posttoday

เรื่องตักบาตรพระอุปคุตมีที่มาอย่างไร!? ใช่หรือคือพระพุทธศาสนา (ตอน ๔)

17 ธันวาคม 2555

เขาสร้างมณฑปขึ้นหลังหนึ่งข้างๆ เจดีย์โลกสันติ ซึ่งเป็นจุดใจกลางของงาน มณฑปเป็นรูปปราสาท

เขาสร้างมณฑปขึ้นหลังหนึ่งข้างๆ เจดีย์โลกสันติ ซึ่งเป็นจุดใจกลางของงาน มณฑปเป็นรูปปราสาท

หลังคาเป็นเหมือนฉัตรแหลมเล็กขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตัวมณฑปกว้าง ๔ ศอก ยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๑ ศอก มีรูปพระมหาอุปคุตหน้าตักประมาณ ๑ คืบ นั่งอุ้มบาตร มือจับบาตรทำท่าจะฉันข้าว แต่มองแหงนขึ้นไปข้างบน คล้ายกับจะดูว่า จะได้เวลาฉันหรือยัง ความประสงค์ของชาวพม่าก็เพื่ออาราธนาให้พระมหาอุปคุตมาช่วยคุ้มกันมิให้มีอันตรายในงานนั่นเอง

ในสมัยปัจจุบันนี้ คนโดยทั่วๆ ไป นิยมบูชาพระบัวเข็ม ด้วยมีความเคารพนับถือว่าเป็นพระที่นำความเป็นสิริมงคลและนำโชคลาภมาให้ จึงเสาะแสวงหาบูชาไว้ด้วยราคาแพง ถ้าเป็นสิ่งของธรรมดาก็เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่หาได้ยาก ของฝากที่ถูกใจเจ้านาย ไม่มีอะไรจะดีเท่าพระบัวเข็ม ตามลักษณะและศิลปกรรมการสร้าง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า พระบัวเข็มเป็นศิลปกรรมของชาวพม่าและมอญ เมื่อคราวไปพม่า สืบถามเรื่องนี้จากพระพม่า

ได้ความรู้บางอย่างที่ความเข้าใจของคนไทยกับคนพม่าไม่ตรงกัน ที่คนไทยเรียกว่าพระบัวเข็มนั้น ชาวพม่าเขาเรียกว่า “พระทักขิณสาขา” คนไทยเรานับถือในฐานะเป็นพระสาวก แต่ชาวพม่านับถือในฐานะทั้งที่เป็นพระพุทธและพระสาวก ข้าพเจ้าสังเกตดูพระประธานที่อยู่ในบริเวณสถานที่ทำสังคายนา และตามวัดต่างๆ ที่ได้ไปนมัสการ ล้วนแล้วแต่สร้างแบบพระบัวเข็ม คือมีบัวคลุมอยู่บนพระเศียรคล้ายสวมหมวกทั้งนั้น จึงทำให้มั่นใจว่า ชาวพม่านับถือพระบัวเข็มในฐานะเป็นพระพุทธด้วย หาใช่ในฐานะพระสาวกไม่

ตามประวัติเล่ากันมาว่า แรกเริ่มนั้นสร้างที่เมืองอังวะ สร้างด้วยกิ่งไม้ศรีมหาโพธิ์ข้างขวา คือกิ่งที่อยู่ทางทิศใต้ เขาจึงเรียกพระพุทธรูปชนิดนี้ว่า “ทักขิณสาขา” (กิ่งข้างขวา) กิ่งศรีมหาโพธิ์กิ่งนี้อัญเชิญมาจากเมืองลังกา ซึ่งนับถือว่าเป็นไม้ที่มีเชื้อสายสืบเนื่องมาแต่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ได้อาศัยตรัสรู้นั้นเอง องค์แรกที่สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปหน้าตัก ๑ ศอก เศษไม้ที่เหลือบางท่านกล่าวว่า ได้สร้างเป็นรูปพระสาวกเล็กๆ ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปู ปลา เพื่อเป็นที่สังเกตว่า ไม่ใช่พระพุทธรูป แต่เป็นรูปพระสาวก ก็น่าฟังอยู่เหมือนกัน ความเข้าใจของชาวพม่าเขาแยกพระทักขิณสาขา (บัวเข็ม) และพระอุปคุตไว้คนละอย่างดังที่เล่ามาแล้วในตอนต้น

ตามหิ้งพระของชาวพุทธในเมืองพม่า เขานิยมบูชาอยู่ ๓ อย่าง คือ พระทักขิณสาขา พระมหาอุปคุต และพระสิวลี การตั้งพระ เขาตั้งพระทักขิณสาขาอยู่ตรงกลาง พระอุปคุตอุ้มบาตร และพระสิวลีถือพัดตั้งไว้ข้างๆ แสดงว่า องค์กลางเป็นพระพุทธ สององค์ที่อยู่ข้างๆ นั้น เป็นพระสาวก อีกประการหนึ่ง ชาวพม่านับถือพระทักขิณสาขาและพระมหาอุปคุตให้คุณแก่คนที่สักการบูชาไปในทางคุ้มครองป้องกันภัย ตามที่ปรากฏในตำนาน ส่วนพระที่นำโชคลาภมาให้ เขานิยมบูชาพระสิวลี สำหรับความรู้สึกของคนไทย นับถือว่าทั้งพระทักขิณสาขาและพระมหาอุปคุต เป็นพระที่นำโชคลาภมาให้ ส่วนพระสิวลีมีคนรู้จักน้อยจึงไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องว่า ทำไมชาวพุทธในภาคเหนือ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงนิยมตักบาตรในวันเพ็ญพุธ แต่กลับไปเล่าเรื่องของพระมหาอุปคุตเสียยืดยาว

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้