posttoday

ความเพียรเพื่อไปไม่ต้องกลับ

30 ธันวาคม 2555

หลักแห่งการปฏิบัติธรรมอย่าพึงเข้าใจว่าปัญญาจะไปอยู่ข้างหน้า สมาธิอยู่ข้างหลัง ที่ถูกตามหลักความจริงแล้ว

หลักแห่งการปฏิบัติธรรมอย่าพึงเข้าใจว่าปัญญาจะไปอยู่ข้างหน้า สมาธิอยู่ข้างหลัง ที่ถูกตามหลักความจริงแล้ว

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

หลักแห่งการปฏิบัติธรรมอย่าพึงเข้าใจว่าปัญญาจะไปอยู่ข้างหน้า สมาธิอยู่ข้างหลัง ที่ถูกตามหลักความจริงแล้ว สติกับปัญญาจะต้องเคียงคู่กันไปกับความสงบขั้นนั้นๆ และมีตามฐานะของความสงบ

โปรดทราบไว้ว่าเรื่องของสติปัญญานี้ จะปราศจากกันกับความสงบไปไม่ได้ ทั้งเป็นธรรมจำเป็นซึ่งจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา จนมีกำลังสามารถรื้อถอนตนขึ้นจากหล่มลึกคืออวิชชาได้ก็เพราะสติปัญญาเป็นหลักประกัน

โปรดทราบว่า ความสงบของจิตไม่ใช่เป็นนิสัยอันเดียวกัน และลักษณ์แห่งความสงบก็ต่างกันตามนิสัยของผู้ปฏิบัติแต่ละราย แต่ผลรายได้นั้นเป็นอันเดียวกัน

สิ่งจะถือเป็นสำคัญ คือผลที่ปรากฏขึ้นจากความสงบนั้นเป็นอย่างไร ต้องเป็นความสงบสุขหนึ่ง มีความรู้อยู่เพียงอันเดียวหนึ่ง จิตไม่กระเพื่อมหนึ่ง ไม่เป็นสื่ออารมณ์ในขณะที่จิตพักรวมอยู่หนึ่ง และมีจิตรู้ว่าจิตของตนหยุดหนึ่ง

เมื่อถอนขึ้นมาแล้วจงเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ในกายวิภาคของตน

กายทุกส่วนเป็นสภาพแห่งไตรลักษณ์ในหลักธรรมชาติทุกๆ อาการ ใครจะรู้หรือไม่ก็ตามกายทุกส่วนต้องเป็นอย่างนั้น

คำว่าไตรลักษณ์ คือมีลักษณะ 3 แปลว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

อาการแห่งกายของเรามีถึง 32 อาการทุกๆ อาการล้วนเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติอยู่ในตัวจะแยกจากกันไม่ได้

ไตรลักษณ์ทั้งสามแม้จะต่างชื่อกัน แต่ก็มีอยู่ในวัตถุ หรืออาการอันเดียวกัน เป็นแต่ท่านแยกอาการออกเป็น อนิจฺจํ บ้าง ทุกฺขํ บ้าง อนตฺตา บ้าง เหมือนกันอาการแห่งกายของเราแม้จะรวมเป็นก้อนแห่งธาตุของบุคคลผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อแยกจากกันแล้วมีอยู่ 4 ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แม้แต่ธาตุดินยังแยกออกเป็น 32 อาการ และแต่ละอาการพึงทราบว่าเป็นธาตุดินนั่นเอง ธาตุน้ำจะมีกี่ประเภทก็คือน้ำ คือไฟ คือลม นั่นเอง อาการแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็คือไตรลักษณ์นั่นเอง

โปรดทราบโดยวิธีเทียบเคียงกันอย่างนี้ และไตร่ตรองดูเรื่องไตรลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์กายของเรา เราจะถนัดหรือแยบคายในทาง อนิจฺจํ หรือ ทุกฺขํ หรือ อนตฺตา ก็ให้พิจารณาส่วนที่จริตชอบนั้นมากๆ อย่างไรไตรลักษณ์ทั้งสามนี้จะซึมซาบเกี่ยวโยงถึงกันหมด และจะแยกจากกันไปไม่ได้

สติก็ไม่มีอยู่ในที่ไหน นอกจากสถานที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ คือ สติปัฏฐาน 4 ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม เท่านั้น นี่คือบ่อเกิดแห่งสติปัญญาเป็นที่บำรุงสติบำรุงปัญญาและเป็นที่ปลูกสติ ปลูกปัญญาให้มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว

