posttoday

อุโบสถกลางน้ำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯสุดอเมซซิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ ศิลปะและการเมืองของชาติ

04 พฤศจิกายน 2555

โดย...สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

อุโบสถกลางน้ำ ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วังน้อย อยุธยา ใครได้เห็นจะต้องทึ่งในความมหัศจรรย์ ตั้งแต่รูปแบบสถาปัตยกรรม ที่เป็นศิลปะชั้นหนึ่ง ทอประกายด้วยกระเบื้องเคลือบบนหลังคาที่อ่อนช้อย เฉิดฉันด้วยช่อฟ้า ใบระกา ตั้งอยู่ในที่โล่ง มีห้วงนทีชลอให้ลอยล่อง โดดเด่น ดังปราสาทลอยอยู่บนฟากฟ้า โดยมีพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัวทอดเป็นบันไดให้ขึ้นลงด้วยความเต็มใจทุกทิพาราตรีกาล

อุโบสถกลางน้ำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯสุดอเมซซิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ ศิลปะและการเมืองของชาติ

 

เมื่อเข้าไปกราบพระประธาน ก็ต้องอิ่มใจที่ได้บูชาพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามด้วยพุทธลักษณะ อุดมด้วยศิลปะและการตกแต่ง เปล่งปลั่งด้วยวรรณะสีทองผ่องใส เพราะทั้งองค์ปิดทองด้วยทองคำแท้ ส่วนเครื่องทรงนับแต่สร้อยสังวาล กรองพระศอ อินทรธนู กรรณเจียก มงกุฎ ล้วนแต่ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า เป็นพระพุทธ ปางปราบพระยาชมพูบดี ซึ่งในเมืองไทยมีน้อยองค์ ที่มีชื่อเสียงก็ที่วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา วัดนางนอง กทม. และวัดปทุมคงคา กทม.

กราบพระประธานเรียบร้อย ได้เวลาศึกษา ซึมซับงานศิลปะอันอลังการด้วยภาพเขียน ที่บันทึกประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บ้านเมือง พระประวัติช่วงสำคัญของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และประวัติพระเถระนามอุโฆษ แห่งเมืองไทยที่นับถือกันเป็นพี่เป็นน้องคือท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านปัญญานันทภิกขุ

อุโบสถกลางน้ำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ แห่งนี้ พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร) ว่าเกิดขึ้นจากการริเริ่มของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทะ ภิกขุ) แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ที่ได้มาตรวจงานก่อสร้างที่ท่านเป็นเจ้าภาพสร้างให้มหาวิทยาลัย ฯ เห็นบ่อน้ำที่ลึกประมาณ 11 เมตร บนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่มหาจุฬาฯขุดดินไปถมเพื่อสร้างอาคาร จึงบอกว่าจะสร้างโบสถ์กลางน้ำ ณ ตรงนี้ให้ใหญ่โต ให้สมกับมหาจุฬา เป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลก

หลวงพ่อปัญญา ตั้งปณิธานว่าจะไม่ตาย ถ้าสร้างโบสถ์กลางน้ำไม่เสร็จ (แต่มรณภาพ 10 ตค. 50)โดยท่านปรารภว่าคนสมัยโบราณไม่มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ให้คนรุ่นหลังอัศจรรย์ใจได้ ทำไมคนรุ่นนี้ที่มีความพร้อมทุกออย่างจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้คนรุ่นหลังอีก 200-300 ปี ทึ่งไม่ได้

ความยิ่งใหญ่อลังการจะเกิดได้เมื่อมีคนออกแบบ งานนี้ได้อาจารย์ ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ โดยเน้นความงาม คงทน ประโยชน์ใช้สอย มองเห็นด้านนอกคิดว่าเล็ก ชั้นเดียว แต่มีลีลา ทรวดทรงเล็กเพรียว ตั้งอยู่กลางน้ำ ความจริงเป็นอุโบสถ 2 ชั้น ใหญ่ขนาดรับผู้เข้าประชุมได้มากถึง 4,000 คน จึงนับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ มีความจุผู้เข้าประชุมมากที่สุดในโลก

พระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ป.ธ.9) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทาน พระอารามหลวง ผู้สานปณิธานหลวงพ่อปัญญานันนทะ เล่าถึงการสร้างสรรค์ภาพฝาผนังพระอุโบสถกลางน้ำ ที่ศิลปินนามว่า เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย จาก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี บรรจงวาด ว่าท่านให้ความคิดและหลักการว่าควรเป็นภาพอะไร ส่วนงานลายเส้น และรูปภาพต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นศิลปะนั้น เป็นงานฝีมือของศิลปิน ดำเนินการ

