posttoday

ไม้ไม่สืบผล...จันทร์หนีพันธนาการสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์นิรันตโร)

04 พฤศจิกายน 2555

 

 

วัดเทพศิรินทราวาส พระอารามหลวงกลางกรุงนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นที่สถิตของพระมหาเถระและเป็นพระอรหันต์ร่วมสมัยอยู่หลายรูป ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) และท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธัมมวิตักโก ภิกขุ) แต่พระมหาเถระซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ในร่มวัดเทพศิรินทร์ฯ นั้น ยังมีอีกหลายรูป หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 7

สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) เป็นทั้งศิษย์และบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) มีนามเดิมว่า นิรันดร์ โกณเขมะ เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2458 ประวัติเรื่องราวของท่านนั้นผิดกับพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูปที่มักจะเกิดมาในสกุลคนยาก เป็นบุตรของชาวไร่ชาวนา หากแต่สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) นั้น ท่านถือกำเนิดในสกุลพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีนที่ ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี ของ นายฮวด และนางกิมหลง โกณเขมะ มีพี่น้อง 2 คน

น่าอัศจรรย์ว่า ทั้งๆ ที่บิดาและมารดาเป็นคหบดีผู้ร่ำรวย ต่างได้รับมรดกสืบทอดมาจำนวนมาก เฉพาะที่ดินใน จ.ชลบุรี และอื่นๆ ที่ใกล้เคียงนั้นมีมากเป็นพันๆ ไร่ แต่ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไม่อาจเป็นห่วงรัดรึงผู้ใดในตระกูลของท่านเลยแม้แต่คนเดียว

โยมฮวดผู้เป็นบิดานั้น มีความปรารถนาจะให้ลูกชายคนเดียวในตระกูลออกบวช ด้วยเห็นว่า ชีวิตสมณะนั้นเป็นวิถีอันประเสริฐกว่าวิถีชีวิตแบบอื่น สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) เองก็แน่วแน่ว่าจะทำตามเจตนารมณ์ของบิดาโดยไม่คลอนแคลน ด้วยเหตุนี้โยมบิดามารดาของท่านจึงบริจาคที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะตั้งแต่มีชีวิตอยู่จำนวนไม่น้อย เมื่อโยมน้องสาวของท่านสิ้นชีวิตก็ถวายที่ดินอันเป็นมรดกให้กับวัดต่างๆ จนหมดสิ้นเช่นเดียวกัน

สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) เกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังไม่เกิด

เหตุเพราะโยมบิดามารดาของท่านแต่งงานกันแล้วไม่มีบุตรสักที จึงไปกราบอธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อเฉย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ ณ ศาลาเก้าห้อง วัดใหญ่อินทาราม ว่า ถ้าได้บุตรแล้วจะยกให้เป็นลูกหลวงพ่อเฉย ต่อมาไม่นานนักท่านก็กำเนิดมาตามประสงค์

มีเรื่องประหลาดอย่างน้อย 2 เรื่อง ที่บ่งว่าคำอธิษฐานนั้น ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ

ประการแรก สมัยท่านยังเด็ก วันหนึ่งหลังโยมบิดาพาท่านไปที่วัดใหญ่อินทาราม แล้วปล่อยให้ท่านเที่ยวเล่นอยู่ในวัด ส่วนบิดาปลีกตัวไปทำธุระ คืนนั้นโยมบิดาก็ฝันเห็นหลวงพ่อเฉยมาบอกว่า ลูกชายซนเหลือเกิน เมื่อคาดคั้นจากลูกชายจึงทราบว่า ท่านปีนขึ้นไปเล่นบนองค์หลวงพ่อเฉย เอานิ้วไปแหย่ช่องพระนาสิกบ้าง ดึงพระกรรณบ้าง โยมพ่อเลยต้องพาท่านไปขอขมาหลวงพ่อเฉยทันที

