posttoday

เหตุเกิดในบังคลาเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน เตือนภัยชาวพุทธในอนาคต

06 มกราคม 2556

ตามที่คอลัมน์นี้รายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2555 เรื่องศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาสลดใจกับโศกนาฏกรรมที่วัดพุทธศาสนาถูกเผาทำลายที่บังกลาเทศ

ตามที่คอลัมน์นี้รายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2555 เรื่องศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาสลดใจกับโศกนาฏกรรมที่วัดพุทธศาสนาถูกเผาทำลายที่บังกลาเทศ

โดย...สมาน สุดโต

ตามที่คอลัมน์นี้รายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2555 เรื่องศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาสลดใจกับโศกนาฏกรรมที่วัดพุทธศาสนาถูกเผาทำลายที่บังกลาเทศ วันนี้จะรายงานต่อ เพราะยังมีเรื่องและภาพที่ยังไม่ได้เสนออีกจำนวนหนึ่ง เพราะเหตุเกิดที่บังกลาเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน ล้วนแต่ส่งสัญญาณเตือนภัยให้ชาวพุทธอย่าประมาท เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคต เช่น เกิดที่บังกลาเทศเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้

เมื่อวันที่ 14-18 ธ.ค. 2555 ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นำโดยพระเทพวิสุทธิกวี เดินทางไปเยี่ยมเยียนวัดและชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศบังกลาเทศ ที่มุสลิมเป็นชุมชนส่วนใหญ่ หลังจากชุมชนชาวพุทธที่เป็นชุมชนส่วนน้อยที่จิตตะกองถูกเผาและย่ำยี เมื่อคืนวันที่ 29 ก.ย. 2555 โดยมีวัด 28 วัดถูกเผา ไม่รวมบ้านชาวพุทธจำนวนมาก และชาวพุทธอีก 7 คน พระภิกษุ 1 รูป ที่พลีชีวิตให้กับความรุนแรงครั้งนี้ วันนั้นชาวพุทธเรียกว่า Black September 29 และวันเสาร์ทมิฬ

เหตุเกิดในบังคลาเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน เตือนภัยชาวพุทธในอนาคต

 

ก่อนที่คณะจากประเทศไทยจะเดินทางไปนั้น กลุ่มเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน และผู้แทนชาวพุทธจากส่วนต่างๆ ทั่วโลก เดินทางไปเยี่ยมวัดต่างๆ มาก่อนแล้ว ส่วนคณะศูนย์พิทักษ์ฯ ที่ไปช้า เพราะต้องจัดหาสิ่งของและเงินทองไปมอบให้ เพราะไม่ต้องการไปมือเปล่า แต่ก็เห็นโศกนาฏกรรมที่เหลืออยู่ แม้จะถูกกลบเกลื่อนไปบ้างก็ตาม

ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่คุ้นเคยกับวัดในเมืองไทยก่อนว่า วัดไทยกับบังกลาเทศไม่เหมือนกันทางด้านกายภาพ วัดในไทยมีโบสถ์ วิหาร ศาลา อลังการด้วยสีทองระยิบระยับ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาเฉิดฉาย บอกอัตลักษณ์ความเป็นวัดในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณในพื้นที่กว้างใหญ่ แต่วัดในบังกลาเทศไม่มีสิ่งเหล่านี้ สถาปัตยกรรมและศิลปะการก่อสร้างโบสถ์ วิหารขนาดเล็กและไม่อลังการ พระพุทธรูปก็มีพุทธลักษณะไปทางพม่าเป็นส่วนมาก ยกเว้นพระพุทธรูปแบบไทยที่มีเพียงน้อยนิด