สติปัฏฐาน คือ หินลับสติกับปัญญา

จงตั้งสติกับปัญญาลงในสติปัฏฐาน 4 ไตร่ตรองอยู่ทั้งวันทั้งคืน มีสติปัฏฐาน 4 นี้เท่านั้นเป็นงาน เป็นทางเดิน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำงาน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่ากี่รอบกี่เที่ยวไม่คำนวณ

การพิจารณาในหลักสติปัฏฐาน 4 ด้วยปัญญา จะเร็วหรือช้าไม่สำคัญ สำคัญที่พิจารณาจนเข้าใจและแจ่มแจ้งแล้วเมื่อไรนั่นแล เป็นผลสะท้อนย้อนกลับมาให้เราได้รับความเฉลียวฉลาดจนสามารถปล่อยวางที่เป็นข้าศึกแก่ใจ และปราศจากความถือว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นของเที่ยงเป็นสุข เป็นอัตตา ตัวตนเสียได้ด้วยอำนาจของปัญญา

ตามแต่ถนัดในสติปัฏฐานใด การพิจารณากายคือขยายให้โตบ้างทำให้เล็กลงบ้าง แยกส่วนออกเป็นแผนกๆ ทำเป็นกองเนื้อ กองหนัง และแบ่งส่วนตามอาการนั้นๆ แล้วกำหนดให้กระจายหายสูญไปจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล และจากความเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นต้น จนกลายลงเป็นธาตุเดิม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วปรุงขึ้นมาใหม่พิจารณาอยู่เช่นนี้

เมื่อปัญญาเพียงพอต่อส่วนแห่งกายทุกส่วนแล้ว ก็รู้เท่าทันและปล่อยวางไว้อย่างสนิทหมดนิมิตในกายว่างามหรือไม่งาม สักแต่ว่ากายโดยความรู้สึกเท่านั้น ไม่มีความสำคัญว่ากายนี้เป็นอะไรต่อไป นี่คือหลักแห่งการพิจารณากายด้วยปัญญาของนักปฏิบัติ

เวทนา ซึ่งเกิดขึ้นจากกายและจากใจ เพราะเวทนามี 2 ประเภท คือ เวทนาของกายอย่างหนึ่ง เวทนาของจิตอย่างหนึ่ง ความสุข ทุกข์ และเฉยๆ ปรากฏขึ้นในกาย โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับใจ เรียกว่ากายเวทนา เวทนาทั้งสาม อันใดอันหนึ่งปรากฏขึ้นในจิตที่สืบเนื่องมาจากการได้รับอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ทางมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตาม อารมณ์ทางสมุทัย เป็นแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ก็ตามเรียกว่า จิตเวทนา

การพิจารณาขันธ์ทั้งสี่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีลักษณะ 2 ประการ คือ เกี่ยวกับความสัมพันธ์จากสิ่งภายนอก 1 ไม่เกี่ยวกับสิ่งภายนอก แต่พิจารณา แต่พิจารณา โดยลำพังตนเอง 1 ที่เกี่ยวกับสิ่งภายนอกนั้น คือ อาศัยสัมผัสภายนอกมากระทบแล้ว พิจารณาไปตามสิ่งที่มากระทบนั้นๆ ปรากฏอุบายขึ้นมาในขณะนั้น มากน้อยตามแต่กำลังของปัญญา จะหาความแยบคายใส่ตนที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งภายนอกมาสัมผัสเลยนั้น เป็นเรื่องของปัญญาทำหน้าที่ของตนไปตามลำพัง โดยอาศัยสภาวะที่มีอยู่เป็นเป้าหมาย

แม้สภาวะนั้นๆ ไม่แสดงออกก็พิจารณาได้โดยสะดวก แต่การพิจารณาทั้งสองประเภทนี้พึงทราบว่ารวมสู่ไตรลักษณ์ เป็นเหมือนภาชนะที่รวมแห่งสภาวธรรมทุกประเภท จะปลีกจากนี้ไปไม่ได้

