posttoday

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เยี่ยมสงฆ์บังกลาเทศ

16 ธันวาคม 2555

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เจ้าพระคุณสมเด็จเกี่ยว) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เจ้าพระคุณสมเด็จเกี่ยว) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มอบผ้าไตรให้ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์บังกลาเทศ หลังจากวัด 28 แห่งถูกเผา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2555

พระเทพวิสุทธิกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย พาคณะ 15 รูป/คน เช่น พระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉนทวิชโช พล.ต.ทองขาว พ่วงรอดพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เป็นต้น เดินทางสู่ประเทศบังกลาเทศ วันที่ 14 ธ.ค. 2555 เพื่อนำปัจจัยและอัฐบริขาร เครื่องสังฆทาน ไปถวายพระสงฆ์บังกลาเทศ เพื่อให้กำลังใจพระสงฆ์และชาวพุทธที่วัดถูกเผาทำลายโดยชุมชนต่างศาสนา นับว่าเป็นการเดินทางเยี่ยมชาวพุทธในต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากศูนย์พิทักษ์ฯ ตั้งมา 10 ปี

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

พุทธบริษัทได้ร่วมมือกันและมีการประชุมก่อตั้ง ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในรูปขององค์กร เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2544 อันมีสาเหตุมาจากที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา หรือ สปศ. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ขึ้นพร้อมกับยกร่างโครงสร้างการบริหารงาน สำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งได้มอบให้รัฐบาลเพื่อนเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2544 หาก พ.ร.บ.และโครงสร้างดังกล่าวนั้นได้ถูกประกาศใช้สมบูรณ์แล้ว อันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงโดยสิ้นเชิง

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เยี่ยมสงฆ์บังกลาเทศ

 

เมื่อวัดบังกลาเทศถูกเผา

พระสงฆ์ต่างชาติทั้งบังกลาเทศ พม่า อินเดีย และศรีลังกา ที่พำนักในประเทศไทย ประมาณ 200 รูป ได้เดินทางมารวมตัวกันที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2555 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ ปกป้องคุ้มครองชาวพุทธในบังกลาเทศ

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (30 ก.ย. 2555) ว่าชาวมุสลิมบังกลาเทศราว 2.5 หมื่นคน ร่วมชุมนุมประท้วงก่อนลุกลามเป็นการจลาจลจนเกิดการเผาวัดพุทธ 5 แห่ง และบ้านเรือนร่วม 100 หลังคาเรือน ในเมืองรามูและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้ที่มีภาพชายหนุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธโพสต์ภาพตนเอง กำลังเหยียบย่ำคัมภีร์อัลกุรอานบนเฟซบุ๊ก

จอยนูล บารี ผู้บริหารท้องถิ่น อธิบายว่า การประท้วงลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถควบคุมได้และทำลายบ้านเรือนของชาวพุทธ เผาทำลายวัด ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันเสาร์ (29 ก.ย.) ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันอาทิตย์ (30 ก.ย.) โดยมีบ้านเรือนอย่างน้อย 100 หลังถูกทำลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ร้องขอกำลังทหารและกองกำลังรักษาชายแดนเข้าระงับเหตุการจลาจลดังกล่าว และได้ออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการเกิดเหตุจลาจลขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังยืนยันว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว

เมืองรามูอยู่ห่างจากกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศราว 350 กิโลเมตร และเป็นเมืองชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยในบังกลาเทศ โดยมีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธเพียง 0.7% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 170 ล้านคน ของบังกลาเทศ

กลุ่มผู้ประท้วงและก่อจลาจลได้เรียกร้องให้ทางการจับกุมเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า อัตตาม บารัว ที่เป็นผู้โพสต์ภาพดูหมิ่นชาวมุสลิมดังกล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศที่ติดต่อกับรัฐยะไข่ของพม่า กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีความตึงเครียดในด้านการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์การปะทะระหว่างกลุ่มมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธในรัฐยะไข่ของพม่า แม้ที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์การปะทะระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก

นอกจากนั้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวมุสลิมในบังกลาเทศหลายหมื่นคนยังได้ร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านภาพยนตร์เรื่องอินโนเซนต์ออฟมุสลิมส์ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ภาพยนตร์ดูหมิ่นศาสดาในศาสนาอิสลาม เรื่องนี้

ขอให้ทุกศาสนาถือขันติ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 15 สถาบันพระปกเกล้า เตือนสติผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว (Hansa Dhammahaso) ความว่า “สังคมโลกของเราในยุคปัจจุบันนี้ ขาดขันติธรรมทางศาสนามากเหลือเกิน!!! ขันติธรรมในความเป็นพหุวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในฐานะมนุษย์ที่รักความสุข เกลียดกลัวความทุกข์เฉกเช่นเดียวกัน สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นสงครามที่เกิดจากขาดขันติธรรมทางศาสนา!!!! อานุภาพของการขาดขันติธรรม จะนำไปสู่การทำลายล้างมนุษยชาติอย่างน่าสยดสยอง....