บางวัดมีเพียงวิหารที่สร้างเหมือนบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อตั้งพระพุทธรูปบูชา ส่วนศาลาสร้างพอต้อนรับประชาชนได้ประมาณ 50-100 คน กำแพงวัดรวมทั้งซุ้มประตูไม่ได้ทำอวดทำประชันกันเหมือนเมืองไทย ที่มีมากมาย เหนือไทยคืออายุของวัด เช่น วัดรามู สีมา วิหารนั้น มีอายุเกือบ 400 ปี เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมชาวพุทธดั้งเดิมที่ทุกคนต้องไปเยือน หรือวัด Shree VaraVihara เมืองรามู ที่มีวิหารเป็นปราสาทแบบพม่า ภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูปพม่า สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1885 หรือ 117 ปีมาแล้ว (วัดนี้ไม่ถูกเผา เพราะอยู่ติดชุมชนมุสลิม (มุสลิมมาขอไว้เพราะกลัวไฟลามไปติดชุมชน) แต่พระพุทธรูป โต๊ะ ตู้ที่บรรจุพระพุทธรูปและคัมภีร์ แม้กระทั่งบันไดโบราณถูกทำลายสิ้น)

บรรดาวัดที่เราไปเห็นที่ ค็อก บาร์ซาร์ รามู และอูขิยา จังหวัดจิตตะกอง คือวัดและชุมชนชาวพุทธที่ถูกทำลายไปเป็นส่วนมาก แม้ว่าจะเป็นวัดและศาสนาของชนกลุ่มน้อยก็ตาม จึงเป็นโศกสลดใจของผู้พบเห็นไม่ว่าท่านจะยึดมั่นในศาสนาใดก็ตาม

ในอดีตนั้นดินแดนแห่งบังกลาเทศ เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธอยู่ในชมพูทวีป จึงเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง เป็นเส้นทางที่พระโสณะและพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก่อนเดินทางสู่สุวรรณภูมิ (พม่าและมอญ และดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน) ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

เมื่อนาลันทาในแคว้นมคธถูกเผาโดยมุสลิมเตอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 1700 เศษนั้น ดินแดนแถบนี้กลายเป็นที่หลบภัยของพระสงฆ์จากนาลันทาและชาวพุทธ เพราะที่ที่เรียกว่าบังกลาเทศในปัจจุบัน คือที่ตั้งสถาบันใหญ่ทางพุทธศาสนาที่ใหญ่พอๆ กับนาลันทา ซึ่งชาวพุทธเรียกว่านาลันทาที่ 2 ตั้งอยู่นั่นคือ Salbon University ที่ Comilla สร้างในศตวรรษที่ 8 ที่คณะของพระเทพวิสุทธิกวีได้ไปดู และข้อมูลจาก Buddhists of Bangladessh by M A Taher เสนอภาพถ่ายมหาวิทยาลัย Sompur Mahavihara, the Greatest Buddhist Unversity of the World at Paharpur, Rashahi สร้างในศตวรรษที่ 9 แต่คณะจากไทยไม่ได้ไปดู เพราะอยู่คนละทิศกับเส้นทางไปจิตตะกอง Sompur Mahavihara อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธากา ติดกับชายแดนอินเดีย (ติด Kollkata)

มหาวิทยาลัยหรือมหาวิหารทั้งสองแห่งเป็นมรดกโลก พิสูจน์ความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในอดีต ในดินแดนที่เป็นบังกลาเทศปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุคมืดในศตวรรษที่ 13 เรื่อยมา เมื่อผู้ปกครองกลายเป็นผู้นับถืออิสลาม ปัจจุบันที่เห็นคือโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศมุสลิมเท่านั้น

เหตุเกิดในบังคลาเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน เตือนภัยชาวพุทธในอนาคต

 

เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง 4 วัน พระเทพวิสุทธิกวี หัวหน้าคณะได้สรุปไว้ดังนี้

1.ชาวพุทธรู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น (ที่รามู) แต่ไม่พร้อมที่จะป้องกันตัวเอง

2.ชาวพุทธกลายเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ไม่รวมตัวกันจึงอ่อนแอ

3.พระสงฆ์มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ยังแบ่งเป็น 2 นิกาย (นิกายสังฆราช และนิกายสังฆนายก)