ประการที่ 2 เมื่อท่านอุปสมบท จนเติบโตถึงขนาดเป็นพระสาสนโสภณแล้ว วันหนึ่งฝันเห็นหลวงพ่อเฉยมาบอกว่า เศียรท่านหักให้มาช่วยต่อให้ที ท่านจึงรีบไปที่วัดใหญ่อินทาราม จึงพบว่า ทางวัดรื้อศาลเก้าห้อง อัญเชิญหลวงพ่อเฉยไปไว้อีกที่ แต่ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎบนพระเศียรหัก ที่น่าประหลาดคือท่านทราบเรื่องนี้ขณะเจ้าอาวาสและทางวัดยังไม่ทราบเรื่องเลย ท่านเลยต่อเศียรให้หลวงพ่อเฉยด้วยตัวท่านเอง

เรื่องเล่าก่อนกำเนิดอีกเรื่องเป็นเรื่องที่ท่านใช้เป็นเป้าหมายการดำเนินชีวิตตลอดมา นั่นคือ ก่อนตั้งครรภ์นั้นโยมมารดาฝันเห็นราหูอมจันทร์ลอยเด่นอยู่เหนือยุ้งข้าวที่บ้าน แล้วหมอตำแยตะโกนบอกว่า “นั่นแหละของเอ็ง ไปเอามาสิ”

ท่านตีความว่า สังสารวัฏเป็นภัยเหมือนราหูอมจันทร์ นิมิตนี้จึงเป็นการเตือนภัยให้เห็นโทษภัยของการเวียนว่ายตายเกิด มีชีวิตก็ต้องเหมือนจันทร์ต้องพยายามดิ้นรนให้พ้นพันธนาการของราหู

เมื่อท่านคลอดออกมา ปรากฏว่า มีรกคลุมศีรษะอยู่ด้วย ซึ่งโบราณถือว่าเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่โยมมารดานั้นอยู่ไฟแล้วแพ้จนไม่อาจให้น้ำนมลูกได้ ท่านเองก็มีอาการป่วยกระเสาะกระแสะจนเป็นที่หวั่นใจว่าจะมีชีวิตอยู่รอดหรือไม่

ที่สุดโยมบิดาได้ไปขอพรกับหลวงพ่อเฉยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกว่า ขอให้ลูกชายรอดแล้ว “จะเลี้ยงลูกชายคนนี้ให้เป็นพระพิมลธรรม” แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้นจึงไปขอพรใหม่พร้อมทั้งเปลี่ยนคำสัญญาว่า “จะเลี้ยงให้เป็นพระนพรัตน์” หลังจากนั้นท่านจึงมีอาการดีขึ้นและดื่มน้ำนมจากแม่นมได้

ตอนเด็กๆ ข้าหลวงเมืองชลบุรีเคยถามท่านว่า “อยากเป็นเหมือนฉันไหม” ท่านตอบว่า “ไม่ อยากจะเป็นพระธรรมไตรโลก”

ตามประวัตินั้น สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) เป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณ เรียนเก่ง และมีความจำเป็นเลิศตั้งแต่ยังเด็ก เลิศขนาดเปรียบเทียบกันว่า ถ้าท่านกำหนดใจว่าจะจำอะไรแล้ว เป็นเสมือนมีดกรีดลงในหิน จะไม่มีวันลืมสิ่งนั้นเลย ถ้าครูลบกระดานแล้วเพื่อนนักเรียนจดไม่ทันก็ต้องหันมาถามว่า เมื่อกี้ครูเขียนอะไร พอมาบวชแล้วก็ไล่ปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาแรก

ในวัย 16 ปี ท่านบรรพชาโดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็สอบได้นักธรรมตรีและเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้วปีถัดไปก็สอบได้ชั้นโท ชั้นเอก และได้เปรียญธรรม 4 ประโยค และ 5 ประโยค ก่อนจะอุปสมบทท่านได้เป็นเปรียญธรรม 6 ประโยคแล้ว

พออุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี 2479 ปีนั้นท่านก็สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค รุ่งขึ้นและปีถัดไปก็ได้เปรียญธรรม 8 ประโยค และ 9 ประโยค ตามลำดับ

ไม้ไม่สืบผล...จันทร์หนีพันธนาการสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์นิรันตโร)

 