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เยี่ยมสงฆ์บังกลาเทศ

 

การเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาคือทางรอดของมนุษยชาติ มนุษยชาติควรกลับไปศึกษา และทำความเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาตัวเองให้แจ่มชัด เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมโลกได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ขันติธรรมทางศาสนา (Religious Tolerance) จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน แนวทางเช่นนี้ จะนำไปสู่ความอดทนต่อความแตกต่างกันทางศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางความคิด เพราะจะก่อให้เกิดความเคารพ และการยอมรับนับถือศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมที่หลากหลาย วิธีคิด วิถีการแสดงออก และวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป โดยพร้อมที่จะรับฟัง และปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความแตกต่างกันอย่างมีสติ บนฐานของความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกถ้วนทั่วตัวคน”

แจกวัดละ 1,500 เหรียญ

ในฐานะที่เป็นองค์กรชาวพุทธ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหาร จัดประชุมสมาชิก และมวลชนระดมความช่วยเหลือในวันต่อๆ มา ปรากฏว่ามีผู้บริจาคทรัพย์สินและเงินทอง ผ้าไตรจีวร อัฐบริขาร เครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้จัดส่งสิ่งของดังกล่าวไป 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ตู้คอนเทนเนอร์

พระครูวินัยธรธีรวิทย์ กล่าวว่า ในการเดินทางไปบังกลาเทศครั้งนี้ จะนำปัจจัยที่มีผู้บริจาคไปเฉลี่ยถวายแก่วัดที่ถูกเผาสิ้นเชิง 12 วัด วัดละ 1,500 เหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนวัดที่ถูกเผาทำลายบางส่วน ซึ่งมี 16 วัด จะถวายวัดละ 700 เหรียญสหรัฐ และจะถวายปัจจัยพระสงฆ์รูปละ 1,000 บาท พร้อมไตรจีวร คาดว่าจะมีพระสงฆ์ประมาณ 120 รูป

ก่อนการเดินทาง 1 วัน สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศฯ มอบผ้าไตรให้พระสงฆ์บังกลาเทศ ผ่านพระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ ในนามประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์ไทย

คณะศูนย์พิทักษ์ฯ จะเดินทางโดยสายการบินไทย ไปลงที่สนามบินธาการ์ เมือหลวงบังกลาเทศ นั่งรถยนต์ต่อไปจิตตะกองอีก 5 ชั่วโมง เพื่อพักและพบปะพระสงฆ์และชาวพุทธที่นั่น

พระชาวบังกลาเทศที่พำนักในประเทศไทย ได้แสดงตัวเลขวัดที่ถูกเผาที่ รามุ อุกิยา แตกนาป ตำบลกอสบาจาร และปติยา ตำบลจิตตะกอง จังหวัดจิตตะกอง บังกลาเทศ ว่าวัดที่รามุ ถูกเผาทั้งวัดมี 10 วัด ที่อุกิยา ถูกเผาทั้งวัด 2 วัด ที่เหลืออีก 10 กว่าวัด ทั้งที่รามุ อุกิยา และแตกนาป ถูกเผา และทำลายเสียหายบางส่วน

ในจำนวนวัดดังกล่าวนั้น แต่ละวัดมีพระสงฆ์ไม่มาก วัดที่มีพระสงฆ์อยู่มากก็เพียง 5 รูป สามเณร 20 รูป ซึ่งมี 2 วัด ที่เหลือเฉลี่ยแล้วแต่ละวัดมีพระสงฆ์อยู่วัดละ 12 รูปเท่านั้น

การเดินทางออกต่างประเทศของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ครั้งนี้ นับว่าเป็นการแสดงออกทางด้านภราดรภาพของชาวพุทธระหว่างประเทศ ที่มีพระศาสดาองค์เดียวกัน คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนารวมตัวกันเข้มแข็งยิ่งขึ้น