posttoday

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

02 ธันวาคม 2555

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต ท่านเป็นกัลยาณมิตรกับ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต ท่านเป็นกัลยาณมิตรกับ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นอาจารย์ “พระครูบริบาลสังฆกิจ” หรือ หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (พระอาจารย์หนูบาล จนฺทปญฺโญ) เป็นอาจารย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรมหาเถระ ป.ธ.9) และนำสมเด็จพระมหาวีรวงศ์รูปนี้จากอีสานมาฝากฝังไว้กับเจ้าคุณพระรัชชมงคลมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ จนเติบใหญ่เป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ฯลฯ แต่เรื่องราวของท่านไม่ได้ปรากฏแพร่หลายนัก

หลังจากตรวจค้นโดยละเอียดแล้วพบว่า คุณอาบ นคะจัด เคยรวบรวมและเรียบเรียงประวัติท่านไว้และพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานมาก่อนแล้ว เพื่อเผยแผ่เกียรติประวัติของท่านและให้อายุของความนี้ได้สืบเนื่องไป จึงขอนำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยต่อโดยคงความไว้เช่นเดิมทั้งหมดหากแต่เนื่องจากประวัติมีความยาวพอสมควรจึงจะแบ่งออกเป็นสองตอนดังต่อไปนี้

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

1.กำเนิดและอุปนิสัย

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก นามเดิมว่า “เกิ่ง ทันธรรม” เกิดวันอาทิตย์ที่ 30 ต.ค. 2430 สมัยรัชกาลที่ 5 ที่บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บิดาชื่อนายทัน มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านหนองขอนขวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีอาชีพค้าขาย ส่วนมารดาชื่อนางหนูมั่น มีอาชีพทำไร่ทำนาสืบต่อครอบครัวของตน

ท่านอาจารย์เกิ่ง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 5 คน คือ

1.นางหนูจันทร์ บทเจริญ

2.นายบุญเพ็ง ทันธรรม

3.พระอาจารย์เกิ่ง ทันธรรม

4.นางสุพรรณ ติยะบุตร

5.นายสี ทันธรรม

พระอาจารย์เกิ่ง เป็นบุคคลรูปร่างสันทัด ไม่อ้วนไม่ผอม สูงประมาณ 166 เซนติเมตร ผิวดำแดง มีนิสัยขยัน อดทน ประหยัด ตรงไปตรงมา เฉลียวฉลาด ชอบศึกษาหาความรู้ ชอบคิดริเริ่ม ทำการงานที่เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ แก่ชุมชน และประชาชนทั่วไป มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมุ่งมั่นในการงาน เมื่อลงมือทำกิจการใดก็ตั้งใจทำให้เกิดผลจริงจัง เอาใจใส่เร่งรัดให้งานนั้นสำเร็จโดยเร็ว และจะไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจทำงานนั้นๆ โดยง่าย แม้จะยากลำบากปานใดก็ตาม และอุปนิสัยเด่นของท่านอีกประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีอุปการคุณ เช่นบิดา มารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจนต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่าน เป็นต้นนิสัยกตัญญูกตเวทีของท่านอาจารย์เกิ่ง ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่วัยรุ่นจนตลอดชีวิตของท่าน มีตัวอย่างแสดงหลายประการ เช่น ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง เพื่ออุทิศกุศลให้แก่บิดาหรือมารดา ตอนทำศพของท่าน ท่านอาจารย์คำดี อุปัชฌาย์ของท่านสมัยอุปสมบทเป็นพระมหานิกายนั้น แม้ท่านอาจารย์เกิ่งจะได้ญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุต สายกรรมฐานแล้วท่านอาจารย์เกิ่งก็ยังให้ความเคารพนับถือท่านอาจารย์คำดีอยู่เสมอ เช่น ถวายดอกไม้ธูปเทียนและสิ่งของแด่ท่านอาจารย์คำดีเป็นครั้งคราว ครั้นถึงเวลาที่ท่านอาจารย์คำดีถึงแก่มรณภาพ ขณะนั้นท่านอาจารย์เกิ่งจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดวิเวการาม บ้านบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ท่านอาจารย์เกิ่ง ได้ติดต่อญาติโยมทางบ้านสามผงให้เก็บศพท่านอาจารย์คำดีไว้ระยะหนึ่งก่อน เพื่อท่านเองจะได้ร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์เตรียมการฌาปนกิจศพอุปัชฌาย์เดิมของท่านให้ปรากฏเป็นเกียรติยศ ท่านอาจารย์เกิ่งได้พิมพ์หนังสือที่ท่านแต่งขึ้นเอง คือ หนังสือคำกลอนปลุกชาติ นำไปแจกเป็นของชำร่วย พร้อมกับเครื่องไทยทานอื่นๆ ที่ท่านนำไปร่วมทำบุญ ส่วนความกตัญญูต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่านนั้น

