชนชาวพุทธ ทั้งนี้ โดยอาจขอรับการสนับสนุนจากชมรม/สมาคมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย หรือเกี่ยวข้องกับคนไทยในบังกลาเทศให้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมความเข้มแข็งของกิจกรรมพุทธศาสนาในบังกลาเทศต่อไป