เรื่องของปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไม่มีสิ่งกระเพื่อมภายในใจให้รู้ก่อน พอจะถือเอาเป็นอารมณ์ได้ข้อนี้ ควรทราบถึงความกระเพื่อมก่อนว่ามีความหมายไปทางใดบ้าง เพราะดีชั่วเกิดจากความกระเพื่อมเป็นสำคัญ

ความกระเพื่อมของใจเป็นไปได้ 2 ทาง คือ กระเพื่อมยังทุกข์ให้เกิดขึ้นแล้ว ผูกมัดตนเองให้ติดอยู่ ท่านเรียกว่า สมุทัย กระเพื่อมเพื่อรู้ทางเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ท่านเรียกว่า มรรคเกิดขึ้นจากความปรุงของปัญญาเอง และเกิดจากคำว่าสังขารอันเดียวกัน ผิดกันเพียงว่าปรุงไปในทางผิดหรือทางถูกเท่านั้น แต่เรื่องสมุทัย และเรื่องมรรค ไม่ใช่จะเกิดขึ้นจากสังขารเพียงอย่างเดียว แม้เวทนา สัญญา และวิญญาณ ก็เป็นเหตุให้เกิดสมุทัยและมรรคได้ ตามความโง่ความฉลาดของผู้รับผิดชอบในขันธ์ของตน ทั้งนี้เมื่อเรายังโง่ขันธ์ทั้งห้าก็เป็นข้าศึก แต่ถ้าเราฉลาดรอบคอบแล้วขันธ์ทั้งห้าก็เป็นคุณเสมอไป เช่น พระพุทธเจ้า และสาวกทั้งหลาย ท่านใช้ขันธ์ทำประโยชน์แก่โลกตลอดวันนิพพาน

เมื่อสรุปความแล้ว ทั้งสมุทัยและมรรค เกิดจากสังขารภายในอันเดียวกัน ผิดกันตรงที่ปรุงด้วยความหลงเพื่อผูกมัดตนเอง กับปรุงด้วยความฉลาดเพื่อแก้ไขตนเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น สังขารฝ่ายมรรคจึงสามารถปรุงและพลิกแพลงในสภาวธรรมให้เกิดความฉลาดแก่ตนเองได้ จนมีความสามารถเพียงพอในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ปัญญานี้ยังสามารถวิ่งเข้าสู่จุดเดียวคือใจ ซึ่งเป็นที่รวมแห่งขันธ์ทั้งหมด เพราะขันธ์ทั้งห้ามาจากใจ เนื่องจากใจเป็นรากฐาน คือแดนเกิดของสิ่งเหล่านี้ จึงปรากฏเป็นรูปกาย ธาตุขันธ์ อายตนะหญิงชายขึ้นมาได้ แม้ขันธ์ใดจะกระเพื่อมขึ้นเวลาใดก็ทราบ และทราบทั้งความเกิดขึ้นดับไปแห่งขันธ์นั้นๆ ตลอดจนสมุฏฐานที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

การตำหนิติชมในสภาวธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วทั้งจักรวาลก็หมดปัญหาลง เพราะปัญญาเป็นเครื่องตัดให้ขาดเข้ามาเป็นลำดับ สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในลำดับต่อมาคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เท่านั้น ซึ่งยังคงเป็นคู่ตำหนิติชมกันอยู่ ในขณะที่กำลังสติปัญญายังไม่เพียงพอ เมื่อเพียงพอแล้ว ปัญหาติชมก็หมดไป เพราะปัญญาเห็นชัดว่าสภาวธรรมมีขันธ์ เป็นต้น ไม่ใช่กิเลสบาปกรรมแต่อย่างใด เป็นแต่อาการของขันธ์และสภาวะอันหนึ่งๆ เท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าและสาวกก็ยังมีข้อนี้เราต้องย้อนเข้าไปหาตัวเหตุ ซึ่งเป็นเครื่องกดดันขันธ์ให้ไหวตัวไปตามอำนาจของความกดดันของตน