เรียกว่า พอบวชปั๊บก็สอบได้เปรียญทุกปี

ท่านมีความรู้ความชำนาญในภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาขอม ภาษาอังกฤษ และภาษาละติน อีกทั้งอ่านเขียนได้ทั้งอักษรเทวนาครีและสิงหล เฉพาะภาษาบาลีสันสกฤตนั้นท่านเป็นปราชญ์แห่งยุคในเรื่องนี้ที่ใครก็เทียบได้ยาก

ส่วนพระอุปัชฌาย์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงความรู้ยิ่งยังยกย่องท่านว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก

ขอบเขตความรู้ของสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) มิได้อยู่ในแต่วงพระพุทธศาสนาและภาษาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังเชี่ยวชาญเรื่องวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ อีกด้วย

เชี่ยวชาญขนาดไหน?

เอาเป็นว่า โยมบิดาเอ่ยปากห้ามเรื่องโหราศาสตร์เพราะเกรงว่าจะเสียชื่อเสียง จะเป็นที่อับอาย ท่านเองก็ไม่เคยอวดตัว แต่ถ้ามีเหตุเช่นคราวหนึ่งท่านตรวจดวงชะตาศิษย์ก้นกุฏิแล้วพบว่า มีเคราะห์หนักอาจถึงเสียชีวิตจึงแนะให้ดำเนินชีวิตใหม่ ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นอย่างที่ท่านระบุ ท่านจึงพูดถึงเรื่องโหราศาสตร์ไว้ว่า “เรื่องดวงถ้ากันไม่ดู กันก็ไม่ดู แต่ถ้าดูแล้วใครอย่ามาเถียงกัน”

ในทางกลับกัน มีโหราจารย์เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตท่านหลายครั้งหลายคราวเช่นกัน เช่น 2 ปีก่อนจะตามพระอุปัชฌาย์เข้ามาบรรพชาที่วัดเทพศิรินทร์ ก็มีหมอดูชาวจีนทำนายท่านว่า อีก 2 ปีจะไปกับชี 3 คน พออายุ 16 ปีก็เป็นอย่างนั้นจริง อีกคราวมีโหราจารย์ทำนายว่า จะได้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น

เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏในวัยเยาว์นั้นได้กลายมาเป็นจริงอย่างแปลกประหลาด เช่น ตอนเป็นเด็กท่านพูดไว้ว่า อยากจะเป็นพระธรรมไตรโลก พอบวชแล้ว ปีหนึ่งตำแหน่งพระธรรมไตรโลกาจารย์และพระธรรมปิฎกว่างลง ตามหลักแล้วตำแหน่งแรกน่าจะตกอยู่กับมหานิกาย ตำแหน่งหลังน่าจะอยู่ฝ่ายธรรมยุต แต่เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทอดพระเนตรเห็นรายชื่อแล้วให้สลับกัน เหตุเพราะเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เคยเป็นมาก่อน

สุดท้ายท่านก็ได้เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ดังที่เคยกล่าวไว้ในตอนเด็กโดยไม่ผิดเพี้ยน

เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัต ซึ่งก็เป็นไปตามที่โยมบิดาได้เอ่ยปากขอกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ เมื่อคราวท่านป่วยจนแทบเอาชีวิตไม่รอดตอนเป็นเด็ก เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามมาถวายที่วัดเสร็จเรียบร้อย บังเอิญสามเณรรูปหนึ่งอยากดู ท่านจะให้เปิดออกมาดูปรากฏว่าเป็นสุพรรณบัฏตั้งเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าหน้าที่จึงต้องนำไปเปลี่ยนใหม่เพราะสลับกันกับอีกอันหนึ่ง ทุกอย่างเลยเป็นไปดั่งที่มีคนทำนายไว้คือ ได้ถวายพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่แท้จริงแล้วได้เป็นสมเด็จพระวันรัต ตามที่โยมบิดาระบุ

ความที่เจริญในธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นเอกด้านภาษาศาสตร์ เวลาท่านเทศน์จึงมีความไพเราะเพราะพริ้ง ถึงขนาดมีสมเด็จบางรูปได้ยินท่านเทศน์ทางสถานีวิทยุแล้วมาดักรอพบเพื่อขอสำเนาคำเทศน์