ผู้อ่านประวัติของท่านอาจารย์ในตอนต่อไป ก็จะเห็นได้ชัดแจ้งเองว่าท่านทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ได้ผลอย่างใดแก่ชุมชนชนบทที่ให้กำเนิดแก่ท่าน อาทิ พระธรรมวินัยแห่งพระพุทธศาสนาอันถูกต้อง การศึกษาทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา และหัตถศึกษา สิ่งก่อสร้างและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์อื่นที่ท่านทำและพาสานุศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวบ้านทำ ที่ท่านอาจารย์เกิ่งได้นำมาและทำให้เกิดมีขึ้นในชุมชนถิ่นกำเนิดของท่าน รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงนั้น มีมากเกินกว่าที่ผู้รวบรวมและเรียบเรียงประวัตินี้ผู้เดียวจะจดจำและบันทึกได้อีกมากหลายนัก

2.การศึกษา บรรพชา และอุปสมบท

เมื่อสมัยเยาว์วัย ท่านเรียนหนังสือจากท่านผู้ใดที่ไหนบ้าง ไม่ปรากฏ แต่ท่านอ่านหนังสือไทย หนังสือธรรม และหนังสือขอมได้แตกฉาน และสามารถสอนคนอื่นได้ ท่านเคยบวชเป็นสามเณรอยู่ 7 วัน ตามประเพณี ก็ลาสิกขา เพราะบวชในงานศพให้แก่มารดาหรือบิดาเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2452 อายุได้ 22 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระฝ่ายมหานิกาย ที่วัดโพธิชัย บ้านสามผง พระอาจารย์คำดี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อได้อุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และอาจารย์2 พรรษา พรรษาที่ 3 ได้พบท่านอาจารย์สีลา อิสฺสโร บ้านวาใหญ่ ต.บ้านวา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ซึ่งมีพรรษา 3 เท่ากัน เมื่อรู้จักกันก็รักใคร่นับถือกันมาก ไปไหนก็ไปด้วยกันเสมอ เมื่อพรรษา 6 (พ.ศ. 2458 อายุ 28 ปี) ไปเรียนในสำนักอาจารย์จันทร์แดง บ้านกุดกุ่ม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อเรียนจบก็กลับมาอยู่วัดโพธิชัย บ้านสามผง ตามเดิม เป็นครูสอนพระธรรมวินัยและภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรในวัด และสอนภาษาไทยแก่คฤหัสถ์โดยตั้งเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ในวัดขึ้น

เมื่อพรรษา 9 (พ.ศ. 2461 อายุ 31 ปี) ท่านไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระอาจารย์สีลา ในสมัยนั้นการเดินทางมากรุงเทพฯ ยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน รถไฟมีไปถึงโคราชเท่านั้น ผู้ที่จะมากรุงเทพฯ โดยรถไฟ ต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่โคราช พระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลา ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากบ้านสามผลใช้เวลาเกือบสองเดือนจึงถึงโคราช แล้วขึ้นรถไฟจากโคราชมากรุงเทพฯ ครั้งแรกพากันพักอยู่ที่วัดสระเกศ อยู่ไม่นานก็ย้ายไปอยู่วัดปริณายก จำพรรษาอยู่ 2 พรรษา ท่านเดินไปเรียนหนังสือบาลีที่วัดมหาธาตุ พระอาจารย์สีลาเรียนบาลีไม่นานก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่บ้านดงนาดี อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อรักษาตัวรอพระอาจารย์เกิ่ง ซึ่งยังเรียนบาลีอยู่ที่กรุงเทพฯ