ความรู้ภายใต้อำนาจของอวิชชา เรียกว่า ความรู้วัฏจักร นอกจากตนเป็นวัฏจักรแล้ว ยังบังคับขันธ์ซึ่งเป็นบริวารให้กลายเป็นกงจักรไปด้วย ฉะนั้นผู้อยู่ใต้กงจักรอันนี้จึงไม่มีอิสรเสรีในตนเอง ต้องยอมจำนนต่อเขาอยู่ทุกขณะที่จักรตัวใหญ่นี้จะหมุนหรือชี้เข็มทิศทางใด เมื่อรู้ต้นเหตุซึ่งเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสทุกประเภท ว่าเกิดจากความรู้วัฏจิตนี้แล้ว เราต้องทราบว่า วัฏจิตนี้คือกิเลสอันแท้จริง เราจะนิ่งนอนใจในความรู้อันเป็นตัวกงจักรนี้ได้อย่างไร นอกจากจะหยั่งปัญญาลงสู่จุดนี้เพื่อความรู้เหตุผลโดยไม่นิ่งนอนใจเท่านั้น

ปัญญาที่จะไปปฏิบัติต่อความรู้วัฏจักรอันนี้ ต้องเป็นปัญญาที่ทันสมัยและอยู่ในลักษณะอัตโนมัติ หมุนรอบตัวอยู่กับความรู้อวิชชาดวงนั้นไม่มีเวลาหยุดยั้ง โดยไม่ต้องมีการบังคับทำงานโดยลำพังตนเอง กำหนดรู้ทั้งความเกิดขึ้นดับไปของทุกอาการที่เกิดจากใจ ทั้งความเปลี่ยนแปลงอันละเอียดของจิตที่เป็นอยู่ทุกขณะ จะเปลี่ยนแปลงเป็นสุขีหรือเป็นทุกข์ก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นเศร้าหมองหรือผ่องใสก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความโง่ความฉลาดก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความองอาจกล้าหาญหรือความอ่อนแอก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความสว่างไสวหรืออับเฉาก็รู้

อาการทั้งนี้เป็นไตรลักษณ์ประจำวัฏจิต ต้องกำหนดรู้ทุกระยะที่เปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวจนกว่าจะขุดค้นเข้าถึงรากแก้ว คือตัวประธาน และทำลายได้ด้วยปัญญาในกาลใดแล้วอาการเหล่านี้ก็หมดการเปลี่ยนแปลงตัวเองทันที เพราะตัวประธานได้ถูกทำลายสิ้นแล้วเป็นอันว่าหมดทางเกิดขึ้นแห่งอาการอันเป็นเครื่องพรางตาทุกๆ อาการ สภาวะทั่วๆ ไปจะปรากฏเปิดเผยทั่วทั้งโลกธาตุ ประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นสภาพปกติอยู่ตามธรรมดาของตนไม่เคยเป็นข้าศึกศัตรูต่อผู้ใด นอกจากความรู้ขวางโลก และขวางธรรมดวงเดียวเท่านี้

ธรรมอัศจรรย์ซึ่งเกิดพร้อมวิชชาวิมุตติได้ประกาศความสงบศึก และความเสมอภาคต่อสภาวธรรมทั่วๆ ไปราวกะจะเป็นมิตรต่อกันตลอดอนันตกาล ต่างฝ่ายต่างไม่เป็นศัตรูต่อกัน ขันธ์ 5 อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ ต่างก็ทำหน้าที่ของตนลำพังโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะอายตนะสัมผัสกัน และต่างก็เป็นอิสรเสรีในตัวเอง โดยไม่ถูกกดขี่บังคับจากฝ่ายใด

ทั้งนี้ เนื่องจากความรู้ในหลักธรรมชาติ ได้‌กลายเป็นความรู้ยุติธรรมต่อตนเอง สภาวะ‌ทั่วๆ ไปจึงกลายเป็นยุติธรรมไปตามๆ กัน นี่‌เรียกว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ความรู้เห็นตาม‌เป็นจริงในหลักธรรมชาติทั้งภายในทั้งภายนอก‌อย่างแจ้งชัดด้วยปัญญาไม่มีอันใดลี้ลับ และ‌ยังกลับเป็นสิ่งเปิดเผยเสียสิ้น

ผลอันเป็นที่พึงพอใจซึ่งได้รับจากความรู้‌ความเห็นที่ปรากฏขึ้นกับใจของผู้ปฏิบัติ จะ‌สะเทือนขึ้นภายในเป็นเชิงอุทานว่า