ใช่แต่เพียงเท่านั้น ท่านยังมีญาณหยั่งรู้เมื่อเวลาแสดงธรรมด้วย ดังปรากฏในเรื่องที่พระเล็ก สุธัมมปัญโญ เล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกครบ 100 ปี หลวงปู่พระมหาอำพัน บุญหลง ว่า หลวงปู่มหาอำพัน ระบุว่า “ถ้าเป็นพระดีต้องยกให้เจ้าคุณนรฯ กับเจ้าคุณสาสน์ฯ (หมายถึง สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ)...”

ว่าแล้วพระมหาอำพันก็ไล่พระเล็กให้ไปฟังเทศน์ พระสาสนโสภณ (นิรันดร์ นิรันตโร) เพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ และวัดเทพศิรินทราวาสก็มีธรรมเนียมว่าจะมีเทศน์ทุกวันอาทิตย์

พระเล็กเขียนเล่าไว้ว่า วันนั้น พระสาสนโสภณ (นิรันดร์ นิรันตโร) เทศน์เรื่อง “ประตูแห่งความเจริญหกประการ” พระเล็กว่า ท่านเทศน์ไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งแล้วก็ไม่หยุด ด้วยเหตุความที่เป็นผู้มีความอดทนน้อยจึงนึกขึ้นมาในใจว่า “ไม่เทศน์เรื่องนิพพานสักที อีแบบนี้เราจะมาทนเมื่อยทำไมวะ”

แค่นึกขึ้นมาอย่างว่า เท่านั้นเอง พระสาสนโสภณ (นิรันดร์ นิรันตโร) หันขวับมาชี้หน้าพระเล็กแล้วเอ่ยขึ้นว่า “อย่าโง่สิ ทุกอย่างที่พูดมา ถ้าคิดเป็น มันก็ลงอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้นแหละ”

จากนั้นท่านก็บรรยายให้เห็นเป็นฉากๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างไร ไม่เที่ยงอย่างไร ทุกข์อย่างไร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเราอย่างไร แล้วท่านก็ตบท้ายด้วยกลอนว่า “สิ่งทุกสิ่งเที่ยงแท้แน่ในโลก แต่เป็นโอฆขังรักกักสังขาร ใครไม่หลงปลงเห็นว่าสำคัญ เปรียบยวดยานนาวาพาหนะ มีพาหนะแล้วจะไปไหนก็ตามใจคุณ อยากไปนิพพานก็ไปสิ เอวังมีด้วยประการล่ะฉะนี้”

 พระเล็กว่า พอท่านเอวัง ตัวเองก็กราบลา‌เปิดแน่บทันที

สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร) ไม่‌ใช่เพียงแต่ไม่มีอาลัยในทรัพย์ศฤงคารในทางโลก ตลอดเวลาที่ดำรงขันธ์อยู่ท่านอยู่‌สมถะเรียบง่าย แม้แต่สบงจีวรก็ไม่สะสม ไม่‌เคยไปต่างประเทศ ไม่ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ใน‌ห้องมีแต่ผ้า 3 ผืน มีตั่งไม้ตัวเดียวกับผ้าห่ม‌เป็นผ้าปูนอน ไม่มีแม้แต่หมอนรองศีรษะ‌เพราะใช้ผ้าห่มม้วนเป็นก้อนรองแทน ท่าน‌ออกบิณฑบาตทุกวันแม้แต่วันฝนตก เป็น‌สมเด็จที่เดินเท้าเปล่าจากวัดเทพศิรินทร์ไปวัดบวรนิเวศเป็นประจำเมื่อมิต้องไปตรวจ‌หนังสือธรรม

ท่านเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระญาณ‌สังวร สมเด็จพระสังฆราช ในการดูแลกิจการ‌คณะธรรมยุตและการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้ง‌สองรูปนี้สนิทสนมกัน ขนาดสมเด็จพระสังฆราชมีรับสั่งกับท่าน เมื่อได้รับการสถาปนา‌เป็นสมเด็จพระวันรัตว่า “ดีใจด้วยมาก อยาก‌ให้เป็นสมเด็จมานานแล้ว”