ส่วนพระอาจารย์เกิ่งได้เรียนทั้งบาลีและนักธรรมไปพร้อมกันจนจบหลักสูตร แต่ยังไม่ได้สอบไล่ (การสอบไล่สมัยนั้น ใช้วิธีสอบปากเปล่า ไม่มีสอบข้อเขียนเหมือนปัจจุบัน) ท่านก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ เดินทางไปหาพระอาจารย์สีลา ที่บ้านดงนาดี ท่านพักรักษาตัวอยู่ประมาณ 2 เดือน ก็พากันกลับบ้านสามผงทั้งสองรูป ท่านรักษาตัวอยู่ไม่นานก็หายเป็นปกติ

3.เป็นเจ้าอาวาส อุปัชฌาย์ สร้างกุฏิหลังใหม่ เป็นเจ้าสำนักเรียนธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประถมของ ต.สามผง

ประมาณปี พ.ศ. 2463 ท่านอาจารย์เกิ่ง ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิชัย บ้านสามผง และท่านได้เป็นสมภารหรือเจ้าอาวาสวัดโพธิชัยสืบต่อจากท่านอาจารย์สอน ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย เพราะท่านมีพรรษาเกินสิบพรรษา พร้อมคุณธรรมด้านความยึดมั่นในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ประกอบด้วยคุณสมบัติความรู้แตกฉานด้านพระปริยัติธรรม

ประมาณปี พ.ศ. 2466 ท่านอาจารย์เกิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประถม ต.สามผง ได้รับเงินเดือน 12 บาท ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น โรงเรียนประถมตั้งอยู่ในวัด ใช้ศาลาโรงธรรมเป็นอาคารเรียน

ในขณะเดียวกัน ท่านอาจารย์เกิ่งก็ได้ปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งโรงเรียนนักธรรมและบาลีขึ้น ท่านเป็นครูผู้สอนเองทั้งนักธรรมและบาลี มีภิกษุสามเณรจากบ้านสามผงและบ้านอื่นๆ แม้จากต่างจังหวัดไกลๆ ก็มีมาเรียนกันมาก กุฏิที่อยู่ ที่ฉันอาหารที่ขับถ่ายของวัดจึงคับแคบไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรผู้มาเรียน ท่านต้องสร้างกุฏิใหญ่ขึ้นใหม่ บริเวณเนื้อที่กุฏิคลุมประมาณหนึ่งไร่ หรือ 400 ตารางวา กุฏิยกพื้นสูงประมาณสองเมตรครึ่ง เป็นใต้ถุนสูง ตรงกลางสร้างเป็นกุฏิสมภารและรองสมภาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กุฏิแถวสร้างรายรอบกุฏิสมภารเป็นรูปตัวยู กุฏิแถวนั้นแบ่งเป็นห้องๆ เรียงติดต่อกันมีจำนวนมากกว่า 30 ห้อง แต่ละห้องกว้างประมาณ 3x4 เมตร หน้าห้องกุฏิแถวเป็นระเบียงมีหลังคา ระเบียงกว้างประมาณ 2 เมตรครึ่ง ระเบียงใต้ชายคากุฏิแถวนี้โล่งยาว เดินถึงกันได้ตลอดด้าน หน้ากุฏิแถวรูปตัวยู ระหว่างเสาชายคาระเบียงกุฏิแถวทั้งหมดมีลูกกรงออกแบบสวยงาม และทำประตูลูกกรงไว้หน้าห้องกุฏิแถวทุกห้อง ประตูลูกกรงนี้เปิดปิดได้กันไม่ให้สุนัขเข้าได้ ที่ระเบียงหน้าห้องกุฏิแถวใช้เป็นที่ฉันอาหารของภิกษุสามเณรเจ้าของห้องได้ด้วย