4.วัดตั้งอยู่ในที่กันดารเป็นส่วนมาก จึงป้องกันตัวเองไม่ได้

5.ชาวพุทธไม่น้อยด้อยการศึกษา

6.ผู้ทำลายทำงานประสานงานและระดมมาพร้อมกัน โดยใช้การสื่อสารสมัยใหม่ (SMS)

7.ฝ่ายการเมืองบังกลาเทศเข้าถึงที่เกิดเหตุเร็ว จะเห็นว่ารัฐบาลเข้าไปช่วยวัดที่ถูกเผา ช่วยสร้างขึ้นใหม่ เพื่อฟื้นคืนชีพของเก่า

8.น่าสังเกตว่า เมื่อไปได้รวดเร็วแล้ว แต่เพราะเป็นการเมือง จึงหาโอกาสหาเสียงแอบแฝงไปด้วย

9.เจ้าหน้าที่ทหารเข้าถึงเร็วมาก เช่น กรณีที่คณะไทยไปเยี่ยมนั้น เห็นทหาร 2 ชุด มาสังเกตการณ์ แต่สงสัยเมื่อวัดถูกเผาทำไมจึงมาไม่ทันเหตุการณ์ก็ไม่รู้

10.จากเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่า พระผู้ใหญ่ในองค์กรสงฆ์หมดพลังขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มปริมาณและพลังชาวพุทธ

11.เขตที่ชาวพุทธอาศัยเป็นเขตดินดำน้ำชุ่ม แต่ก็เป็นเขตชนบทที่ยากจนเป็นส่วนมาก

12.ภิกษุชาวบังกลาเทศต้องร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างพลังสามัคคี เอกภาพให้เข้มข้นและยิ่งใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เหตุเกิดในบังคลาเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน เตือนภัยชาวพุทธในอนาคต

 

13.การฟื้นฟูปริมาณชาวพุทธในบังกลาเทศ อาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากชาวพุทธที่มีอยู่ทำการฟื้นฟูในเชิงคุณภาพ น่าจะพอเป็นไปได้

14.การเดินทางไปให้กำลังใจครั้งนี้ อาจทำให้เขามีขวัญ กำลังใจขึ้น แต่หลังเรากลับ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นอีก น่าเป็นห่วงไม่น้อยเลย

15.การเดินทางออกจะยากลำบาก แต่ก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว ปัญหามีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ยานพาหนะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

16.ความผิดพลาดของพวกเรา คือ บริหารเวลาไม่ได้ ล้มเหลว ทำให้แผนงาน กำหนดการคลาดเคลื่อนหลายจุด

17.การจัดการไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบของให้ผู้รับที่ภิกษุ สามเณร ฆราวาส ดูสับสนไปหมดทั้ง 3 จุดที่ไปมอบ

18.การเดินทางน่าจะดีกว่านั้น ถ้า (คณะเดินทางจากไทย) อยู่ในรถคันเดียวกัน เมื่อแยกเป็นรถ 2 คัน ทำให้ขาดการประสานงานที่ดี

19.เป็นความโชคดีที่ได้พบพระนาคเสน พระวิบูลนันทะ ชาวบังกลาเทศที่ศึกษาในไทยเป็นหลักในการนำคณะ และการแปลภาษาเบงกาลีเป็นไทยหรือไทยเป็นเบงกาลี หากมีแต่ภาษาอังกฤษคงยุ่งไม่น้อยเลย เพราะภาษาอังกฤษยังใช้ไม่ได้ทั่วไป

20.ปัญหาการประสานงานระหว่างคณะเดินทางและ Tour ท้องถิ่น ไกด์ไทยในบังกลาเทศมีอยู่บ้าง

สุดท้าย พระเทพวิสุทธิกวี ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวเตือนสติคนไทยและชาวพุทธว่า อย่ามองข้ามปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพราะจะกลายเป็นภัยใหญ่ เมื่อเห็นอะไรผิดปกติเกิดขึ้น ต้องช่วยกันกำจัด และรักษาสิ่งดีๆ ในเมืองไทยไว้ อย่าให้ประวัติศาสตร์ (ในบังกลาเทศ) ซ้ำรอยในเมืองไทยเลย

&<2288;