posttoday

พร้อมใจถวายพระพรพุทธกษัตริย์ผู้ทรงธรรมเนื่องใน ๕ ธันวามหาราช (ตอน ๔)

10 ธันวาคม 2555

ในบางหลักศิลาจารึกแสดงถึงการมีธรรมประวัติของพระองค์ เมื่อประกาศว่าตั้งแต่ปีที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๒๘ มีพระชนมายุ ๔๔ พรรษา) พระองค์ได้เสด็จไปสถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทำธรรมยาตราไปเยี่ยมเยียนและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ ผู้เฒ่าสูงอายุและราษฎร สั่งสอนธรรมมาตลอด แทนการเสด็จประพาสแบบวิหารยาตรา เพื่อแสวงหาความสำราญ...ที่สำคัญยังได้ทรงประกาศว่า...ทรงปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงปลอดภัย ทรงเห็นว่าธรรมวิชัย เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงสั่งสอนให้ลูกหลานไม่ให้แสวงหาชัยชนะเพิ่มขึ้นอีก และให้พอใจในการให้อภัย และการลงโทษอาญาแต่น้อย...

ในบางหลักศิลาจารึกแสดงถึงการมีธรรมประวัติของพระองค์ เมื่อประกาศว่าตั้งแต่ปีที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๒๘ มีพระชนมายุ ๔๔ พรรษา) พระองค์ได้เสด็จไปสถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทำธรรมยาตราไปเยี่ยมเยียนและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ ผู้เฒ่าสูงอายุและราษฎร สั่งสอนธรรมมาตลอด แทนการเสด็จประพาสแบบวิหารยาตรา เพื่อแสวงหาความสำราญ...ที่สำคัญยังได้ทรงประกาศว่า...ทรงปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงปลอดภัย ทรงเห็นว่าธรรมวิชัย เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงสั่งสอนให้ลูกหลานไม่ให้แสวงหาชัยชนะเพิ่มขึ้นอีก และให้พอใจในการให้อภัย และการลงโทษอาญาแต่น้อย...

สำหรับในด้านระบบธรรมวิธาน พระเจ้าอโศกพุทธกษัตริย์แห่งชมพูทวีป ได้ประกาศหลักธรรมวิธานเป็นนโยบายแห่งการปกครองตามหลักธรรมาธิปไตย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในหมู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เพื่อยุติแก้ไขปัญหาที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ดังที่ทรงแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยทรงตั้งหน่วยราชการพิเศษ เพื่อตรวจสอบระบบศาลในเขตปกครองต่างๆ และให้สิทธิประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี มีสิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมได้ มีการจัดตั้งระบบถวายฎีกา มีพนักงานเฉพาะรับการร้องทุกข์จากประชาชน ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ถวายฎีกาได้โดยตรงตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาที่อยู่ในที่บรรทม หรือในบริเวณฝ่ายใน

ดังปรากฏหลักฐานจากหลักศิลาจารึกพิเศษแห่งกลิงคะ ในฉบับที่ ๑ ที่ระบุว่า...เป็นโองการสั่งแก่ตุลาการว่าประชาชนทุกคนเป็นลูกของพระองค์ จึงประสงค์ให้มีความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ผู้ถูกจองจำปราศจากมูลเหตุ ตุลาการจึงต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่บกพร่อง ๗ ประการ ตุลาการพึงตักเตือนซึ่งกันและกัน และทรงส่งมหาอำมาตย์ออกไปตรวจราชการทุก ๕ ปี...

ในความเป็นพระธรรมราชาของพระเจ้าอโศกพุทธกษัตริย์แห่งชมพูทวีป ครั้งหลังพุทธปรินิพพาน ๒๐๐–๓๐๐ ปี ได้ทรงจัดระบบการปกครองด้วยธรรม ที่สำคัญได้มีกำหนดพระราชทานอภัยโทษทุกปี ปีละครั้งตลอดรัชสมัยของพระองค์ ส่วนผู้ที่ทำความผิดชนิดอภัยโทษไม่ได้ คือมีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต จะให้เวลา ๓ วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทำบุญทำทาน เพื่อความสุขในปรโลก เมื่อถูกประหารชีวิตไปแล้ว...

พุทธกษัตริย์ทรงได้วางระบบส่งเสริมการสาธารณสุข มีการสร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคทั้งคนและสัตว์ ได้ทรงกำหนดเขตให้ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคแก่พสกนิกรในแผ่นดินปกครอง เพื่อจะได้มีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ทั้งกายใจ ดังปรากฏมีอยู่ถึงในปัจจุบัน แถบภูเขาในเขตพระนครราชคฤห์ ซึ่งมีสมุนไพรนานาชนิดไว้รักษาโรค อีกทั้งยังได้มีการขุดบ่อน้ำ ปรับปรุงหนทางต่างๆ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ประชาชน จะได้มีความอยู่ดีกินดีอันจะนำไปสู่ความสงบสุขและมั่นคงในสังคม ซึ่งจะเกื้อหนุนให้ประชาชนมีกำลังในการที่จะปฏิบัติธรรมสืบต่อไป

สุดท้าย ตามนโยบายธรรมาธิปไตย ได้แก่ การวางระบบธรรมานุศาสนีย์ ไว้ ๒ แบบ ได้แก่

๑.ธรรมบัญญัติ

๒.ธรรมนิชฌาน

๑.ธรรมบัญญัตินั้น ได้แก่ การประกาศหลักธรรมที่ห้ามประชาชนล่วงละเมิด เช่น ห้ามฆ่าสัตว์เพื่อการบูชายัญ ห้ามฆ่าสัตว์ที่มิได้นำมาเป็นอาหาร ห้ามฆ่าสัตว์ในวันสำคัญทางศาสนาทุกศาสนา

๒.ธรรมนิชฌานนั้น คือ การชักชวนให้ประชาชนใฝ่ใจในธรรมะในรูปแบบต่างๆ มีการแสดงละครธรรมให้บุคคลทั่วไปเข้าชม โปรดเกล้าฯ วางศิลาจารึกเพื่อชักชวนให้ประชาชนบำเพ็ญคุณงามความดี ดำรงชีวิตอยู่ในวิถีธรรม มีการตั้งคณะธรรมมหาอำมาตย์ เพื่อสอนธรรมะแก่ประชาชน มีสิทธิที่จะสอนธรรมแก่พระสงฆ์ นักบวชในศาสนาต่างๆ โดยธรรมที่กำหนดสอนให้นักบวชนั้น มุ่งให้เข้าถึงแก่นสารของศาสนาตน และไม่โจมตีศาสนาอื่น เรื่องดังกล่าวเน้นเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความสามัคคีปรองดองของชนในชาติแม้จะต่างศาสนา ให้รู้จักเอื้อเฟื้อนับถือกันระหว่างศาสนาต่างๆ มิให้ดูถูก ดูหมิ่น เบียดเบียนศาสนาอื่น เป็นไปตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระโอวาทปาฏิโมกข์

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้