“สิ้นเรื่องเพียงเท่านี้”เรื่องกิเลสตัณหา ‌เรื่องรักๆ เรื่องชังๆ เรื่องติ เรื่องชม เรื่องหลง ‌เรื่องรู้อะไรต่อไปอีก และเรื่องภพชาติให้เกิดๆ ‌ตายๆ ที่จะมาเกี่ยวโยงกันตามที่เคยเป็นมา ‌เป็นอันว่ายุติกันได้โดยสิ้นเชิง จะไม่มีอันใดสืบต่อธรรมชาตินี้ไปได้อีก เพราะอดีตก็รู้เท่า‌อนาคตก็รู้ทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึด ปรากฏเป็น‌ความบริสุทธิ์ล้วนๆ อยู่กับความรู้ในธรรมชาติ‌นั้นโดยประจักษ์แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็‌ไม่เป็นภัย เพราะใจไม่เป็นภัย รูป เสียง กลิ่น ‌รส เครื่องสัมผัส ก็ไม่เป็นภัย เพราะใจหมดเชื้อ‌ให้เกิดภัยแล้ว เรียกว่า สุคโต แปลว่า ไปดี คือ ‌ไม่ข้องแวะกับอันใด ทั้งที่เป็นด้านวัตถุ และนาม‌ธรรม แม้สภาวะทุกสิ่งก็เป็นปกติ หรือหมดภัย ‌เพราะข้างในไม่เป็นมหาโจรเที่ยวยื้อแย่ง

นี่คือผลแห่งการปฏิบัติ ด้วยการทบทวน‌สอบสวนดูความเคลื่อนไหวการดำเนินของตน ‌ตั้งแต่ส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด ‌ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ‌ปัญญา ซึ่งเป็นสมบัติของเราทุกท่าน เพราะ‌พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดไว้เพื่อพระองค์ผู้เดียว ทรงประทานไว้เพื่อบรรดาสัตว์ ผู้มีความ‌แกล้วกล้าสามารถด้วยความพากเพียร ไม่เห็น‌แก่ความท้อแท้อ่อนแอ

ธรรมเกิดแก่ผู้มีความขยันหมั่นเพียรผู้อดทนต่อกิจการที่ชอบ หนักก็เอาเบาก็สู้ เป็น‌ผู้มักน้อยและสันโดษในปัจจัยเครื่องอาศัย ถือ‌การไม่คลุกคลีกับใครๆ และความเพียรเพื่อ

รื้อถอนตนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง มีตนกับความเพียร‌ในอิริยาบถทั้งหลาย มีความเพียรด้วยสติ‌ปัญญาทุกๆ อาการที่เคลื่อนไหว ไม่หมายมรรค‌ผลนิพพานนอกไปจากความเพียร และนอกไป‌จากปัจจุบัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมี‌อยู่ภายในจิตตลอดเวลา และเป็นหลักแห่งสวากขาตธรรมที่พระองค์ได้รับผลเป็นที่พอ‌พระทัย และประทานไว้ชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติ‌ดำเนินตาม ผลจะพึงได้รับก็เป็นสันทิฏฐิโก เห็น‌เองในธรรมทุกขั้น โดยปราศจากสิ่งใดกีดขวาง

อกาลิโก ทั้งธรรมส่วนเหตุ ทั้งธรรมส่วนผล ‌ทุกๆ ขั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์ตลอดกาลเมื่อบำเพ็ญถึงที่แล้วบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลาไม่มี‌หลับ และตื่น ไม่มีวัน และคืนทรงไว้ซึ่งความ‌บริสุทธิ์เสมอไปตลอดกาล เอหิปัสสิโก เป็นธรรมเปิดเผยและทนต่อการพิสูจน์ตลอดกาลไม่ขาดวรรคขาดตอนผู้ตามพิสูจน์จนได้พบ‌ความจริงจากหลักธรรมจนเต็มที่แล้ว สามารถ‌แสดงหลักความจริงที่ตนได้รู้เห็น ทั้งที่เป็น‌ส่วนเหตุที่ได้พิจารณาด้วยข้อปฏิบัติ ทั้งที่เป็น‌ส่วนผลเป็นขั้นๆ ตลอดความบริสุทธิ์ภายในใจ‌แก่บรรดาท่านผู้ฟัง และสนใจให้เห็นชัดตาม‌ความจริง และเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นได้

โอปนยิโก ธรรมมีอยู่ทั่วไปเหมือนสมบัติใน‌แผ่นดิน ผู้สนใจใคร่ต่อธรรมสามารถจะน้อม‌ธรรมที่ได้เห็นได้ยินจากบุคคลและสถานที่‌ต่างๆ มาเป็นคติแก่ตนเองได้ทุกเวลา