ระหว่างกุฏิแถวกับกุฏิสมภารที่สร้างไว้ตรงกลางกุฏิแถวรูปตัวยูนั้น มีชานต่อเชื่อมกันโดยรอบ ชานกว้างประมาณ 3 เมตร กุฏิสมภารที่อยู่ตรงกลางนั้น ทำเป็นอาคารมีหลังคา สูงกว่าหลังคากุฏิแถวขนาดอาคารกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร ตัวอาคารด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นห้องโถงใหญ่หนึ่งห้อง สำหรับประชุมสงฆ์และสวดมนต์ ยาวประมาณ 9 เมตร ด้านหลังห้องโถงถัดไปตามลำดับ มีห้องใหญ่ 2 ห้อง ใช้เป็นที่พักของสมภารหนึ่งห้อง และของรองสมภารหนึ่งห้อง ห้องสมภารอยู่ติดกับห้องประชุม มีประตูเข้าออกหนึ่งประตูเชื่อมห้องประชุมและมีประตูเข้าห้องด้านขวาทางทิศเหนืออีกหนึ่งประตู

ส่วนห้องรองสมภารก็มีประตูเข้าออกต่าง‌หากทางด้านเหนือเช่นกัน อาคารหลังกลางทั้ง‌หลังที่เป็นห้องประชุมและห้องสมภารรอง‌สมภารนี้มีระเบียงใต้หลังคาโดยรอบกว้าง‌ประมาณ 2 เมตร มีลูกกรงรอบทุกด้าน มีประตู‌ลูกกรงปิดเปิดทำไว้ 5 ประตู คือด้านข้าง ด้าน‌ละ 2 ประตู และตรงด้านหน้าห้องประชุมอีก‌หนึ่งประตู บันไดขึ้นอาคารกุฏิใหญ่ทั้งหลังมี 3 ‌บันได คือด้านหน้า 2 บันได ตรงพื้นชานเชื่อม‌กุฏิแถวกับกุฏิใหญ่ทั้งด้านซ้ายและขวาอีกบันได‌หนึ่งอยู่ด้านหลัง ตรงชานเชื่อมกุฏิแถวกับกุฏิ‌สมภารลอดใต้ถุนกุฏิแถวลงไป ทางขึ้นบันไดทั้ง ‌3 มีลูกกรงและประตูเปิดปิดได้ทุกแห่ง

กุฏิใหญ่ทั้งหลังสร้างด้วยไม้ตะเคียน วงกบ‌ประตูหน้าต่าง ลูกกรงระเบียง เข้าลิ้นและใช้‌สลักไม้แทนตะปูทั้งนั้น หลังคากุฏิแถวและกุฏิ‌สมภารมุงด้วยไม้กระดานทั้งหมด รูปแบบกุฏิ‌ใหญ่ทั้งหลังนี้ ตั้งแต่สวนที่กำหนดไว้เป็น‌ประโยชน์ใช้สอย เป็นห้องพัก ระเบียงฉัน‌อาหารชานเชื่อมกุฏิแถวและกุฏิสมภาร รวม‌ทั้งการเขียนรูปชาดก เช่น รูปพระมโหสถ พระ‌เตมีย์ใบ้ไว้ที่เพดานและฝาที่ต่อลงมาจาก‌เพดาน โดยรอบห้องประชุมซึ่งทำฝาลงมาไว้‌แค่ประมาณหนึ่งเมตรนั้น ทำให้ผู้เข้าไปชม‌ต้องเพ่งดูและแหงนดูตลอด ด้วยความทึ่งและ‌ชื่นชมในความคิดอันละเอียดลึกซึ้งและ‌รอบคอบของท่าน มีโบสถ์เล็กอยู่หนึ่งหลัง อยู่‌ด้านขวาของกุฏิหลังใหญ่เมื่อหันหน้าไปทาง‌ทิศตะวันออก

