posttoday

พระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงในความหมายแห่งธรรม (ตอน ๓)

23 พฤศจิกายน 2555

เพื่ออัญเชิญประดิษฐานในหีบทองน้อย ก็ได้พบเห็นพระบรมธาตุขนาด ๓ สัณฐานจำนวนมากมาย

เพื่ออัญเชิญประดิษฐานในหีบทองน้อย ก็ได้พบเห็นพระบรมธาตุขนาด ๓ สัณฐานจำนวนมากมาย

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

มีสีสุกปลั่งสว่างขาวโพลนดุจประกายแห่งมุก และพระบรมธาตุอีก ๗ องค์ที่ยังคงรูปสมบูรณ์ ประดิษฐานวางใสอยู่ท่ามกลาง ดุจดวงแก้วมณีที่ทอแสงสว่างไสวอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงได้พร้อมใจกันกระทำการสักการะอัญเชิญสู่พระหีบทองและนำขึ้นประดิษฐานเหนือคชาธารช้างพระที่นั่ง อันตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ ถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด

พร้อมกระทำสักการะด้วยธูปเทียน สุคนธมาลาบุปผาชาติ แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ณ พระโรงราชสัณฐาคาร บรรดามัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันกราบการสักการะอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติแห่งความเป็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มีการจัดตั้งกองกำกับจาตุรงคเสนาโยธาหาญ พร้อมสรรพด้วยศัสตราวุธ เพื่อป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง แล้วจัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุเป็นมโหฬารยิ่ง ตลอดกาลถึง ๗ วัน

ต่อมาจอมกษัตริย์เจ้าผู้ครองนคร อีก ๗ แว่นแคว้น เมื่อทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงได้ส่งราชทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร ได้แก่

๑.พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งพระนครราชคฤห์

๒.พระเจ้าลิจฉวี แห่งพระนครไพศาลี

๓.พระเจ้ามหานาม แห่งพระนครกบิลพัสดุ์

๔.พระเจ้าฐลิยราช แห่งอัลลกัปปนคร

๕.พระเจ้าโกลิยราช แห่งรามคามนคร

๖.พระเจ้ามัลลราช แห่งปาวานคร

๗.มหาพราหมณ์ แห่งเวฏฐทีปกนคร

ต่อมาด้วยอุบายอันแยบคายของ โทณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ สอนไตรเภทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย จึงได้ระงับเหตุร้ายอันจะเกิดจากความวิวาทกันของบรรดาเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย

อ่านต่อฉบับวันจันทร์