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ จะปรากฏคุณ‌คือความรู้พิเศษขึ้นกับใจของตนโดยเฉพาะตาม‌กำลังสติปัญญาที่ตนสามารถโดยไม่ต้องสงสัย

การตะเกียกตะกายเพื่อถอดหนาม และ‌การตะเกียกตะกายเพื่อขึ้นจากหลุมมูตรหลุมคูถอย่าถือเป็นความลำบากกว่าที่จะยอมนอน‌จมอยู่ในหลุมมูตรหลุมคูถ หรือกว่าที่จะยอมให้‌หนามจมอยู่ในหัวใจของเรา ทุกข์ เพื่อก้าวออก‌จากทุกข์ด้วยข้อปฏิบัติเป็นทุกข์ที่พระพุทธองค์‌ทรงสรรเสริญทั้งเป็นทางที่พระองค์ทรงดำเนิน‌ผ่านทุกข์มาแสนสาหัส และได้รับผลถึงความ‌เป็นศาสดาของโลก เพราะทรงดำเนินฝืนทุกข์‌เหมือนเราทั้งหลายกำลังดำเนินอยู่ ณ บัดนี้ ‌และคำว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อย่า‌ลืมว่าลักษณะทั้งสามนี้เป็นที่ฝากชีวิตจิตใจของ‌พวกเรา และพาเราให้พ้นทุกข์โดยปลอดภัย

งานเพื่อนิพพานว่าเป็นงานจำเป็นเหนือ‌ชีวิต เพราะงานนี้เป็นงานเพื่อไปแล้วไม่กลับมา ‌ผลที่เกิดจากงานนี้คือวิมุตติหลุดพ้นไปแล้ว ‌หมดความวกเวียน โปรดพากันพากเพียรจน‌สุดกำลังของตน จะต้องเห็นผลประจักษ์กับใจ‌ในวันนี้วันหน้าไม่ต้องสงสัย

ความสบายในระหว่างใจกับอารมณ์อัน‌เป็นความสงบตามขั้นจนถึง เตสํ วูปสโม สุโข ‌ความระงับดับเสียซึ่งสังขารอันก่อกวน ยัง‌เหลือเฉพาะสังขารประจำขันธ์ 5 ซึ่งไม่มีพิษสง‌อะไร พระพุทธเจ้าและสาวกท่านก็มีจนกว่า‌จะนิพพานไปเสีย ขันธ์ทั้งห้าก็ดับสลายลงไปสู่‌สภาพเดิมของเขา

จงตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าแล‌สาวก ให้ทันทั้งข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายใน ‌ทั้งความเป็นความตาย อย่าให้ผิดเยี่ยงอย่างที่‌ท่านพาดำเนิน สมกับพระนามว่า เป็นศาสดา‌ของโลก เพราะพระองค์ท่านและสาวกไม่เคย‌จับจองป่าช้าให้เหมาะสมไว้เพื่อความตาย ‌ขันธ์หมดกำลังลงที่ไหนเป็นป่าช้าที่นั่น เราจง‌เป็นศิษย์พระตถาคตด้วยความไม่เห็นแก่เรือน‌ร่าง ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ต่ำช้าจำพวกไม่มี‌อาชีพทางอื่นนอกจากร่างกายของคนและสัตว์ ‌สิ่งที่เราไม่ยอมแพ้และปล่อยวางคือความ‌เพียรเพื่อไปไม่ต้องกลับมาโดยถ่ายเดียว

ข้อสำคัญอย่าถือความขี้เกียจท้อแท้ว่าเป็น‌ศาสดาแทนพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน วันหนึ่ง‌แน่ๆ ท่านทั้งหลายจะเป็นเจ้าของสมบัติอันล้ำค่าภายในใจ และทรงไว้ซึ่งประวัติแห่ง‌บุคคลผู้มีชัยชนะต่อข้าศึกคือตนเอง ไม่กลับมา‌แพ้ตลอดกาล

คำว่า นิพฺพาน ปรมํ สุขํ อันเป็นบ่อแห่ง‌ความสงสัย ซึ่งเคยเป็นมาในขณะที่ยังไม่รู้ จะ‌กลายเป็นธรรมตัดปัญหาลงในขณะเดียวกัน‌โดยสิ้นเชิง