รอบวัดทั้งหมดทำเสารั้วไม้เนื้อแข็งหก‌เหลี่ยม ตีไม้กระดานพาดเชื่อมรั้วโดยรอบ‌ประตูเข้าวัดสี่ด้านเป็นประตูซึ่งทำเป็นขั้นบัน‌ไดเดินข้ามรั้วทั้งสิ้นโดยไม่มีประตูเปิดปิด ใน‌บริเวณวัดมีต้นผลไม้มาก เช่น มะม่วง ‌มะพร้าว กระท้อน มะไฟ เป็นต้น มีป้ายสลัก‌บนแผ่นกระดานใหญ่ไว้ว่า ต้นไม้ที่เป็นไม้ผล‌ทั้งหมดนี้ ชาวบ้าน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็น‌หัวหน้าได้ชำระเงินต่อวัดบูชาเป็นค่าต้นไม้ไว้‌แล้ว เด็กและผู้ใหญ่กินผลไม้ได้โดยไม่ต้องกลัว‌ว่าจะเป็นไม้ผลของสงฆ์ที่จะเป็นบาปกรรมให้‌เป็นเปรตมาเฝ้าต้นไม้เมื่อตายไป

กุฏิที่ท่านอาจาย์เกิ่งสร้างหลังนี้นับเป็น‌สถาปัตยกรรมที่ออกแบบและก่อสร้างด้วย‌ฝีมือเป็นเอกชิ้นหนึ่งในยุคนั้น เสียดายที่ได้รื้อ‌ถอนไปหมดแล้ว เอาไม้ที่รื้อไปสร้างศาลาโรง‌ธรรมและกุฏิที่วัดโพธิชัยปัจจุบันนี้ ไม่มีรูปถ่าย‌ไว้เป็นอนุสรณ์เลย

อนึ่ง สถานที่ขับถ่ายที่เรียกว่าถาน หรือ ‌“ส้วม”นั้น ท่านได้สร้างไว้ใหญ่และสูงมากก่อ‌ด้วยอิฐถือปูน แบ่งเป็นหลายห้อง เพื่อให้พอ‌แก่พระภิกษุสามเณรจำนวนมาก มีสะพานไม้‌เดินขึ้นไปที่ห้องส้วม นับว่าเป็นส้วมชนบทที่‌ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น

เมื่อท่านอาจารย์เกิ่งได้ญัตติใหม่จากเดิม‌ซึ่งเป็นพระมหานิกาย มาเป็นพระธรรมยุติก‌นิกาย สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว‌ประมาณ 10 ปี ท่านได้ย้ายที่ตั้งวัดโพธิชัยออก‌มาตั้ง ณ ที่ป่าห่างจากหมู่บ้านสามผงประมาณ‌หนึ่งกิโลเมตร โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปสร้าง‌ใหม่ตามสภาพที่เห็นในปัจจุบันและถือธุดง‌ควัตรแบบท่านพระอาจารย์มั่นโดยเคร่งครัด ‌เช่นฉันอาหารมื้อเดียว ฉันในบาตร ขณะที่ฉัน‌หากต้องลุกจากที่ฉันแม้จะยังไม่อิ่มก็ไม่ฉันต่อ‌อีกแล้ว เป็นต้น