ศิษย์วัดเทพศิรินทร์ เชื่อกันว่า พระอรหันต์‌วัดเทพศิรินทร์ ไม่ได้มีแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) และเจ้าคุณนรฯ ‌แต่หมายรวมถึง สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ ‌นิรันตโร) พ่อแม่ครูอาจารย์อีกรูปหนึ่งของพวก‌เขาด้วย

ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ แต่เมื่อท่าน‌อาพาธหนัก ก่อนจะสิ้นนั้นท่านบอกความให้‌ศิษย์บันทึกไว้ว่า

“ไม่ตายคราวนี้ก็ตายคราวหน้า อย่าเศร้าโศกเสียทีที่ศึกษาปฏิบัติมา ร้องไห้เศร้าโศกก็ร้องไห้เศร้าโศกสังขารที่เกิดแก่‌เจ็บตายนั้นเอง ที่ไม่ร้องไห้เศร้าโศกนั้นก็มิใช่‌ว่าจะเป็นใจไม้ไส้ระกำอะไร ธรรมะของพระก็คือ

สัพเพ สังขารา อนิจจา

สัพเพ สังขารา ทุกขา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา

ย่อลงก็

สัพเพ สังขารา อนิจจา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา

แล้วปรินิพพาน ไม่ต้องมาเกิด มาแก่ มาตายอีกฯ”

หลังมรณภาพด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 20 ‌พ.ย. 2546 สิริรวมอายุ 88 ปี 9 เดือน 8 วัน ‌พรรษา 67 และมีงานพระราชทานเพลิงศพ‌ท่านแล้ว อัฐิธาตุของท่านได้แปรสภาพกลาย‌เป็นพระธาตุชัดเจน

ข้อความธรรมที่ท่านติดไว้ข้างที่นอน เพื่อ‌ประโยชน์ในการพิจารณาธรรมของท่าน‌มีความระบุไว้ว่า

“ข้อซึ่งว่ามรรคละกิเลสนั้น ประสงค์เอา‌กิเลสซึ่งควรบังเกิดในขันธ์ทั้ง 5 มีรูปเป็นต้น ‌ซึ่งเป็นภูมิแห่งวิปัสสนาที่ชื่อว่า ภูมิลัทธูป‌ปันนกิเลส กิเลสมีภูมิ คือ ขันธ์ 5 อันได้แล้ว‌บังเกิดขึ้น ดังรสแห่งปฐวีธาตุแลอาโปธาตุอัน‌ซาบอยู่ในรากไม้ ลำต้น กิ่ง ใบ ดอก ผล ทั้ง‌ปวงนั้น มรรคเมื่อเกิดในขันธสันดานแห่งท่าน‌ผู้ใดแล้ว ขันธสันดานแห่ง (ท่าน) ผู้นั้นได้ต้อง‌สัมผัสแห่งมรรคที่เกิดขึ้นนั้น ขันธสันดานแห่ง‌ท่านผู้นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นขันธสันดานอันตาย ‌ด้วยตายแห่งกิเลสแล้ว ไม่สืบพืชผล คือ กุศลากุศลต่อไป ดังต้นไม้มีดอกแลผลอันเป็น‌พิษ บุรุษหนึ่งตอกต่อยด้วยหนามกระเบนอัน‌ซาบด้วยยาพิษในทิศทั้ง 4 ต้นไม้นั้นเมื่อต้อง‌สัมผัสแห่งยาพิษแล้วก็ตายด้วยรสแห่ง‌ปฐวีธาตุ อาโปธาตุซึ่งซึมซาบนั้น แห้งหายไป‌ด้วยสัมผัสยาพิษนั้นแล้ว เป็นต้นไม้ไม่เผล็ด‌ดอกออกผลได้ ต่อไปฉะนั้น”

ท่านจะเป็นไม้ที่ไม่สืบผล เป็นต้นไม้ไม่‌เผล็ดดอกออกผลหรือไม่ มีแต่ท่านที่รู้