ภาพต่าง ๆ จึงออกมาดังที่เห็น สร้างความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย แต่บางภาพอาจออกไปทางอีโรติก ก็ถือว่าเป็นแก็กที่ศิลปินสอดใส่เข้าไว้

โดยรวมแล้วภาพวาดทั้งหมด เน้นด้านศิลปะวัฒนธรรม เล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลปัจจุบัน

อุโบสถกลางน้ำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯสุดอเมซซิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ ศิลปะและการเมืองของชาติ

 

ภาพบันทึกเหตุการณ์ ก็เลือกเหตุการณ์เด่น ๆ ที่เกิดในเมืองไทย ตั้งแต่การเกิดสึนามิ วิกฤตทางการเมือง ที่มีเสื้อเหลืองสื่อสารด้วยมือตบ และเสื้อแดง รวมทั้งภาพการใช้อาวุธหนัก เช่นปืนกล และสไนเปออร์ เป็นต้น ในด้านเทคโนโลยี ก็เสนอภาพอีทีถือกล้องดิจตอล

ด้านบันทึกประวัติ ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็เล่าถึงตอนท่านยังเยาว์ จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระเถระผู้ใหญ่มีชื่อเสียง จนถึงแก่มรณภาพ เช่นเดียวกับภาพท่านปัญญานันทะ ที่เล่าถึง ความเป็นนักปฏิรูปนักปฏิวัติวัฒนธรรมประเพณี ให้มีแก่นสาร ตัดเรื่องไร้สาระออกไป จนเป็นตัวอย่างการปาฐกถาธรรม ถึงประเพณีการทำบุญทั้งงานมงคลและอวมงคล ที่สังคมพอใจและนำไปปฏิบัติ

ส่วนงานศิลปะแห่งพุทธประวัติ สื่อไว้เต็มกำแพงด้านหน้าและหลังพระประธาน ด้านหน้าเป็นภาพพระโพธิสัตว์ผจญมาร แต่บรรดามาร และแม่พระธรณีบีบมวยผมนั้นมีใบหน้าเป็นชาวอินเดีย หญิงเช่นแม่พระธรณีนุ่งห่มสาหรี

ภาพหลังพระประธาน เป็นภาพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าประชุมพระอรหันต์ 1250 องค์ ในวันเพ็ญมาฆมาส ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกและครั้งเดียว ที่พระพุทธองค์ได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนาในวันนั้น พระอรหันต์ที่มาประชุมจึงมีใบหน้าเป็นแขกอินเดีย ครองจีวรพาดไหล่โดยไม่มีสังฆาฏิ เพราะช่วงแรกนั้นยังไม่มีบทบัญญัติให้พระสงฆ์ใช้ผ้าสังฆาฏินั่นเอง

ส่วนภาพแกะสลักนูนต่ำรอบ ๆ พระอุโบสถนั้นเป็นภาพเล่าเรื่องราววัฒนธรรมและประเพณีทั้ง 4 ภาคของไทย ซึ่งมีที่นี่แห่งเดียว

สรุปว่างานสร้างอุโบสถกลางน้ำมูลค่า 192 ล้านบาท เสร็จสมบูรณ์ 99% ยังขาดการยกช่อฟ้า และมอบให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเท่านั้น

นอกจากอุโบสถนี้แล้ว พระธรรมโกศาจารย์ บอกว่าทางมหาวิทยาลัย มีโครงการสร้างวัดบนเนื้อที่ 12 ไร่ ที่อยู่ติดกับพระอุโบสถควบคู่ไปด้วย

พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. กล่าวทิ้งท้ายโดยเชิญชวนท่านที่รักศิลปะ สนใจงานสร้างสรรค์ มาชมและไหว้พระประธานทรงเครื่องกาววาว ที่มากด้วยเมตตา พร้อมทั้งชมภาพเขียน และความอลังการตั้งแต่เวลา 07.00น.-18.00น. โดยมีมัคคุเทศก์น้อย นักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ให้ความสะดวก

ชมภาพแล้ว เมื่อออกจากพระอุโบสถ จะได้รับพระพรอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมสาทิสลักษณ์ ซึ่งไม่มีที่อื่น นอกจากที่อุโบสถกลางน้ำแห่งนี้เท่านั้น