ณ ที่ตั้งของวัดโพธิชัยแห่งใหม่นี้ ท่าน‌อาจารย์เกิ่งยังดำเนินกิจการสำนักเรียนธรรม‌และบาลีสอนพระภิกษุสามเณรอยู่ตามเดิม ‌นอกจากนี้ท่านยังรับเด็กๆ ลูกชาวบ้านมาเป็น‌เด็กวัดสอนให้มีจริยธรรมและสอนเสริมภาษา‌ไทยและเลขคณิตให้แก่เด็กที่ไปโรงเรียน‌ประถม เด็กที่อยู่วัดกับท่านอาจารย์เกิ่ง ต้อง‌รักษาความสะอาดร่างกายและเครื่องแต่งกาย ‌ฝึกหัดระเบียบการกินการอยู่ โดยท่านจะมีนก‌หวีดเป่าเรียกโดยจะมีรหัสเสียงเฉพาะตัวเด็ก‌ทุกคนไว้ ให้มาหัดคัดลายมือภาษาไทยและทำ‌เลขในวันโรงเรียนหยุด พร้อมกับสอนวิธี‌ประหยัดดินสอและสมุดที่ใช้เขียนด้วย เด็ก‌แต่ละคนท่านจะมอบหมายให้อยู่กับพระภิกษุ‌หรือสามเณรที่ท่านเห็นสมควร เพื่อเป็นพี่‌เลี้ยงช่วยดูแลเด็กอย่างทั่วถึง

ท่านอาจารย์เกิ่ง ได้รวบรวมหนังสือนัก‌ธรรมและบาลี ถึงขั้นนักธรรมเอก และเปรียญ ‌3 ประโยคไว้มาก ท่านจัดทำเป็นห้องสมุด มี‌หมวดหนังสือประเภทต่างๆ ไว้ดีมาก โดยมี‌พระภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฝึกหัดอบรม‌จากท่านแล้ว ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล‌หรือทำหน้าที่บรรณารักษ์ ต่อมาท่านได้สร้าง‌อาคารหอสมุดเป็นอาคารไม้ 3 ชั้น มุงไม้‌กระดานขึ้นโดยปลูกอาคารหอสมุดในสระน้ำ‌ที่ขุดขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อกันปลวกและสัตว์บาง‌ชนิดขึ้นไปทำลายหนังสือ ท่านสร้างสะพาน‌ลอย มีหลังคาไม้กระดาน ยาวประมาณ 40-‌50 เมตร ลงไปหาอาคารหอสมุด แต่เว้นช่วง‌ไม่ให้สะพานเชื่อมกับอาคารหอสมุดโดยตรง ‌แต่จะเว้นไว้ห่างประมาณสองฟุต ใช้ไม้‌กระดานทอดเฉพาะเวลาจะเข้าออกหอสมุด ‌เพื่อไม่ให้สัตว์ เช่น ปลวก หนู จิ้งจก เป็นต้น‌เข้าไปหาตัวอาคารหอสมุดได้

ท่านตั้งชื่ออาคารหอสมุด ซึ่งสร้างเป็น‌ศาลาหกเหลี่ยมสวยงามหลังนี้ว่า“หอไตร”ซึ่งมีน้ำในสระที่ล้อมรอบหอไตรใสสะอาด มี‌บัวหลวงและบัวอื่นๆ หลายชนิดหลากสีบาน‌สะพรั่ง มีฝูงปลามากมายแหวกว่ายอยู่ไปมา ‌ท่านติดป้ายห้ามจับสัตว์ทุกชนิดในบริเวณโดย‌รอบ สถานที่บริเวณหอไตรนั้นด้านหนึ่งเป็นป่า‌ซึ่งเป็นบริเวณวัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งหญ้า‌โล่งกว้างใหญ่ ฤดูน้ำมีน้ำท่วมลึกอยู่ประมาณ‌หนึ่งเดือน เป็นที่เงียบสงบ ลมพัดเย็นสบาย ‌เหมาะแก่การค้นคว้าตำรับตำรา และเป็นที่พัก‌ผ่อนหย่อนใจ

ท่านอาจารย์เกิ่ง เป็นนักศึกษา เป็นผู้รัก‌หนังสืออย่างยิ่ง จึงเห็นคุณค่าของการศึกษา ‌หนังสือ และห้องสมุดมาก นับว่าเป็นพระภิกษุ‌ที่มีความคิดเห็นก้าวหน้าทันสมัยและมองเห็นการณ์ไกลได้เยี่ยมมากรูปหนึ่งในยุคสมัยของท่าน

 (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)